เจาะลึก “ยางแผ่น” ทำไมขาดตลาด

29 ส.ค. 2563 | 09:35 น.

สนั่นโลก ยางแผ่นขาดตลาด “ชุมนุมสหกรณ์ตรัง” เผยชาวสวนเผ่นหนีขายน้ำยางสด บวกแรงงานขาด ด้าน “แกรนด์รับเบอร์” ประเมิน 2 สัปดาห์ คาดสถานการณ์ปกติ ขณะนายกคนกรีดยางฯ ระบุชัดคนไทยไม่นิยม ปลุก กยท.ตื่นจัดอบรมพ่วงเบี้ยเลี้ยงจูงใจ

 

“โลกช็อก ยางแผ่นขาดตลาด … (คลิกอ่าน)  เป็นไปได้อย่างไร ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกยางมากที่สุดในโลก และส่งออกมากที่สุดในโลกเช่นเดียวกัน ที่ผ่านมาในช่วง กว่า  7 ปี ก็ประสบปัญหาราคายางตกต่ำ หลายรัฐบาลทั้งอดีตและปัจจุบันมีการช่วยเหลือชาวสวนยาง กลางน้ำ และปลายน้ำ ทั้งทางตรงและทางอ้อม แต่ดูเหมือนสถานการณ์ยังไม่ดี แต่ช่วงพลิกผันเกิดโควิด หลายโรง ไม่เว้นแม้แต่ 5 เสือ ก็ระส่ำ ทยอยปิดระนาว เพราะประเทศปลายทางการแพร่ระบาดโควิดก็วิกฤติมากมีการล็อกดาวน์ และปิดประเทศ จนไม่คาดคิดจะฟื้นกลับมาเร็ว แล้วทำให้ประเทศเกิดวิกฤติ “ยางแผ่น” ขาดตลาด

ดร.ปรีดี ลีลาเศรษฐวงศ์

 

ดร.ปรีดี ลีลาเศรษฐวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แกรนด์ รับเบอร์ จำกัด เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า  เป็นวัฏจักรที่เกิดขึ้นในรอบ 4-5 ปี จะเกิดขึ้นครั้งหนึ่งที่เห็นยางโลกขาดตลาด เป็นการทำงานกลไกตลาด มีการประเมินคาดการณ์ 6-7 เดือน เริ่มมีสัญญาณแนวโน้มว่าจะขาดตลาด แต่ ก็ไม่ได้คาดคิดว่าจะรุนแรงมากขนาดนี้ หากย้อนไปก่อนการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด ประมาณกลางเดือนมีนาคม 2563 ภาพรวมประเทศไทย ราคาน้ำยางก็ค่อนข้างสูง 35-37 บาทต่อกิโลกรัม ราคายางแผ่นดิบ แผ่นรมควัน ก็ประมาณ 45-47 บาทต่อกิโลกรัม พอเกิดโควิด ราคายางทุกชนิดก็ปรับตัวลงมา 10 กว่าบาท/กิโลกรัม ซึ่งในช่วงก่อนโควิดปริมาณยางในประเทศลดลงมา 2 ปีแล้ว ประกอบกับปริมาณยางแผ่นดิบ ก็ลดลงด้วยเช่นเดียวกัน แต่ก็ไม่มากจนผิดสังเกต พอลงราคายางแผ่นดิบ คือตัวสุดท้ายที่เกษตรกรจะทำ เพราะเป็นตัวที่ใช้แรงงานมาก แล้วที่สำคัญได้เงินช้ากว่าชนิดยางทุกตัว แล้วที่ได้เงินเร็วที่สุด ก็คือ “น้ำยางสด”

 

“พอโควิดเกิดขึ้นก็มีเหตุการณ์หลายอย่างเกิดขึ้นพร้อมกัน หลายโรงงานก็หยุด เพราะผู้ซื้อปลายน้ำหยุดแล้วชะลอคำสั่งซื้อประมาณ 2-3 เดือน ทำให้ธุรกิจชะงักลงหมด ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ซึ่งในช่วงนั้นแรงงานต่างด้าวก็กลับประเทศ แต่ก็มีบางโรงงานไม่ได้ปล่อยให้กลับประเทศ แล้วแต่ละโรงจะจัดการบริหารกัน เช่นเดียวกับชาวสวนยางก็ปล่อยให้คนกรีดยางกลับประเทศ เพราะไม่มั่นใจในอนาคต ขณะที่เกิดโควิดการดำเนินธุรกิจการค้าหยุดหมดเลย หลังจากนั้นเดือนพฤษภาคมโควิดเริ่มซา กลางเดือนมิถุนายน ก็มีการคาดการณ์ว่าช่วงเลวร้ายที่สุดได้ผ่านพ้นไปแล้ว เริ่มเห็นสัญญาณคู่ค้าปลายน้ำเริ่มกลับมาแล้ว บางคนก็เริ่มซื้อกรกฎาคม จนมาเรื่อยๆ ถึงปัจจุบัน”


 

เจาะลึก “ยางแผ่น” ทำไมขาดตลาด

 

