จากการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ส่งผลให้ “การบินไทย” อยู่ในสภาวะพักการชำระหนี้ (Automatic Stay) ปัจจุบันบริษัทฯ ผิดชำระหนี้สถาบันการเงิน และหุ้นกู้ มูลค่ารวม 8.5 หมื่นล้านบาท และมีหนี้สิน 3.54 แสนล้านบาท ขณะนี้การบินไทย เร่งเจรจากับเจ้าหนี้ เพื่อขอเสียงโหวตสนับสนุนให้ “การบินไทย” ทำแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งศาลล้มละลายกลางจะนัดไต่สวนวันที่ 17 ส.ค.นี้ เนื่องจากหวั่นว่าหากมีผู้ยื่นคัดค้าน จะส่งผลให้กระแสเงินสดของบริษัทฯอาจไม่เพียงพอ จากระยะเวลาของกระบวนการฟื้นฟูที่จะต้องใช้เวลายาวนานขึ้นกว่าเดิม
รวมถึงการบินไทย ยังจะจัดทำหลักเกณฑ์ใหม่ ภายใต้โครงการ Togerther We Can ในการขอความร่วมมือกับพนักงานในการลดเงินเดือน ยาวไปถึงเดือนธ.ค.นี้ โดยซอยอัตราในการปรับลดเงินเดือนให้กว้างขึ้น เพื่อจูงใจพนักงานในทุกระดับร่วมโครงการ เพื่อลดค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น
หลักเกณฑ์ใหม่ลดเงินเดือน
แหล่งข่าวระดับสูงจากบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การเปิดโครงการให้พนักงานการบินไทยร่วม 2.1 หมื่นคน แสดงความจำนงค์สมัครใจลดเงินเดือนในช่วง มิ.ย.-ส.ค.นี้ พบว่า มีพนักงานเข้าร่วมโครงการอยู่ที่ 6.1-7.2 พันคน ทำให้องค์กรประหยัดค่าใช้จ่ายได้ราว 118-147 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งเข้าใจได้ว่าพนักงานที่ฐานเงินเดือนน้อย การขอความร่วมมือให้พนักงานลดเงินเดือน 10% ตามประกาศปัจจุบันคงเป็นเรื่องยาก ทั้งๆพนักงานหลายคนก็อยากจะให้ความร่วมมือกับการบินไทยในการฝ่าวิกฤติที่เกิดขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
รื้อใหญ่‘การบินไทย’ ‘ชาญศิลป์’ปรับองค์กร กล่อมพนักงานร่วมใจฝ่าวิกฤติ
"การบินไทย" จ่อรื้อใหญ่ สายพาณิชย์
แผนฟื้น "การบินไทย" ระอุ ล็อบบี้เจ้าหนี้ในปท.ทำแผนฟื้นฟูแข่ง
ทำให้การบินไทย มีแนวคิดจะวางหลักเกณฑ์ใหม่ ภายใต้โครงการ Togerther We Can ที่จูงใจและปิดโอกาสให้พนักงานทุกคนได้มีส่วนร่วมในการร่วมมือ โดยหลักเกณฑ์ใหม่จะไม่ทำให้ใครเสียประโยชน์มากขึ้น และพนักงานที่เคยให้ความร่วมมือในการลดเงินเดือนอยู่ก่อนแล้ว จะยังคงให้ความร่วมมืออยู่ต่อไป ซึ่งบริษัทจะขอความร่วมมือพนักงานสมัครใจลดเงินเดือนต่อออกไปถึงเดือนธ.ค.นี้
โดยในส่วนของผู้บริหารระดับสูง ถ้าเป็นตำแหน่งรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (EVP) ที่มาโดยสัญญาจ้าง จากโครงการปัจจุบันขอความร่วมมือลดเงิน 50% เกณฑ์ใหม่ขอความร่วมมือลดเพิ่ม 70% ส่วนEVP และตำแหน่งผู้อำนวยการใหญ่ (VP) ยังคงขอความร่วมมือลดเงินเดือนในสัดส่วน EVP ลด 50% และVP ลด 40% ตามหลักเกณฑ์ที่ขอความร่วมมืออยู่ในปัจจุบัน
ขณะที่ระดับพนักงาน จะมีการซอยอัตราในการปรับลดเงินเดือนให้กว้างขึ้น อาทิ พนักงานเงินเดือนไม่เกิน 2 หมื่นบาท หลักเกณฑ์ปัจจุบันขอความร่วมมือลดเงินเดือนที่ 10% หลักเกณฑ์ใหม่ ขอความร่วมมือให้ลาหยุดโดยไม่รับเงินเดือน 1 วัน ขอความร่วมมือลดเงินเดือนและค่าตอบแทน 3.33% พนักงานเงินเดือนตั้งแต่ 20,001-30,000 บาท หลักเกณฑ์ปัจจุบันขอความร่วมมือลดเงินเดือน 10.01-15.00% หลักเกณฑ์ใหม่ ขอความร่วมมือให้ลาหยุดโดยไม่รับเงินเดือน 2 วัน ลดเงินเดือน 6.67% เป็นต้น ทั้งนี้ถ้าพนักงานทุกคนให้ความร่วมมือ จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายให้การบินไทย 257 ล้านบาทต่อเดือน ส่วนการร่วมลดเงินเดือนของผู้บริหารระดับสูง จะช่วยการบินไทยประหยัดได้ 3.6 ล้านบาทต่อเดือน
