ท่ามกลางสถานการณ์การค้าโลกที่ยังผันผวนจากผลกระทบสงครามการค้า จากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ค่าเงินและอื่น ๆ การมีความตกลงการค้าเสรี(FTA) เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่จะช่วยสร้างแต้มต่อสินค้าไทยในตลาดเป้าหมาย และช่วยเพิ่มมูลค่าการส่งออกได้ หนึ่งในนั้นคือเอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรป(อียู)ที่ไทยมีแผนเตรียมเจรจาหลังชะงักมาหลายปี
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ ว่า จากผลการศึกษาการฟื้นการเจรจา FTA ไทย-อียู พบว่า นอกจากประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากการเปิดตลาดสินค้าแล้ว การเปิดตลาดการค้าบริการ และการลงทุนจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเข้าไปทำธุรกิจในตลาดอียูได้มากขึ้น เฉพาะอย่างยิ่งในสาขาธุรกิจที่ไทยมีศักยภาพ ได้แก่ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว อาหาร และการส่งเสริมสุขภาพ ซึ่งจะช่วยสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้กับไทย
นอกจากนี้หากข้อตกลงมีผลบังคับใช้ จะทำให้มีการแข่งขันในตลาดภาคบริการในไทยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในสาขาบริการทางธุรกิจต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นบริการทางการเงิน โทรคมนาคม ประกันภัย และการขนส่งสินค้า คาดการณ์ว่าจะช่วยลดต้นทุนให้กับภาคธุรกิจ และผู้บริโภคได้ประโยชน์จากบริการที่ถูกลงและทำให้เศรษฐกิจไทย(GDP)ขยายตัว 2.3% เป็นประมาณ 5.7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ(กว่า 18.2 ล้านล้านบาท คำนวณที่ 32 บาทต่อดอลลาร์) จากปี 2562 จีดีพีไทยอยู่ที่ 5.44 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะเดียวกันการส่งออกของไทยไปอียูจะเพิ่มขึ้น โดยสาขาการผลิตที่ไทยจะได้ประโยชน์จากการส่งออก เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องแต่งกาย อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์อาหาร อื่น ๆ เคมีภัณฑ์ ยางพารา และพลาสติก เป็นต้น
ทั้งนี้จากการเปิดเวทีรับฟังความเห็น มีภาคส่วนที่สนับสนุน และเห็นประโยชน์ โดยส่วนหนึ่งเห็นว่าการเปิดตลาดให้คู่ FTA ของไทย เช่น อียูเข้ามาร่วมแข่งขันในโครงการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐที่มีวงเงินสูง จะช่วยให้รัฐใช้งบประมาณได้อย่างคุ้มค่า และมีประสิทธิภาพมากขึ้น และยังช่วยเพิ่มโอกาสการขายสินค้าและบริการของไทยไปยังตลาดจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐในอียูซึ่งมีมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปีอีกด้วย
“กรมยังต้องรอผลการศึกษาจากสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา ซึ่งศึกษาเรื่องประโยชน์ และผลกระทบจากการทำเอฟทีเอไทย-อียู คาดว่าน่าจะได้ข้อสรุปภายในเดือนนี้ ซึ่งไทยจึงจำเป็นต้องเร่งเครื่องการฟื้นการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียูที่หยุดชะงักมาตั้งแต่ปี 2557 และเพื่อสร้างแต้มต่อและโอกาสทางการค้า รวมทั้งการดึงดูดการลงทุนเพิ่มการจ้างงานและรายได้ของประเทศ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยเพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาด ซึ่งช่วง 5 ปีที่ผ่านมาการส่งออกของไทยไปอียูขยายตัวเพียง 4.35% ขณะที่สิงคโปร์และเวียดนามที่มีข้อตกลงกับเอฟทีเอกับอียูแล้ว มีการส่งออกไปอียูขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง” นางอรมนกล่าว
หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,581 วันที่ 7-10 มิถุนายน พ.ศ. 2563