แหล่งข่าวผู้ประกอบการประมง เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ผมไม่รู้ว่ากรมประมงได้ประสานกับประมงจังหวัดแต่ละจังหวัดอย่างไร ที่ผ่านมาทางกรมประมงแต่ละจังหวัดได้เชิญเจ้าหน้าที่ของ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ (ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสิน มาชี้แจงเรื่องหลักเกณณ์การกู้ให้กับสมาชิกของสมาคม ซึ่งรายละเอียดค่อนข้างมาก ไม่ใช่จะกู้ได้ง่ายๆ เงินกู้ขั้นสูงสุดรายละไม่เกิน 5 ล้านบาท
หลักประกัน 1.กรณีใช้ที่ดิน หรือที่ดินสิ่งปลูกสร้าง (ที่อยู่อาศัย) จำนอง เป็นประกันให้กู้ได้ไม่เกินร้อยละ 95 ของวงเงินจดทะเบียนจำนอง 2.กรณีใช้เรือประมง ต้องมีขนาดระวางเรือไม่ต่ำกว่า 60 ตันกรอส จำนองเป็นประกันให้กู้ได้ไม่เกินร้อยละ50 ของวงเงินจดทะเบียนจำนอง
3.กรณีใช้บุคคลรับรองรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกันค้ำประกันหนี้เงินกู้ เมื่อรวมกับวงเงินกู้ทุกสัญญาที่ใช้เป็นหลักประกันประเภทเดียวกันนี้แล้วให้กู้ได้ไม่เกิน 3 แสนบาท ตามคำสั่งมอบอำนาจของธนาคาร ต้องมีการจัดทำประกันภัยเรือประมง ธนาคารเป็นผู้รับประโยชน์
ทั้งนี้หลักประกันเรือประมง ใช้เรือประมงเป็นหลักประกันเงินกู้ได้ไม่เกินร้อยละ 50 ของวงเงินจำนอง เรือประมงต้องมีอายุงานคงเหลือไม่น้อยกว่า 5 ปี ต้องทบทงนหลักประกันภัยทุก 3 ปี เนื่องจากเรือประมงจะมีการหักค่าเสื่อมราคาทุกปี
สำหรับคุณสมบัติผู้กู้ จะต้องมีเรือประมงขนาดไม่ต่ำกว่า 60 ตันกรอส ไม่มีหนี้ค้างชำระกับ ธ.ก.ส.หรือสถาบันการเงินอื่น ไม่เป็นลูกหนี้ที่ได้รับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แบบรวมสัญญา กรณีขยายเวลาการชำระหนี้และลดดอกเบี้ยให้เมื่อชำระหนี้ได้ตามแผนชำระ รวมทั้งเงื่อนไขอื่น ๆ ซึ่งสรุปได้ใจความว่าต่างจากเงื่อนไขที่เคยประชุมก่อนหน้านี้ แปลเจตนาได้ว่ารัฐบาลไม่จริงใจที่จะช่วยเหลือจริงจัง เพียงแค่เป็นกระแสกดดันออกมาแค่นั้นเอง!
ทำไมถึงกล่าวเช่นนี้ ตัวอย่าง การคำนวณราคาประเมินเรือประมง (ดูตารางกลางเรือประมง) ขนาดเรือประมง 20 ตัน กอรส ราคาประเมิน = 44,912 x 20 = 898,240 บาท , ขนาดเรือประมง 35 ตันกรอส ราคาประเมิน = 47,862 x 35 = 1,675,170 บาท, ขนาดเรือประมง 50 ตันกรอส ราคาประเมิน = 48,237x50 = 2,411,850 บาท และ ขนาดเรือประมง 55 ตันกรอส ราคาประเมิน = 48,695 x 55 = 2,678,225 บาท ดังนั้นถอดสูตรออกมาการใช้เรือประมงเป็นหลักประกันเงินกู้ได้ไม่เกินร้อยละ 50 ของวงเงินจำนอง