4 สมาคมเด้งแรงขานรับแผนยุทธศาสตร์ข้าว 5 ปี

23 มิ.ย. 2563 | 10:45 น.

ผนึก 4 สมาคม “เมล็ดพันธุ์-ชาวนา-โรงสี-ส่งออก” เด้งรับแผนยุทธศาสตร์ข้าว “เจริญ” เผยเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี ปลุกไทยตื่นเร่งพัฒนา “ชาวนา” ทำนาไม่สะเปะสะปะ “โรงสี” ชี้มาถูกทางแล้ว สมาคมเมล็ดพันธุ์ฯเอี่ยววงผลิต

เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2563 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุมคณะอนุกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ข้าวไทย ครั้งที่ 1/2563  ร่วมกับตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนและเกษตรกร ว่า  ยุทธศาสตร์ข้าวไทยกำหนดดำเนินการ 5 ปี (ปี 2563 – 2567) ซึ่งในที่ประชุมได้มีความเห็นใช้ยุทธศาสตร์ “ตลาดนำการผลิต” โดยมีเป้าหมายสำคัญก็คือจะทำให้ประเทศไทยเป็นผู้นำทางด้านการผลิตการส่งออกข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวคุณภาพของโลก

 

++ฝันอาชีพมั่นคง ทำนาไม่สะเปะสะปะ

นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” การทำแผนยุทธศาสตร์ข้าว 5 ปี ชาวนาจะได้ประโยชน์ ในเรื่องเมล็ดพันธุ์ ราคา  จะได้ทราบทิศทางในการทำนาต่อไปจะไม่สะเปะสะปะ ทำให้ทราบว่าตลาดต่างประเทศต้องการข้าวชนิดไหน ซึ่งทางสมาคมก็ได้มีการรณรงค์ให้ทำข้าวพื้นนุ่ม การผลิตเมล็ดพันธุ์ให้ผลิตเพียงพอกับความต้องการของเกษตรกรในประเทศ รวมทั้งการดูแลเกษตรกร ด้วย อยู่ในแผนยุทธศาสตร์นี้ทั้งหมดเลย

4 สมาคมเด้งแรงขานรับแผนยุทธศาสตร์ข้าว 5 ปี

“ตอนนี้ทำให้ชาวนาเห็นว่าจะปลูกข้าวแบบไหนที่ได้ราคาดี ต่างจากอดีตมีพันธุ์ไหนก็ปลูก ผลผลิตดีหรือไม่ดี ราคาดีหรือไม่ดี ก็ปลูก ต่อไปนี้ต้องล้มเลิกระบบเก่าแล้ว ต้องมาปรับกันใหม่ ในแนวคิดดังกล่าวตรงกับผม กล่าวคือ “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” แล้วตลาดต้องกำหนดราคาให้ชัดเจนเพื่อชาวนา ไม่ใช่ถึงเวลาพอเก็บเกี่ยวถึงจะมานั่งกำหนดราคากัน ซึ่ง "ไม่ใช่" จะต้องมาคิดล่วงหน้าในข้าวแต่ละชนิด เพื่อชาวนาจะได้กลับมาคิดคำนวณเองข้าวชนิดไหนที่ปลูกจะคุ้มทุนที่สุด ถือว่าเป็นแผนยุทธ์ศาสตร์ที่ดีมาก จะรวมไปการดูแลเรื่องน้ำ ปัจจัยการผลิต ยา น้ำมัน วิธีการลดต้นทุน ช่วยเหลืออย่างไร รัฐจะต้องเข้ามาช่วยและแนะนำให้ด้วย เป็นเรื่องดี ผมก็ชมเชย แต่ถ้าไม่ดีอย่างข้อตกลงการค้า CPTPP ผมก็ขวางเต็มที่

 

++ล้างระบบ แก้พันธุ์ข้าวขาดแคลน

4 สมาคมเด้งแรงขานรับแผนยุทธศาสตร์ข้าว 5 ปี

นายเกษม ผลจันทร์ นายกสมาคมผู้รวบรวมและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาสมาคมได้เเรียกร้องให้หน่วยงานของรัฐกระจายอำนาจให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ช่วยการพัฒนาพันธุ์ ขยายพันธุ์ กระจายพันธุ์จะเร็ว ไม่ต้องรอหลายปี เกษตรกรจะได้รับข้าวพันธุ์ดีๆ ไปใช้ปลูกทำนา ที่ผ่านมา กรมการข้าวกับสมาคม เหมือนไปคนละทาง ใช้หลายเวทีที่จะชี้แจงเข้าใจว่า  “สามารถใช้เราได้” แตะมือได้ พร้อมที่จะช่วยเหลือ เพราะระบบข้าวยุทธศาสตร์ข้าว 5 ปี หากไม่มีต้นน้ำ ไม่มีการกระจายเมล็ดพันธุ์ จะทำได้หรือไม่

