เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2563 มีประชุมคณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการผลิต ครั้งที่ 3/2563 โดยมี นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานอนุกรรมการฯ มี 4 สมาคมด้านข้าวที่ได้เข้าร่วมประชุมด้วย ได้แก่ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย สมาคมผู้รวบรวมและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ และสมาคมโรงสีข้าวไทย มีความคืบหน้าตามลำดับ
นายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในช่วงนี้มีการประชุมคณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการผลิต บ่อยมาก ซึ่งเป็นการดีทั้งนี้เพื่อเป็นเตรียมการเข้าสู่ฤดูการผลิตปี 63/64 รอบที่1 (นาปี) อันใกล้นี้ ทั้งนี้ได้มีการวางแผนในการส่งเสริมการเพาะปลูกข้าวพื้นนุ่มในพื้นที่ลุ่มภาคกลาง ว่าควรจะมีการส่งเสริมบนจำนวนพื้นที่กี่ไร่เพื่อนำผลผลิตไปป้อนความต้องการของตลาดที่ขณะนี้มีความนิยมการบริโภคข้าวนุ่มมากขึ้นทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ
แต่ก็ต้องยอมรับว่าการใช้ข้าวหรือการบริโภคนั้นมีความหลากหลาย คือมีตั้งแต่ข้าวหอมมะลิ ข้าวหอมไทย (หอมปทุม) ข้าวเหนียว ข้าวพื้นแข็ง พื้นนุ่ม และกลุ่มข้าวลักษณะพิเศษอื่นๆ จึงจำเป็นที่จะต้องมีการวางแผนลดสัดส่วนพื้นที่เพาะปลูกในกลุ่มของข้าวพื้นแข่ง และเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกกลุ่มข้าวนุ่ม และให้เป็นทางเลือกของเกษตรกรในการใช้พันธุ์ข้าว กข79 ซึ่งให้ผลผลิตต่อไร่ดี ต้นเตี้ย มีความต้านทานโรค เป็นข้าวพื้นนุ่ม เมล็ดยาว (มีอัตลักษณ์ของข้าวไทย) อายุการเพาะปลูก 115-120 วัน แต่บางช่วงเวลาการปลูกจะมีอายุการเก็บเกี่ยวยาวถึง 130-135 วัน ซึ่งเกษตรกรจะต้องศึกษาข้อมูลของช่วงเวลาเพาะปลูกให้ดี ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมในการจัดหาเมล็ดพันธุ์ข้าว กข79 ให้มีความพร้อมในการส่งเสริม
“การให้ความคิดเห็นในเรื่องผลผลิตในเวลานี้อาจจะเร็วเกินไปเพราะในช่วงระหว่างการเพาะปลูกจะมีปัจจัยธรรมชาติเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ฤดูการเพาะปลูก 63/64 รอบที่1 (นาปี) มีพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 60 ล้านไร่ การที่จะได้ผลผลิตดีหรือไม่ จึงขึ้นอยู่กับดินฟ้าอากาศ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ แต่ถ้าดินฟ้าอากาศเป็นใจ ซึ่งจะมีผลต่อการเพาะปลูกทั้งรอบ 1 และรอบ 2 (นาปรัง) ซึ่งจะมีพื้นที่เพาะปลูกนาปรังนี้ประมาณ 12 ล้านไร่ ผลผลิตรวมก็จะอยู่ที่ประมาณ 30-31 ล้านตันข้าวเปลือก หรือ 19.5-20 ล้านตันข้าวสาร”
นายเกรียงศักดิ์ กล่าวว่า ตอนนี้ทุกคนเฝ้ารอการประกาศของกรมอุตุฯ ประกาศสิ้นสุดฤดูแล้ง และเข้าสู่ฤดูฝน เพื่อจะได้เตรียมการลงมือทำนาต่อไป และที่สำคัญต่างก็ติดตามสถานการณ์ปริมาณน้ำฝนของปีนี้ว่าจะเป็นอย่างไร จะมีฝนทิ้งช่วงในช่วงใดบ้าง (เพราะพื้นที่นาปีส่วนใหญ่เป็นนาน้ำฝน) และน้ำจะเข้าเขื่อนมากน้อยเพียงใดเพราะจะมีผลต่อการทำนารอบที่ 2 (นาปรัง) หรือน้ำจะมากถึงขั้นทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมในฤดูนาปี (รอบ 1)ในบางพื้นที่หรือไม่ ซึ่งก็จำเป็นที่จะต้องเตรียมการรองรับสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้