บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด หรือ UTA นำโดย 3 บิ๊กธุรกิจบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บริษัท บีทีเอส กรุ๊ปโฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ประกาศความพร้อมพัฒนา “โครงการสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก”
นายปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ที่ปรึกษาประธานคณะผู้บริหารบมจ.การบินกรุงเทพ(BA) กล่าวว่า บางกอกแอร์เวย์สทำสนามบินเอกชนรายแรกของไทย มีประสบการณ์ด้านการบินมากว่า 50 ปี ซึ่งโครงการนี้ไม่น่ายากเพราะเป็นการร่วมกับภาครัฐ
ทั้งในอีก 30 ปีข้างหน้า หลัง สนามบินอู่ตะเภาเปิดไปแล้ว คนจะมาบอกว่ารัฐได้รายได้ 305,555 ล้านบาทอาจจะน้อยเกินไปก็ได้
เนื่องจากอู่ตะเภาอยู่ในพื้นที่เหมาะจะพัฒนาเป็นสนามบินกรุงเทพแห่งที่3เชื่อมทางอากาศ ทางน้ำ ทางบกโดยเฉพาะจากอีสานมาภาคตะวันออก ต่อไปจะมีระบบราง ถ้าสำเร็จแล้วจะเป็นศูนย์กลางแหล่งงานภาคพื้นดินทั้งหมดทั้งอีสาน เหนือ ตะวันออก และใต้ การขนส่งสินค้าและคนเดินทางมาจากต่างประเทศจะมาที่นี่มากกว่าสุวรรณภูมิ
แม้ขณะนี้จะมีการเรื่องโควิด-19 แต่กว่าจะก่อสร้างและเปิดสนามบินในปี67 เชื่อว่า จะไม่กระทบต่อโครงการ ซึ่งมีเวลาในการวางแผนงานที่เหมาะสม ส่วนการบริารด้านเที่ยวบินต่างๆ บางกอกแอร์เวย์ มีพันธมิตรประมาณ 100 สาย เชื่อว่า หากชวนก็พร้อมจะมาใช้อู่ตะเภา
นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการบมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิงส์(BTS) กล่าวว่าการที่ตัดสินใจเข้าไปลงทุนเพราะเป็นโครงการที่ดี มีหลายบริษัทก็ชวนเราลงทุน จนมาเจอหมอเสริฐ ยืนคุยกันอย่างซีเรียส ท่านอธิบายหลายอย่าง ว่าอะไรคือความจำเป็นของสนามบิน ผมตัดสินใจเดินหน้าเลย
อีกทั้งบางกอกแอร์เวย์ส เป็นบริษัทเดียวที่ทำธุรกิจนี้เป็นรูปเป็นร่างจริงจัง และมีซิโน-ไทย ที่เป็นพาร์เนอร์กับบีทีเอสเกือบจะทุกโครงการในการลงทุนอยู่แล้วก็ดึงเข้ามาร่วมลงทุนสนามบินอู่ตะเภาด้วยกัน
" เราตัดสินใจไม่ผิด และก็ชนะการประมูล การพิจารณาวิเคราะห์อย่าละเอียดรอบคอบ ราคาที่เราประมูล 3 แสนล้านบาท มีคนถามทำไมให้มากมายขนาดนั้นจ่ายมากกว่าคนอื่นตั้งหลายเท่า ผมไม่สนใจบางคนที่ไม่เข้าใจโครงการ ไม่เข้าใจวิธีคิด ราคานี้ถูกต้องแน่นอน
หากคิดส่วนลดรายได้ในอนาคต แต่ละปีกลับมาเป็นมูลค่าปัจจุบัน (Discount rate) ที่ 7% จะได้ผลตอบแทนแค่ 1แสนล้านบาท
แต่ทีโออาร์กำหนดให้ที่ 3.25% ตัวเลขจึงเพิ่มขึ้น ซึ่งรัฐกำหนดการลงทุนก่อสร้างเป็นขั้นบันได เริ่มต้นที่ 40,000 หมื่นล้านบาทและขยายการลงทุนไปตามความต้องการ จนถึง ปีที่50 จะทำให้รัฐได้ผลประโยชน์ ถึง 1.326 ล้านล้านบาท"
จากความพร้อมทุกด้านของ 3พันธมิตรทั้งความพร้อมด้านบุคลากร การเงิน ทุกอย่างจะทำให้โครงการสำเร็จ และใช้เวลาเจรจาสัญญารวดเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศเพียง 47 วันเท่านั้น เมื่อเทียบกับขนาดของโครงการ
ทั้งนี้ บีทีเอสได้เตรียมแผนพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์และแผนในการสร้างระบบเชื่อมต่อการเดินทางภายในสนามบินโดยใช้ระบบ APM ให้เชื่อมต่อออกไปยังระบบขนส่งสาธารณะทุกระบบ จะรวมไปถึงโครงการรถไฟความเร็งสูงเชื่อม 3 สนามบินด้วย
โครงการนีไม่ได้มีเพียงสนามบิน แต่ยังมีธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการบิน โดยเฉพาะเมืองการบิน และ Free Trade Zone ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ มีความท้าทายและสามารถสร้างมูลค่าให้กับโครงการจึงทำให้มั่นใจได้ว่าผลตอบแทนที่เสนอให้รัฐเป็นตัวเลขที่มีพื้นฐานจากข้อเท็จจริง