“วันนี้เอกชนพร้อมมีทุนโดยไม่ต้องใช้เงินรัฐบาลสักบาทเดียว ขั้นตอนของเอกชนสามารถทำได้เลย ไม่ต้องรอนโยบาย ไม่ต้องรอคำสั่ง เพียงแต่มอบนโยบายให้เอกชนว่าสมาคมสัดส่วนเท่านี้ ก็สามารถผลิตได้ ซึ่งตัวเลขบอกอยู่แล้วว่าเมล็ดพันธุ์ที่ต้องใช้แต่ละปีประมาณ 1.2-1.4 ล้านตัน แต่ภาครัฐทำได้ไม่ถึง 1 แสนตัน แต่ภาคเอกชนศักยภาพการผลิตอยู่ที่ 5 แสนตัน แต่ทำไมไม่มองจุดตรงนี้ เราไม่ต้องการเป็นคู่ขัดแย้งกับใคร”

4 สมาคมเด้งแรงขานรับแผนยุทธศาสตร์ข้าว 5 ปี

นายเกษม กล่าวว่า อย่าง "ศูนย์ข้าวชุมชน" รัฐบาลส่งเสริมไป แต่ศักยภาพรวบรวมไม่ได้ต้องอาศัยสมาคมเชื่อมต่ออีกที  ซึ่งถ้าร้อยเป็นห่วงโซ่เดียวกัน เพราะสุดท้ายหากศูนย์ข้าวชุมชน ส่งเสริมให้ชาวนาปลูกจำนวนมาก ก็เตะมือเอกชนเข้าไปซื้ออยู่แล้ว ไม่ใช่พอทำเสร็จแล้ว จะต้องไปเข้าที่กรมอีก แล้วอย่างนี้พันธุ์เมล็ดข้าวก็ไม่เพียงพอ และเป็นปัญหาขาดแคลนมาโดยตลอด

4 สมาคมเด้งแรงขานรับแผนยุทธศาสตร์ข้าว 5 ปี

“ปัญหาในภาครัฐวันนี้มีผู้ใหญ่มองเห็นแล้วว่างงบประมาณไม่มี บุคลากรไม่มี เพราะฉะนั้นหากคุณมีความรู้ในด้านไหน ส่งเสริม วิจัย และพัฒนา ก็ร่วมมือกับภาคเอกชนในการทำงานร่วมกันแค่นี้เอง แต่ที่ผ่านมาไม่เป็นอย่างนี้ ล่าสุดได้ข่าวจากนายกสมาคมโรงสีข้าวว่า  ที่ประชุม นบข.ออกมาแล้วว่าจะให้สัดส่วนเอกชนช่วยเท่าไร เพราะภาครัฐไปต่อไม่ได้ ทำไม่ไหว ดังนั้นกรมการข้าวก็ต้องทำให้เอกชนมีความเข้มแข็ง มีมาตรฐานเดียวกัน “เราต้องการแค่นี้”

นายเกษม กล่าวอีกว่า แม้กระทั่งรองนายกฯ จุรินทร์ ท่านก็พูดดีนะ ในที่ประชุมว่า ไม่ต้องกอดให้กระจายอำนาจให้เอกชนที่มีศักยภาพได้ทำ หากระบบเดินไปแบบนี้ต่อไปชาวนาจะได้มีเมล็ดพันธุ์ที่ดีมีคุณภาพ ได้ราคา เพราะยุทธศาสตร์นี้ “มุ่งเน้น ผลิตข้าวคุณภาพ มาตรฐานดีที่สุดของโลก” ไม่ใช่เน้นการส่งออกอันดับ1 แล้วเกษตรกรไม่ได้กำไร

 