ทยอยเจรจาเจ้าหนี้หุ้นกู้
ส่วนความคืบหน้าในการเจรจากับเจ้าหนี้ พบว่า การบินไทยได้เจรจากับเจ้าหนี้เครื่องบิน ทั้งกลุ่มที่เช่าดำเนินการและเช่าทางการเงิน ครบทั้ง 43 รายแล้ว เช่นเดียวกับการเจรจากับธนาคารเจ้าหนี้ในประเทศและกระทรวงการคลัง รวม 18 ราย ก็ได้เจรจาครบถ้วนแล้ว และจะมีการนัดหารือกับผู้บริหารสูงสุดของสถาบันการเงินอีกครั้ง
ในส่วนของการเจรจากับเจ้าหนี้หุ้นกู้ ซึ่งมีทั้งหมด 3 กลุ่ม ได้แก่ ผู้ถือหุ้นกู้สถาบัน 212 ราย ยังไม่ได้มีการเจรจา แต่กำหนดจะนัดหมายเจรจาในวันที่ 30 ก.ค.นี้ ขณะที่ผู้ถือหุ้นกู้สหกรณ์ 115 ราย มีการเจรจาไป 87 ราย หรือ 75% ผ่านชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นตัวแทนผู้ถือหุ้นกู้กลุ่มสหกรณ์ จำนวน 87 สหกรณ์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการดูแลสิทธิของผู้ถือหุ้นกู้ภายใต้กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ส่วนผู้ถือหุ้นกู้ที่เป็นประชาชนทั่วไป 2,122 ราย ยังไม่ได้เจรจา แต่ให้พนักงานติดต่อรายบุคคล โดยออกจดหมายติดต่อผ่านธนาคาร
ที่เป็นผู้จดทะเบียนและจำหน่ายหุ้นกู้
สำหรับเจ้าหนี้ตั๋วเครื่องบิน ซึ่งมีทั้งลูกค้าที่ซื้อตรงกับการบินไทย 2,700 ล้านบาท ซื้อผ่านเอเย่นต์ไทย 800 ล้านบาท ซื้อผ่านเอเย่นต์บีเอสพี ไออาต้า 2,540 บาท การบินไทย อยู่ระหว่างเจรจาเสนอTravelling Voucher จนถึงสิ้นปี 65
การเจรจา เพื่อสร้างความเชื่อมั่นกับเจ้าหนี้จึงเป็นภารกิจเร่งด่วน เนื่องจากหากมีผู้ยื่นคัดค้าน จะส่งผลให้กระแสเงินสดของบริษัทฯอาจไม่เพียงพอ จากระยะเวลาของกระบวนการฟื้นฟูที่จะต้องใช้เวลายาวนานขึ้นกว่าเดิม
เอเย่นต์ยื่นพิทักษ์ทรัพย์
แหล่งข่าวระดับสูงจากเอเย่นต์ผู้จำหน่ายตั๋วเครื่องบินในประเทศไทย เผยว่า ในขณะนี้เอเย่นต์จำหน่ายตั๋วเครื่องบินหลายราย ที่การบินไทยมียอดค้างคืนเงินค่าตั๋วเครื่องบิน (รีฟัน) โดยเฉพาะยอดเงินตั้งแต่หลักหลายล้านไปจนถึงหลัก 10 ล้านบาทขึ้นไป ต่างดำเนินการจ้างทนาย เพื่อเตรียมยื่นพิทักษ์ทรัพย์ต่อศาลล้มละลาย เนื่องจากนับจากการบินไทย หยุดทำการบิน และเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย เอเย่นต์ต่างๆก็ได้เพียงจดหมายทางอีเมล์ แจ้งให้ทราบเท่านั้นว่ายังไม่สามารถคืนเงินค่าตั๋วเครื่องบินให้ได้ เพราะอยู่ภายใต้สภาวะพักการชำระหนี้ชั่วคราวโดยผลของกฏหมาย (Automatic Stay) ตามกระบวนการฟื้นฟูกิจการ
การพักชำระที่เกิดขึ้น ก็ทำให้ที่ผ่านมาเอเย่นต์ได้รับการกดดันจากลูกค้าที่จะขอคืนค่าตั๋วเครื่องบินของการบินไทยอย่างต่อเนื่อง ทำให้บางส่วนเอเย่นต์ก็ต้องออกเงินคืนให้ลูกค้าไปก่อน เพื่อรักษาลูกค้า แต่ขณะเดียวกันเอเย่นต์หลายราย ก็ไม่ได้มีสภาพคล่องเพียงพอที่จะจ่ายเงินคืนให้ลูกค้าไปก่อนได้ ทำให้ปัจจุบันมีเอเย่นต์หลายรายถูกผู้โดยสารไปร้องเรียนกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เป็นจำนวนมากจากปัญหาที่สายการบินไม่สามารถคืนเงินค่าตั๋วให้เอเย่นต์นำไปจ่ายลูกค้าได้
หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3595 วันที่ 26-29 กรกฎาคม 2563