โบ้ย "หมูแพง" จากผู้เลี้ยง-พ่อค้านอกลู่ ให้กระทรวงพาณิชย์ไปไล่จับเอง

17 ก.ค. 2563 | 12:20 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ก.ค. 2563 | 09:20 น.

ผู้เลี้ยงชี้ราคาหมูหน้าฟาร์มและราคาหมูชำแหละพุ่งเกินราคาแนะนำ เป็นการสมรู้ร่วมคิดของผู้เลี้ยงและพ่อค้านอกลู่ ให้กระทรวงพาณิชย์ไปไล่จับเอง ยันสมาชิกร่วมมือขายไม่เกิน 80

มีเสียงร้องเรียนไปยังกระทรวงพาณิชย์จำนวนมากถึงสถานการณ์ราคาหมูเนื้อแดงในหลายพื้นที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยราคาล่าสุดในบางพื้นที่เพิ่มขึ้นจากกิโลกรัม (กก.) ละ 150-160 บาท เป็นกก.ละ 170-180 บาทสร้างความเดือดให้ผู้บริโภค ร้านชาบู หมูกระทะ ร้านขายหมูทอด และอื่น ๆ ต้นทุนสูงขึ้นและมีการปรับราคา

 

นายสุรชัย  สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า วันนี้(17 ก.ค.63)ทางสมาคมได้ทำข้อตกลงกับกรมการค้าภายใน(คน.) กระทรวงพาณิชย์ ขายสุกร(หมู)มีชีวิตหน้าฟาร์มไม่เกิน 80 บาทต่อกก. แต่หากเป็นหมูมีชีวิตส่งออกราคาอาจจะสูงกว่า 80 บาทเล็กน้อย เพราะผู้เลี้ยงมีค่าตรวจเลือดเพื่อรับรองปลอดโรค อย่างไรก็ดีที่มีข้อร้องเรียนไปยังกรมการค้าภายในถึงราคาหมูชำแหละหน้าเขียงในตลาดสดบางพื้นสูงถึง 170-180 บาทต่อกก. และมีกระแสข่าวผู้เลี้ยงขายหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มสูงกว่า 80 บาทต่อ กก.นั้น เป็นไปได้ที่จะมีการสมคบกันระหว่างพ่อค้ากับผู้เลี้ยงบางราย ซึ่งเป็นหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์ที่จะต้องไปติดตามและจัดการเอาผิดตามกฎหมาย แต่ในส่วนของสมาคมได้ขอให้สมาชิกขายไม่เกิน 80 บาทต่อกก. ส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือด้วยดี

โบ้ย \"หมูแพง\" จากผู้เลี้ยง-พ่อค้านอกลู่ ให้กระทรวงพาณิชย์ไปไล่จับเอง

                                  สุรชัย  สุทธิธรรม

 

นายสุนทราภรณ์ สิงห์รีวงศ์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ เผยถึงสถานการณ์สุกรในปัจจุบันว่า ราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มของเกษตรกรทั่วประเทศยังคงยืนราคาที่ 78-79 บาทต่อ กก. ตามที่สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติประกาศราคาแนะนำ โดยเกษตรกรภาคเหนือยืนยันให้ความร่วมมือรักษาระดับราคาสุกรขุนไม่ให้เกิน 80 บาทต่อกิโลกรัม ตามที่ให้สัญญากับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ไว้ว่าจะร่วมกันดูแลพี่น้องประชาชนไม่ให้มีปัญหาขาดแคลนสุกร และไม่ให้ราคาสูงจนกระทบค่าครองชีพประชาชน โดยระดับราคาดังกล่าวถือว่าเกษตรกรพอมีรายได้กลับมาต่อทุนเพื่อเลี้ยงสุกรในรุ่นถัดไปเท่านั้น ขณะที่ต้นทุนการเลี้ยงสุกรยังมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ต่างปรับตัวขึ้น ตามความต้องการใช้ที่เพิ่ม ที่สำคัญเกษตรกรทั้งประเทศยังต้องต่อสู้กับ โรคแอฟริกันสไวน์ฟีเวอร์ หรือ ASF ในสุกร ทำให้มีต้นทุนการป้องกันและเฝ้าระวังโรคเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

โบ้ย \"หมูแพง\" จากผู้เลี้ยง-พ่อค้านอกลู่ ให้กระทรวงพาณิชย์ไปไล่จับเอง

                            สุนทราภรณ์ สิงห์รีวงศ์

 

นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ กล่าวอีกว่าปัจจุบันการบริโภคของประชาชนเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะห้างร้านต่าง ๆ ที่กลับมาเปิดดำเนินการ ผนวกกับโรงเรียนเปิดเทอม ขณะที่ปริมาณผลผลิตหมูขุนออกสู่ตลาดน้อยลง หมูเป็นที่จับมีขนาดเล็กลงอย่างเห็นได้ชัด อย่างไรก็ตาม สมาคมฯ เน้นย้ำให้กลุ่มผู้เลี้ยงรักษาระดับราคาภายในประเทศเพื่อไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน แม้ว่าเกษตรกรจะมีต้นทุนการเลี้ยงหมูสูงถึง 71 บาทแล้วก็ตาม แต่ทุกคนก็พร้อมตรึงราคาหมูหน้าฟาร์มไว้ที่ไม่เกิน 80 บาทต่อ กก. และพร้อมให้ความร่วมมือกับสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ในการจัดกิจกรรมจำหน่ายหมูลดค่าครองชีพประชาชนทั่วไทยสู้ภัยโควิด เพื่อส่งตรงหมูสดจากฟาร์มถึงมือผู้บริโภค โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง พร้อมกันทุกภูมิภาค วันที่ 7 สิงหาคม ศกนี้

 

 “หมูไทยราคาไม่ได้สูงไปกว่าประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะประเทศที่ต้องรับมือกับโรค ASF ที่ระบาดอย่างหนักอย่างจีน เวียดนาม เมียนมา ที่ราคาปรับเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว จากการขาดแคลนหมูอย่างหนัก เพราะภาวะโรค ช่วงนี้ที่ราคาหมูขยับขึ้นตามกลไกตลาด ขอให้ประชาชนเข้าใจและเห็นใจเกษตรกรที่ต้องเผชิญปัญหาราคาหมูตกต่ำจากผลผลิตล้นตลาดนานกว่า 3 ปี พวกเรามีอาชีพเลี้ยงหมูอาชีพเดียวเท่านั้น ขอให้กลไกตลาดได้ทำงาน หากถูกควบคุมมากจนเกินไปเกษตรกรอาจไม่สามารถไปต่อในอาชีพนี้ได้” นายสุนทราภรณ์ กล่าว