++นำผลการหารือใน "นบข." มาขยายผล

4 สมาคมเด้งแรงขานรับแผนยุทธศาสตร์ข้าว 5 ปี

สอดคล้องกับนายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า การประชุมแผนยุทธศาสตร์ข้าว 5 ปี เป็นสิ่งต่อเนื่องจาก ที่ประชุม นบข. ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  ได้นำผลการหารือมาขยายผลต่อเนื่อง ทิ้งน้ำหนักไปที่เมล็ดพันธุ์ข้าว ติดขัดอะไร เชื่อมโยงไปผลิตเมล็ดพันธุ์ได้เท่าไร กรมการข้าวแต่ละปีผลิตได้เท่าไร ขณะที่ความต้องการในแต่ละปีใช้เท่าไร สุดท้ายก็ต้องดึงภาคเอกชนเข้ามาช่วย โดยดึงสมาคมผู้รวบรวมและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์มาเป็นตัวหลัก และยังโยงไปที่การวิจัยพันธุ์ข้าวต่างคนต่างวิจัย

บางรายก็ไปขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตรไม่เข้าขึ้นทะเบียนกับกรมการข้าว ทำให้พันธุ์ที่ขยายออกไปไม่มีการดูแล จึงมีปัญหาที่พันธุ์ใหม่ๆ เกิดขึ้น ที่ผู้ประกอบการไม่ทราบ จนกว่าชาวนาจะบอกที่มาที่ไปว่าเป็นพันธุ์อะไร ก็ย้อนกลับมาถึงผู้ประกอบการก็คือ สุดท้ายหากไม่มีการดูแลก็กลายพันธุ์ ดังนั้นถึงเวลาที่จะต้องมาคุยกัน ว่ามีติดขัดระเบียบราชการอะไรบ้าง ที่เป็นปัญหา ยกตัวอย่าง "ข้าวไรซ์เบอร์รี่" ตอนนี้ก็มีปัญหาพอรับรองเสร็จก็จบ อย่างน้อยต้องคอยคัดสายพันธุ์ตลอด แล้วนำมาให้ชาวนาเปลี่ยนปลูกใหม่อย่างน้อยทุก 2 ปีเพื่อให้ผลผลิตและคุณภาพไม่ตก แต่ถ้าอยู่ในมือกรมการข้าว กรมการข้าวจะดูแลแล้วคอยคัดสายพันธุ์ ทำให้มีคุณภาพ แล้วนักวิจัย ก็จะมีพันธุ์อออกมาเรื่อยๆ แต่ก็จะไม่รักษาคุณภาพของพันธุ์เก่า

นายเกรียงศักดิ์ กล่าวว่า วันนี้เราสูญเสียตลาดต่างประเทศ จากที่เคยส่งออกข้าว 9.5 ล้านตัน ปีที่แล้วส่งออกได้แค่กว่า 7 ล้านตัน และคาดการณ์ปีนี้จะส่งออกหลุด 7 ล้านตัน  เป็นตัวบ่งบอกว่าระบบการค้าข้าวของโลก มีตัวแทน เพราะในระบบการค้าโลกมีข้าว 42 ล้านตันข้าวสาร ซัพลายของไทยหดตัวลงจากภัยแล้ง แต่ไม่ทำให้ตลาดโลกตื่นตระหนก หมายความว่ามีประเทศอื่นส่งข้าวเข้าไปแทนที่ไทย จึงทำให้ไทยสูญเสียการตลาด

4 สมาคมเด้งแรงขานรับแผนยุทธศาสตร์ข้าว 5 ปี

“ปัญหาของไทยก็คือเรื่องเมล็ดพันธุ์ข้าว ที่สมาคมผู้ส่งออกฯ พูดก็คือพฤติกรรมบริโภคข้าวที่สูญเสียตลาดข้าวพื้นแข็งให้กับข้าวพื้นนุ่ม แม้กระทั่งนายกรัฐมนตรีได้ให้ความสนใจในเรื่องการวิจัย พัฒนาพันธุ์ข้าว และเมล็ดพันธุ์ ดังนั้นการประชุมเมื่อวานจะเป็นรูปแบบ “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” สุดท้ายก็ไปสู่ตลาดนำการผลิต ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ ซึ่งจะมีการประชุมในครั้งที่ 2 และครั้งที่ 3 ต่อไป ซึ่งวันนี้การกำหนดแผนยุทธศาสตร์ไม่ช้าเกินไป และทำให้กรมการข้าวทราบทิศทางการตลาดมากขึ้น  ในอดีตต่างคนทำต่างคนคิด แต่วันนี้ได้มีการกำหนดแผนออกมาแล้ว แล้วจะเดินต่อไปได้อย่างไรให้เป็นรูปธรรม นี่เป็นภารกิจที่ท้าทาย ที่จะมีการควบคุมและตรวจสอบ เพื่อให้แผนเดินไปตามเป้าหมาย นี่คือสิ่งสำคัญ

