นายพงศ์รัตน์ อรุณวัฒนาพร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บริษัท แจ๊กเจียอุตสาหกรรม (ไทย) จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าเวชภัณฑ์ดูแลแผลแบรนด์ “ไทเกอร์พล๊าส” เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แผนงานในครึ่งปีหลัง บริษัทจะให้ความสำคัญกับการมองหาพาร์ทเนอร์ในการพัฒนาสินค้านวัตกรรมออกมารุกตลาด เพื่อมาต่อยอดธุรกิจหลักของบริษัทคือกลุ่มเวชภัณฑ์ทำแผล และมองหาสินค้าอื่นๆที่มีศักยภาพในการทำตลาดอีกด้วย เพื่อผลักดันให้บริษัทก้าวสู่ความเป็นแบรนด์ระดับภูมิภาคหรือรีจินอลแบรนด์ พร้อมทั้งมียอดขาย 1,500 ล้านบาทใน 5 ปีนับจากนี้ หลังจากที่ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 กระทบยอดขายในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. ลดลงไป 30% ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้บริษัทตัดสินใจว่าจะปรับแผนงานเพื่อฝ่าวิกฤติครั้งนี้ไปให้ได้
“แผนงานหลักนับจากนี้ยังคงมองหาพาร์ทเนอร์ที่มีวิสัยทัศน์ตรงกันเพื่อขยายตลาด และสร้างการเติบโตของบริษัทให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งนับเป็นความท้าทายในตลาดที่มีการแข่งขันกันค่อนข้างรุนแรงในปัจจุบัน ซึ่งแน่นอนว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นทำให้บริษัทต้องปรับแผนการทำงานให้เร็วขึ้น จากเดิมที่วางแผนการทำงานแบบปีต่อปีต้องปรับเปลี่ยนมาวางแผนทุกสัปดาห์ รวมถึงมีการปรับการทำงานหลาย ๆ ทั้ง ขั้นตอนการทำงาน การพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรม รวมถึงเพิ่มกำลังการผลิต เพื่อรองรับความต้องการ โดยในครึ่งปีหลังนี้จะเน้นให้ความสำคัญกับการขยายตลาดในกลุ่มสิค้าที่เป็นสุขอนามัย ควบคู่กับโฟกัสช่องทางออนไลน์ให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น จากปัจจุบันที่มีอยู่น้อยกว่า 5%”
ล่าสุดบริษัทโดยแบรนด์ไทเกอร์พล๊าส ได้ทุ่มงบประมาณ 10 ล้านบาท จับมือกับศูนย์กลางนวัตกรรมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU Innovation Hub) และบริษัท แนบโซลูท จำกัด ผู้คิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยี shield+ ร่วมกันคิดค้นนวัตกรรมสเปรย์ฉีดหน้ากากผ้า “ไทเกอร์พล๊าส แมสก์ชีลด์ พลัส” ที่เป็นการต่อยอดจากการผลิตภัณฑ์ปลาสเตอร์ปิดแผล ด้วยจุดขายในเรื่องของการเพิ่มประสิทธิภาพและเทคโนโลยีการใช้งาน กรองฝุ่น PM 2.5 และราคาย่อมเยาเพื่อสร้างการเข้าถึงให้ครอบคลุมให้มากที่สุด
สำหรับ “ไทเกอร์พล๊าส แมสก์ชีลด์ พลัส” หรือสเปรย์ฉีดหน้ากากผ้า จะกลายมาเป็นสินค้าเรือของบริษัทในการทำตลาดในครึ่งปีหลังนับจากนี้ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ผ่านการให้ความรู้กลุ่มเป้าหมายในแง่ของคุณประโยชน์และความปลอดภัยในการใช้งาน ควบคู่กับการสื่อสารผ่านช่องทางออนไลน โดยในประเทศจะเป็นการทำตลาดและจำหน่ายในโมเดิร์นเทรดและร้านขายยากว่า 1000 ร้านค้าทั่วประเทศและจะขยายเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยปัจจุบันมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 1 หมื่นชิ้นต่อวัน และพร้อมที่จะขยายไลน์การผลิตเป็น 2 หมื่นชิ้นต่อวันหากการขยายตลาดต่างประเทศประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้
ขณะที่การส่งออกไปยังต่างประเทศที่ผ่านมาบริษัทมีธุรกิจส่งออก 30% ของยอดขายและมีเครือข่ายอยู่แค่ไม่กี่ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และยุโรปบางประเทศพร้อมทั้งเตรียมขยายไปยังกลุ่มประเทศอินเดียร่วมกับพาร์ทเนอร์ที่ทำตลาดสินค้ากลุ่มเวชภัณฑ์ในอินเดียอยู่แล้ว เนื่องจากมองว่าเป็นประเทศที่มีศักยภาพทางการเติบโต โดยจะสามารถทำตลาดได้ภายในสิ้นปีนี้
อย่างไรก็ตามปัจจุบันบริษัทมียอดขายอยู่ 600 ล้านบาท แบ่งเป็นยอดขายมาจากสินค้ากลุ่มแบรนด์ของบริษัทเองเป็นหลักที่กว่า 70% และกลุ่มสินค้าที่จัดจำหน่ายให้น้อยกว่า 30% เนื่องจากเป็นกลุ่มธุรกิจที่บริษัทเพิ่งเริ่มมีการเข้าไปดำเนินธุรกิจดังกล่าว ทั้งนี้มีเป้าหมายระยะยาวคือการก้าวสู่ความเป็นแบรนด์ระดับภูมิภาคหรือรีจีนอลแบรนด์ ในช่วง 5 ปีนับจากนี้ พร้อมกับมีรายได้ 1,500 ล้านบาท
หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,594 วันที่ 23 - 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2563