ทั้งนี้องค์ประกอบที่ดำเนินกิจกรรมเชิงพาณิชย์และส่งเสริมการเป็นฮับการบินของโครงการฯ คือ คอมเมอร์เชียลเกตเวย์ ขนาดพื้นที่กว่า 400,000 ตร.ม.จัดเป็นพื้นที่ร้านค้าปลอดภาษี ร้านค้าและภัตตาคาร โรงแรม แอร์พอร์ตซิตี้ซึ่งมีขนาดพื้นที่กว่า 1 ล้านตร.ม. ประกอบด้วย ศูนย์การค้า ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้า อาคารพักอาศัยและอาคารสำนักงาน เป็นต้น
การลงทุนกิจกรรมเชิงพาณิชย์ เชื่อว่าUTA สามารถลงทุนเองได้ ซึ่งหลังจากนี้ทางกลุ่มจะเจรจาพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศเพื่อชวนให้เข้าร่วมพัฒนาในหลายโครงการ ได้แก่ คาร์โก้ ,Free Trade Zone , DutyFree โรงแรม โรงเรียน ศูนย์แสดงสินค้า เป็นต้น
นายกวิน กาญจนพาสน์ กรรมการบริหาร และกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ของ BTS กล่าวว่า เราสามารถดึงพันธมิตร ของเรา อย่าง บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ (ANAN) บมจ.แสนสิริ (SIRI) และ บมจ.ยู ซิตี้ (U) เข้ามาช่วยพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ในสนามบินได้
สำหรับการการลงทุนแบ่งเป็น 4 เฟส ใช้เงินลงทุน 186,566 ล้านบาท แยกเป็นค่าซ่อมบำรุง 61,849 ล้านบาท ที่เหลือเป็นค่าก่อสร้าง 124,717 ล้านบาท จะใช้ระยะเวลาคืนทุน 15-16 ปี
โดยระยะที่1 ลงทุน 31,219 ล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้าง 3ปี เปิดปี 2567 มีอาคารผู้โดยสารขนาดพื้นที่กว่า 157,000 ตร.ม. พื้นที่กิจกรรมเชิงพาณิชย์ อาคารจอดรถ ศูนย์ขนส่งภาคพื้นดิน และหลุมจอดอากาศยาน 60 หลุมจอด คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปี พ.ศ. 2567 สามารถรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 15.9 ล้านคน/ปี
ระยะที่ 2 ลงทุน 23,852 ล้านบาท มี อาคารผู้โดยสารมีพื้นที่เพิ่มขึ้นกว่า 107,000 ตร.ม.พร้อมทั้งติดตั้งระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ(APM) และระบบทางเดินเลื่อน รวมทั้งเพิ่มหลุมจอดอากาศยานอีก 16 หลุมจอด คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปีพ.ศ.2573 โดยประมาณการว่า จะสามารถรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด30 ล้านคน/ปี
ระยะที่ 3 ลงทุน 31,377 ล้านบาท เป็นการต่อขยายอาคารผู้โดยสารเพิ่มเติมจากระยะที่ 2 กว่า 107,000 ตค.ม.เพิ่มจำนวนรถขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) อีก 1 ขบวน รวมทั้งเพิ่มหลุมจอดอากาศยานอีก 34 หลุมจอด คาดว่าจะ แล้วเสร็จประมาณปีพ.ศ. 2585 ประมาณการรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 45 ล้านคน/ปี
ระยะที่ 4 หรือระยะสุดท้าย ลงทุน 38,198 ล้านบาท มีพื้นที่อาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 เพิ่มขึ้น 82,000 ตร.ม.พร้อมติดตั้งระบบ Check-In อัตโนมัติ รวมทั้งเพิ่มหลุมจอด 14 หลุม ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2598 และจะรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 60 ล้านคน/ปี
ทั้งนี้ โครงการจะมีอัตราผลตอบแทนการลงทุน(IRR) เป็นตัวเลข2 หลัก มีระยะเวลาคืนทุนในปีที่ 15-16 ตามแผนงานหลังลงนามสัญญา ภาครัฐจะมีหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน(Notice to Process: NTP) ภายใน18 เดือน จากนั้นจะใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี และมีเวลาบริหารสัมปทาน อีก 47 ปี