++ครั้งแรกในรอบ 30 ปี ดึง "เกษตร-พาณิชย์" แก้ข้าว

4 สมาคมเด้งแรงขานรับแผนยุทธศาสตร์ข้าว 5 ปี

ขณะที่นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า เป็นครั้งแรกในรอบ 30  ปีที่มีการทำแผนยุทธศาสตร์ข้าว ที่มาสามารถดึงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมประชุมกับกระทรวงพาณิชย์ มาไว้เวทีเดียวกันได้ เป็นมิติใหม่ แต่สิ่งที่เป็นปัญหาไม่ว่าจะเป็นค่าขนส่งโลจิสติกซ์ และกฎหมายใหม่ของกระทรวงคมนาคมที่ทำให้ผู้ส่งออกมีต้นทุนเพิ่มขึ้น รวมทั้งอัตราแลกเปลี่ยน ที่อยากจะสะท้อนให้รัฐบาลช่วยดูแล เพราะหากรัฐบาลลงมาดูแลได้อย่างน้อยจะสะท้อนกลับมาที่ราคาข้าวในประเทศขยับสูงขึ้น รายได้จะคืนกลับไปที่ชาวนา

“วันนี้ไทยส่งออกข้าวครึ่งหนึ่งที่ผลิตได้ ย่อมจะต้องมีการแข่งขันตลอดเวลาประเทศที่ปรับตัวได้เร็วก็สามารถแข่งขันได้เร็ว ประเทศที่ปรับตัวได้ช้าก็แข่งขันได้ช้า อย่าง “เวียดนาม” เป็นประเทศที่ล้าหลัง แต่ตอนนี้ได้แซงไทยไปแล้วเราจะตาม ก็ต้องตามให้เร็ว ตามที่วางแผนไว้ลักษณะนี้แบบนี้อนาคตยังพอมีหวังว่าจะแข่งขันได้ แต่ถ้าไม่ทำอะไรเลยความสามารถในการแข่งขันก็ต่ำไปเรื่อยที่ผ่านมาพูดไปก็ไม่มีใครสนใจ เพราะทุกคนคิดว่ายังส่งออกได้ แต่วันนี้ไทยส่งออกตกอันดับ3 โดนเวียดนามแซงไปแล้ว”

4 สมาคมเด้งแรงขานรับแผนยุทธศาสตร์ข้าว 5 ปี

นายเจริญ กล่าวทิ้งในตอนท้ายว่า เมื่อร่างแผนยุทธศาสตร์มาแล้ว ไม่ใช่พอเปลี่ยนรัฐบาลก็มารื้อใหม่ จะต้องเป็นการบ้านว่าจะทำอย่างไรอะไรที่เริ่มต้นแล้วให้สามารถดำเนินไปได้ในระยะยาว ถึงจะแก้ปัญหาได้ เพราะปัญหาข้าวไม่ใช่แก้ปัญหาได้ภายใน 1-2 ปี ดังนั้นนโยบายนี้จะต้องนานพอที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่พอเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ก็แก้กันไปตามนโยบายของแต่ละพรรคที่เข้ามาดูแล

"ผมว่าก็ไม่ถูกต้อง อยากกรณีนี้ที่รวมทุกภาคส่วนไว้มาศึกษากันแล้วว่าควรจะเดินไปทิศทางไหน แล้วเป็นทิศทางที่ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหนมาก็น่าที่จะเดินตามแผนยุทธศาสตร์นี้ไปต่อเนื่อง หรือแก้ได้นิดๆหน่อยๆ  ถึงจะประสบความสำเร็จได้ ไม่ใช่ไปรื้อทำใหม่ ก็ ไม่ต่อเนื่อง อย่างที่นายกรัฐมนตรี บอก “New Normal”  ต้องฟังเอกชนให้มากขึ้น ท่านถึงได้ลงพื้นที่ไปรับฟังปัญหาด้วยตัวเอง แต่ละอุตสาหกรรม เช่นเดียวกับในภาคการส่งออก ซึ่งเราขายข้าวทุกวัน มีปัญหาจะต้องตั้งเป็นนโยบายเพื่อที่จะช่วยการส่งออกให้มีความคล่องตัวขึ้น ลดต้นทุน"