ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP ที่สมาชิก 7 ประเทศ(จาก 11 ประเทศ) ได้ให้สัตยาบันรับรองและมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2561ได้แก่ ญี่ปุ่น เม็กซิโก แคนาดา สิงคโปร์ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และเวียดนาม และอีก 4 ประเทศ อยู่ระหว่างการดำเนินการตามขั้นตอนภายในของแต่ละประเทศก่อนให้สัตยาบัน ได้แก่ มาเลเซีย บรูไน ชิลี และเปรู อย่างไรก็ดีในส่วนของไทยอยู่ระหว่างการพิจารณาศึกษาข้อดี-ข้อเสียโดยคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลง CPTPP ซึ่งมีตัวแทนจากทุกภาคส่วนร่วมให้ข้อมูลและความเห็นก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณาว่าไทยสมควรจะเข้าร่วมเจรจาหรือไม่
ทั้งนี้จากการตรวจสอบความตกลง CPTPP ที่มีมากถึง 30 ข้อบทที่มีผลบังคับใช้แล้วพบว่า มีหลายข้อบทที่ประเทศสมาชิกได้ขอความยืดหยุ่นหรือผ่อนปรนในความตกลงเพื่อลดผลกระทบต่อภาคธุรกิจและประชาชนในประเทศ อาทิ ข้อบทการค้าสินค้า ในประเด็นการเปิดตลาด เวียดนามมีขอบเขตสินค้าที่ผูกพันยกเลิกภาษีร้อยละ 97.95 ของจำนวนสินค้าทั้งหมด โดยมีสินค้าอ่อนไหวบางรายการที่ขอระยะเวลาสูงสุดในการยกเลิกภาษี เช่น ยาสูบที่ยังไม่เป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป ขอเวลา 21 ปี และขอยกเว้นการยกเลิกภาษีในสินค้ายานยนต์มือสอง นํ้าตาล และเกลือ เป็นต้น(ดูกราฟิกประกอบ)
ขณะที่มาเลเซียขอยกเว้นการเก็บอากรขาออกในสินค้าบางประเภท อาทิ นํ้ามันปาล์มดิบ นํ้ามันปิโตรเลียมดิบ ผลิตภัณฑ์จากวัลแคไนซ์ อาทิ ถุงมือศัลยกรรม และชุดดำนํ้าเป็นต้น(มีเหตุผลจากเกรงสินค้าในประเทศจะขาดแคลน)
ในข้อบทการบริการ การลงทุนและการเงิน ชิลี เม็กซิโก เปรู เวียดนาม ขอให้นักลงทุนไม่สามารถยื่นฟ้องผ่านกลไกระงับข้อพิพาทระหว่างนักลงทุนกับรัฐ(ISDS) ได้ หากนักลงทุนนั้นได้ยื่นฟ้องต่อศาลภายในของแต่ละประเทศข้างต้นแล้วให้ถือเป็นที่สิ้นสุด(ไม่ต้องผ่านกระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ) เป็นต้น
ส่วนข้อบทด้านทรัพย์สินทางปัญญา ในประเด็นที่บังคับให้ประเทศสมาชิกต้องเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศเพื่อการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่(UPOV 1991) เม็กซิโกและมาเลเซียขอเวลาปรับตัว 4 ปีก่อนเข้าเป็นภาคีฯ เพื่อให้เกษตรกรสามารถปรับตัวได้ทัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
"CPTPP" นายกฯลั่นจะไม่ลงนาม หากปท.ไม่ได้ประโยชน์สูงสุด
"CPTPP" เอ็นจีโอ โวยรัฐตั้งธงร่วมวง
เสียเปรียบตลาด FTA เวียดนาม 3 เท่าตัว เอกชนจี้รัฐเร่งร่วมวง CPTPP
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า หากไทยเข้าร่วมเจรจา CPTPP ในข้อบทต่าง ๆ ไทยก็สามารถขอเวลาปรับตัวหรือขอความยืดหยุ่นในประเด็นที่มีความอ่อนไหวจากประเทศสมาชิกเดิมได้เช่นกัน แต่หากเขาไม่ยอมผ่อนปรน หรือผ่อนปรนน้อยไทยเสียมากกว่าได้ ไทยก็สามารถถอนตัวได้ แต่เบื้องต้นไทยต้องขอโอกาสเข้าไปเจรจาก่อน เพราะในบางข้อบทของความตกลงที่เป็นที่ถกเถียงกันของภาคส่วนต่าง ๆ ของไทยในเวลานี้ ในบางเรื่องต้องเข้าไปเจรจาจึงจะทราบว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร
รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ข้อได้เปรียบของการเข้าร่วมเจรจา CPTPP หลังข้อตกลงมีผลบังคับใช้ไปแล้วคือไทยมีโอกาสเห็นข้อมูลของความตกลง และสามารถเจรจาต่อรองได้ แต่ข้อเสียเปรียบคือ ไทยอาจได้รับความยืดหยุ่นหรือผ่อนปรนน้อยหากจะเข้าเป็นสมาชิก ซึ่งไม่สามารถตอบได้ว่า ไทยสมควรเข้าเป็นสมาชิกความตกลง CPTPP หรือไม่ เพราะทุกอย่างมีได้และมีเสีย แต่ยุทธศาสตร์การเจรจาคือทำอย่างไรจะให้ประเทศชาติได้ประโยชน์สูงสุด
หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,586 วันที่ 25 - 27 มิถุนายน พ.ศ. 2563