ดร.ปรีดี  กล่าวว่า “แรงงานต่างด้าว” มีส่วนสำคัญที่จะไปผูกกับโรงรมที่ผลิตยางแผ่นดิบ ยางแผ่นรมควัน โดยเฉพาะภาคใต้ตอนบน กลาง ส่วนภาคอื่นไม่กระทบ เพราะหันไปทำยางชนิดอื่นกันหมด แต่ว่ามองไม่ชัดเหมือนในขณะนี้ เพราะในตลาดมียางแผ่นรมควัน ขึ้นมาทดแทน (ยางแผ่นรมควัน ก็คือ พ่อค้าย่อย กลุ่มเอสเอ็มอี สหกรณ์ ซื้อน้ำยางสดของสมาชิกมาทำ เข้ารมควัน แล้วนำไปขายในตลาดกลางยางพารา ของ กยท. หรือขายในตลาดอื่นๆ ไม่ได้เกิดจากเจตนารมณ์ของเจ้าของสวนยางหรือคนกรีดยาง ผลิตยางแผ่นดิบ ขึ้นมาเอง ซึ่งในอดีตหากพูดถึงยางแผ่นดิบ ประเทศไทยจะเป็นยางแผ่นดิบทั้งหมด แต่ปัจจุบันลดลงมา เหลือไม่ถึง 30%)

 

แต่ที่ผ่านมาไม่เห็นปัญหา อย่างที่กล่าวไว้ในตลาดก็คือมียางแผ่นรมควัน ขึ้นมาทดแทน ประจวบกับช่วงที่เกิดโควิด ความต้องการใช้น้ำยางสดจากถุงมือยาง เพราะฉะนั้นในช่วง พ.ค.-ก.ค. จะเห็นราคาน้ำยางสด สูงกว่าราคาน้ำยางก้อนถ้วย และน้ำยางแผ่นดิบ ทำให้ผลผลิตที่ออกมาปริมาณน้อยอยู่แล้วได้เทน้ำยางสดเข้าไปโรงงานน้ำยางข้นทำให้น้ำยางแผ่นดิบ จากการกรีดหายไป บวกอานิสงส์แล้งยาว ส่งผลทำให้ยางแผ่นรมควันหายไปจากตลาด 2 เดือนเต็ม จากราคาน้ำยางแพง แต่ปัจจุบันราคายางแผ่นดิบ ราคาเริ่มกลับมาจะทำให้ชาวสวนยางหันกลับมาทำยางแผ่นดิบ และยางแผ่นรมควันใหม่อีกครั้ง คาดว่าจะใช้ระยะเวลา 2 อาทิตย์เท่านั้น

 


 

สมพร เต็งรัง

 

นายสมพร เต็งรัง ประธานกรรมการชุมนุมสหกรณ์จังหวัดตรัง จำกัด กล่าวว่า ราคายางกระเตื้องขึ้นมาก็จริง แต่ยังไม่หวือหวามากนัก สาเหตุที่ยางแผ่นขาดตลาด เนื่องจากราคายางแผ่นรมควันต่างจากน้ำยางสด แค่ 2-3 บาท ต่อกิโลกรัม เพราะต้นทุนของการนำน้ำยางสดไปผลิตเป็นยางแผ่นรมควันไม่ต่ำกว่า 6 บาท/กิโลกรัม เพราะถ้านำน้ำยางไปผลิตเป็นยางแผ่นดิบ หรือแผ่นรมควันขาดทุน  บวกกับแรงงานขาดแคลน เนื่องจากติดโควิด-19 ทำให้แรงงานยังไม่สามารถเข้าประเทศได้ ส่วนคนไทย งานหนักก็จะไม่ทำ หลายองค์ประกอบจึงทำให้ยางแผ่นดิบ และแผ่นรมควัน “ขาดตลาด”

 

มนัส บุญพัฒน์

 

สอดคล้องกับนายมนัส บุญพัฒน์ นายกสมาคมคนกรีดยางและชาวสวนยางรายย่อย(ส.ค.ย.) กล่าวว่า สาเหตุที่ยางแผ่น "ขาดตลาด” เพราะปัญหาใหญ่ไม่มีแรงงานนำเข้ามา ก็คือ กัมพูชา ลาว และเมียนมา พอปิดชายแดนตั้งแต่โควิดแล้ว จนถึงปัจจุบันยังเข้าประเทศไม่ได้ ซึ่งการทำยางแผ่นดิบ และแผ่นรมควัน ต้องใช้แรงงานฝีมือ ต้องมีจิตใจที่สู้งานด้วย ต้องยอมรับว่าคนไทยไม่ทำ แต่ทางสมาคมได้เสนอไปที่ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ว่า ให้จัด "โครงการอบรมคืนถิ่น" คือ คนไทยในพื้นที่โดยเฉพาะวัยรุ่นตั้งแต่ 18-25 ปี ให้ กยท. เป็นวิทยากร และพี่เลี้ยง  พร้อมให้ค่าเบี้ยเลี้ยงจูงใจ เชื่อมั่นว่าอย่างน้อยก็น่าจะแก้แรงงานขาดแคลนได้บ้างในช่วงที่แรงงานต่างด้าวยังไม่สามารถที่เดินทางเข้าประทศได้อย่างถูกต้อง 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

โลกช็อก “ยางแผ่น” ขาดตลาด