วันที่ 3 ส.ค.2563 ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ เผยว่า การแก้ปัญหาโรคใบด่างมันสำปะหลัง ได้สั่งการหน่วยกรมที่เกี่ยวข้องติดตามการระบาดทุกพื้นที่เตรียมเสนอ ครม. เห็นชอบกรอบชดเชย และมาตรการฟื้นฟู ภายในกลางเดือนสิงหาคมนี้ ด้าน สศก. พร้อมบูรณาการ จัดทีมลุยสำรวจทั่วประเทศ รวบรวมและประเมินความเสียหาย รวมถึงวิเคราะห์ผลกระทบทางเศรษฐกิจทุกมิติ จัดเตรียมรายงานผ่าน Dashboard เชิงแผนที่ หรือ mapping ให้เข้าใจง่าย เพื่อประโยชน์ในการติดตามและเฝ้าระวังอย่างแม่นยำ
สอดคล้องนายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ผยถึงผลประชุมการแก้ไขปัญหาโรคใบด่างมันสำปะหลัง โดยมี ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน เมื่อวันศุกร์ที่ 31 กรกฎาคม 2563 ว่า ปัจจุบัน ไทยมีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังมากกว่า 8 ล้านไร่ ซึ่งสถานการณ์การระบาดโรคใบด่างมันสำปะหลังพบว่า ขณะนี้มีการขยายวงกว้างมากขึ้น จาก 45,000 ไร่ ใน 11 จังหวัด เป็น 350,000 ไร่ ใน 25 จังหวัด ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เน้นย้ำในการแก้ปัญหาดังกล่าว และได้มอบหมายปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นกำกับ ผู้ดูแล การดำเนินการแก้ไขปัญหาโรคใบด่างมันสำปะหลัง และมอบหมาย
กรมส่งเสริมการเกษตร เป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับกรมวิชาการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และหน่วยงานเกี่ยวข้อง เสนอโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาโรคใบด่างมันสำปะหลัง ตลอดจนมาตรการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในการชดเชยและเยียวยาเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบ โดยเน้นย้ำว่าการดำเนินการหามาตรฐานป้องกันและกำจัดโรคใบด่างมันสำปะหลัง จะต้องมีความชัดเจน ลดขั้นตอนให้กระชับ โดยเฉพาะขั้นตอนการตรวจวินิจฉัยและยืนยันโรค และการพิจารณาจากคณะกรรมการต่างๆ ในระดับพื้นที่ เพื่อแก้ปัญหา อย่างทันท่วงที สามารถดำเนินการทำลาย และจ่ายเงินให้เกษตรกรได้อย่างรวดเร็ว พร้อมเสนอณะรัฐมนตรีพิจารณาภายในกลางเดือนสิงหาคม 2563
สำหรับกรอบการให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้น เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรค จะได้รับเงินชดเชย 3,000 บาท/ไร่ และค่าทำลาย 2,160 บาท/ไร่ รวมเป็น 5,160 บาท/ไร่ นอกจากนี้ ยังเตรียมมาตรการฟื้นฟูหลังจากการทำลาย โดยกรมวิชาการ กรมส่งเสริมการเกษตร จะประสานความร่วมมือเร่งดำเนินการพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ หาพื้นที่ที่เหมาะสมในการผลิตท่อนมันฯ คุณภาพ ปราศจากโรค เพื่อใช้ในการปลูกขยายพันธุ์ ในพื้นที่เป้าหมาย 30,000 ไร่ เพื่อขยายต่อให้เกษตรกรปลูกทดแทนพื้นที่ปลูกมันฯ ที่ได้ทำลายไป
สศก. ในฐานะผู้จัดทำข้อมูล จะบูรณาการร่วมทุกหน่วยงาน โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1-12ศูนย์ประเมินผล ศูนย์สารสนเทศการเกษตร จะทำการสำรวจ ติดตาม รายงานข้อมูลพื้นที่ระบาดฯ และประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้น รวมถึงศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ (NABC) จะดำเนินการจัดทำรายงานพื้นที่ระบาดผ่าน Dashboard ในรูปแบบเชิงแผนที่ (mapping) เพื่อให้สามารถติดตามสถานการณ์และการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เข้าใจง่าย
พร้อมทั้งวิเคราะห์ผลกระทบทางเศรษฐกิจ และเสนอแนะมาตรการต่างๆ เพื่อรองรับกับผลกระทบที่ส่งผลกับความต้องการใช้มันสำปะหลังในประเทศทั้งใช้เพื่อบริโภค อาหารสัตว์ และอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ ทั้งนี้ อยากขอความร่วมมือเกษตรกร หากพบหรือสงสัยการระบาดโรคใบด่างมันฯ สามารถติดต่อผู้นำชุมชน หรือหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อตรวจสอบและหาแนวทางการยับยั้งการระบาดโดยเร็วต่อไป