โครงการ ไทยเข้มแข็ง ถูกหยิบยกมาพูดถึงอีกครั้งในวันประชุมสภาผู้แทนราษฎรณ์ที่ผ่านมา เหตุเพราะเป็นการกู้เงินกรณีเร่งด่วนฉุกเฉินและจำเป็นภายใต้พระราชกำหนด(พ.ร.ก.)เหมือนกับที่รัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้นำเรื่องการออกพ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 วงเงินไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท มาขอความเห็นชอบจากสภา
เพราะการออกพ.ร.ก.กู้เงิน ถือเป็นช่องทางพิเศษ ของรัฐบาลในการกู้เงินตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)วินัยการเงินการคลังของรัฐ ซึ่งมีกรอบเพดานการกู้เงินที่สูงกว่าการกู้ตามพ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ อีกทั้งการตราเป็นพ.ร.ก.มีข้อจำกัดในการตรวจสอบการใช้เงินกู้ เนื่องจากรัฐบาลจะเป็นผู้กำหนดวงเงินและวัตถุประสงค์ในการใช้เงินที่กู้ตามความจำเป็นและเหมาะสมของสถานการณ์
ขณะที่โครงการไทยเข้มแข็ง 2555 ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีเวลาดำเนินงาน 3 ปี(2553-2555) วงเงิน 1.56 ล้านล้านบาท แต่ถูกปรับลดเหลือ 1.43 ล้านล้านบาท เพราะช่วงนั้นประเทศไทยได้รับผลกระทบรุนแรงจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้ภาคการผลิต การส่งออกและการใช้จ่ายภาคเอกชนหดตัว เกิดปัญหาการว่างงานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังนั้น“แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง2555”จึงถูกกำหนดขึ้นเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและเพิ่มการจ้างงานอย่างต่อเนื่อง ผ่านการลงทุนของรัฐควบคู่กับการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว ภายใต้ออกพ.ร.ก.การให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ 400,000 ล้านบาท
ระยะแรกเป็นการจัดสรรเงินลงทุนให้กับ 4 กระทรวงหลักคือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อพัฒนาระบบชลประทาน กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อพัฒนาคุณภาพครูให้ตรงกับความต้องการของโรงเรียน พัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและห้องสมุดโรงเรียน กระทรวงคมนาคม เพื่อใช้ในโครงการถนนไร้ฝุ่น ปรับเป็นถนนลาดยางทั่วประเทศ และกระทรวงสาธารณสุข เพื่อพัฒนาโรงพยาบาลระดับจังหวัด จัดซื้อเครื่องมือทางการแพทย์ และปรับปรุงโรงพยาบาลระดับตำบล
การจัดสรรเงินดังกล่าวไม่เพียงถูกมองว่า เป็นเบี้ยหัวแตก เพื่อหวังผลทางการเมืองจากผู้รับเหมาในพื้นแล้ว ยังเจอการทุจริตในกระทรวงศึกษาธิการและสาธารณสุขจากการจัดซื้ออุกรณ์ที่ไม่จำเป็นและแพงเกินเหตุ จนต้องรื้อโครงการใหม่
อย่างไรก็ตาม ผลของโครงการการทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวขึ้นจากที่ ติดลบ 0.7% ในปี 2552 มาเป็นขยายตัว 7.5% ในปี 2553 แต่ต้องลดเหลือเพียง 0.8% ในปี 2554 จากน้ำท่วมใหญ่
ดังนั้นภายใต้พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทปัจจุบันหลังจากได้จัดสรรเงิน 4.29 แสนล้านบาทในการเยียวยาประชาชนทั่วไป เกษตรกรและกลุ่มเปราะบางไปแล้ว ยังมีเงินกู้อีก 400,000 ล้านบาท ที่จะใช้ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ จึงเป็นที่จับตาว่า จะเป็นโครงการเบี้ยหัวแตก เพื่อหวังผลทางการเมือง หรือเกิดการทึ้งงบเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในอดีตหรือไม่
แม้รัฐบาลจะยืนยันว่า มีกระบวนการกลั่นกรองโครงการหลายขั้นตอน เพื่อให้โครงการที่ออกมาตอบโจทย์ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรืออย่างน้อยก็ช่วยประคองไม่ให้เศรษฐกิจหดตัวลงลึกมากกว่า 5.3-5.5% ตามที่หน่วยงานรัฐบาลอย่างธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)และสภาพัฒน์ประเมินไว้
หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,581 วันที่ 7-10 มิถุนายน พ.ศ. 2563