สถานการณ์โควิด-19 ในไทยและอีกหลายประเทศเริ่มคลี่คลาย ขณะที่สถานการณ์ฝั่งอเมริกาและยุโรปหลายประเทศยังน่าห่วง ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยในหลายสินค้ามียอดขายจากตลาดในประเทศและยอดส่งออกที่หดตัวลงตามกำลังซื้อของผู้บริโภค และจากยังมีการล็อกดาวน์ในหลายพื้นที่ ส่งผลผู้บริโภคลดการเดินทางในการออกไปจับจ่ายใช้สอย แต่สำหรับสินค้าเครื่องสำอางและความงามแล้ว ไม่ว่าจะมีสถานการณ์ใดๆ เกิดขึ้น ผู้คนทั่วโลกก็ยังต้องการที่จะดูดี
นางเกศมณี เลิศกิจจา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และนายกสมาคมผู้ผลิตเครื่องสำอางไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า แม้ในครึ่งแรกปี 2563 ต่อเนื่องถึงเวลานี้ไทยและอีกหลายประเทศยังมีสถานการณ์โควิด แต่ถือว่าคลี่คลายลง และธุรกิจ ห้างร้านต่างๆ ได้เริ่มกลับมาดำเนินการได้ตามปกติในรูปแบบชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) คาดจะส่งผลให้ธุรกิจเครื่องสำอางและความงามของไทยนับจากนี้จะกลับมาขยายตัวได้ขึ้น
“สถานการณ์โควิดได้ส่งผลให้เคาน์เตอร์แบรนด์จำหน่ายเครื่องสำอางแบรนด์ต่างๆ ที่ขายตามห้างและโมเดิร์นเทรดต่างๆ มียอดขายที่ลดลงในครึ่งปีแรก จากสถานประกอบการถูกสั่งปิด แต่เวลารัฐบาลได้คลายล็อกดาวน์แล้ว ทำให้ภาคธุรกิจต่าง ๆ รวมทั้งธุรกิจเครื่องสำอางกลับมาเปิดได้ตามปกติ คาดจากนี้ยอดขายจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ช่วงที่ผ่านมาก็มีสินค้าในกลุ่มเครื่องสำอาง เช่น ครีมบำรุงผิว และครียมบำรุงหน้า เจลล้างมือ ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม คนก็ยังต้องใช้ และตลาดยังขยายตัวต่อเนื่อง”
ทั้งนี้คาดการณ์ตลาดเครื่องสำอางของไทยในปี 2563 คาดจะยังขยายตัวได้ที่ 5% หรือมีมูลค่ากว่า 3.15 แสนล้านบาท จากปี 2562 มีมูลค่าตลาดรวมประมาณ 3 แสนล้านบาท แบ่งเป็นตลาดในประเทศ 1.7 แสนล้านบาท และส่งออก 1.3 แสนล้านบาทขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2561 ที่ 6.7% ซึ่งที่น่าจับตามองและตลาดมาแรงคือเครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์บำรุงผิว(สกินแคร์)ในกลุ่มลูกค้าสุภาพบุรุษคนรุ่นใหม่ที่ตลาดในกลุ่มนี้มีอัตราการขยายตัวมากกว่า 10% ต่อปี
ด้านนายพงศ์วิวัฒน์ ทีฆคีรีกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานการตลาดและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ บริษัท คาร์มาร์ท จำกัด (มหาชน) เจ้าของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางแบรนด์ “KARMART” รวมถึงผลิตภัณฑ์เพื่อความงามครบวงจรมากกว่า 10 แบรนด์กล่าวว่า จากผลกระทบโควิด-19 ทำให้บริษัทมียอดขายที่ลดลงทั้งตลาดในและต่างประเทศ ทั้งที่ขายผ่านออฟไลน์และออนไลน์ จากปัจจุบันบริษัททำตลาดในประเทศสัดส่วน 90% และส่งออก 10% โดยส่งออกผ่านตัวแทนจำหน่ายใน 14 ประเทศ อาทิ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) จีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน เป็นต้น
ในเดือนที่เหลือของปีนี้บริษัทคาดหวังสถานการณ์โควิด รวมถึงช่องทางในการทำตลาด และการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศจะปรับตัวดีขึ้น โดยบริษัทได้เร่งแผนงานต่างๆ เท่าที่สามารถทำได้เพื่อเร่งกระตุ้นยอดขาย เช่น การจัดอีเวนต์เปิดตัวพรีเซ็นเตอร์และผลิตภัณฑ์ใหม่ในกลุ่มดูแลสิวเสี้ยน ครีมกันแดด รวมถึงผลิตภัณฑ์ดูแลช่องปาก หวังยอดขายปีนี้จะสามารถทำได้อย่างน้อยใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา(ปี 2562 บริษัทมียอดขายประมาณ 1,900 ล้านบาท)
ด้านนางสาวสายเพชร สถิตย์เสถียร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ แอนด์ ซี คอสเมติกส์ จำกัดเจ้าของแบรนด์เครื่องสำอาง “AR Cosmetics”กล่าวว่า เครื่องสำอางสำหรับการแต่งหน้า(เมกอัพ) ทั้งตลาดในและต่างประเทศในช่วงที่ผ่านมาของปีนี้ชะลอตัวจากผลกระทบโควิด-19 แต่บริษัทได้สินค้าในกลุ่มเพอร์ซันนอล แคร์(ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวหน้าและผิวกายส่วนบุคคล) และสกินแคร์(ครีมบำรุงผิว) มาช่วย ทำให้ยังทำยอดได้ เฉพาะอย่างยิ่งตลาดส่งออก(สัดส่วน 70%ของการทำตลาด) ที่ยอดขายในครึ่งปีแรกยังขยายตัวเกือบ 20% เฉพาะอย่างยิ่งในฟิลิปปินส์ที่เป็นตลาดใหญ่สุดของบริษัท(สัดส่วน 50% ของตลาดส่งออกของบริษัทที่มีมากกว่า 10 ประเทศ เช่น จีน ยูเออี เมียนมา กัมพูชา ลาว มาเลเซีย สิงคโปร์) ที่ยังทำยอดขายได้ดีจากสินค้าโลชั่นวิตามินอีของบริษัทติดตลาดแล้ว
“ภาพรวมในเดือนที่เหลือของปีนี้สถานการณ์ตลาดเครื่องสำอางและความงามน่าจะปรับตัวดีขึ้น เพราะไม่ว่ายังไงคนก็ยังต้องการดูดี และจะเข้าซีซั่นหน้าหนาวเพอร์ซันนอลแคร์น่าจะขายดีขึ้นยอดขายทั้งปีนี้เราน่าจะโตได้ 20%”
หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,594