จากที่สหภาพยุโรป(อียู) กล่าวหาภาคการประมงของไทยมีการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) ภาครัฐ เอกชน ชาวประมง และทุกภาคส่วนของไทยได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาจนได้รับการปลดใบเหลืองเมื่อเดือนมกราคม 2562 ที่ผ่านมา แต่ปัจจุบันชาวประมงออกมาร้องว่าไปต่อไม่ไหวแล้ว เพราะนอกรัฐบาลจะมีการออกกฎหมาย 2 ฉบับ ได้แก่ พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การประมง พ.ศ. 2558 และ พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) (ฉบับที่ 2) การประมง พ.ศ.2560 แล้วยังมีประกาศกระทรวงรวมกว่า 300 ฉบับ จาก 14 หน่วยงาน อาทิ กรมประมง, กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน, กรมการจัดหางาน,ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล “ศรชล.” เป็นต้น
ทั้งนี้ประกาศแต่ละฉบับที่ออกมาถูกระบุขาดการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย และเร่งบังคับใช้กฎหมายแบบไม่มีมาตรการรองรับผลกระทบที่เกิดขึ้น ทำให้ชาวประมงส่วนใหญ่รู้สึกท้อใจและมองว่ารัฐบาลไม่ส่งเสริมอาชีพประมง ยิ่งมาผนวกกับเวลานี้โควิด-19 ทำให้แรงงานต่างด้าวขาดแคลนจากกลับประเทศ และมีต้นทุนภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ประกอบกับเวลานี้กรมประมงได้กำหนดให้เรือประมงสามารถทำการประมงได้เพียง 240 วัน หรือเป็นเวลา 8 เดือนต่อปี (เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.- 31 มีนาคม) ในขณะที่ภาคประมงต้องแบกรับค่าใช้จ่ายด้านแรงงานที่ต้องจ่ายครบทั้ง 12 เดือน ทำให้เกิดปัญหาขาดทุนสะสม รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย ส่งผลต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ได้ผลกระทบในเวลานี้มูลค่าไม่ตํ่ากว่า 4 แสนล้านบาท (ปัจจุบันเรือประมงมีใบอนุญาต 1.06 หมื่นลำ ออกไปจับปลาเพียง 6,000 ลำ)
หากเรือประมงซึ่งเป็นต้นนํ้าของอุตสาหกรรมมีการ “เลิกอาชีพ” สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ประเมินมูลค่าความเสียหายขั้นต่ำต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องทั้งระบบไม่ต่ำกว่า 6 แสนล้านบาท รวมถึงจะกระทบแรงงานประมงและแรงงานธุรกิจเกี่ยวเนื่องทั้ง 22 จังหวัดชายทะเล จะมีคนตกงานไม่ตํ่ากว่า 2 แสนคน
สอดคล้องกับข้อมูลของนางสุภาวดี โชคสกุลนิมิต ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดปัตตานี และกรรมการผู้จัดการบริษัท ชัยเจริญมารีน (2002) จำกัด ที่ระบุว่า “เรือ 1 ลำ” จับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้าตั้งแต่อุปโภค บริโภค นํ้ามัน ค่าแรงคนระดับล่าง ระดับกลาง ส่งผลให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในธุรกิจหลายรอบประมาณ 6 แสนล้านบาทต่อปี และยังมีอาชีพที่ได้รับผลกระทบทางอ้อม อาทิ หาบเร่, แผงลอย, แม่ค้าตลาด, ร้านอาหาร และโรงแรมที่นำอาหารทะเลไปขายหรือแปรรูป ดังนั้นหากเรือประมงเลิกอาชีพทุกอย่างจะจบไปโดยปริยาย
เพื่อเร่งแก้ไขปัญหา ทางสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ได้เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาเร่งด่วน ใน 3 เรื่อง คือ 1 ปรับปรุง พ.ร.ก.ประมงทั้ง 2 ฉบับ 2.ขอให้ตั้งคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาประมงระดับชาติ และ 3.ขอให้ยกเลิกกรรมการเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาทำประมงผิดกฎหมาย (ฉ1) และติดตามแรงงานภาคประมง(ฉ2) และขอให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธานแก้ไขปัญหาประมงระดับชาติ
ผู้ประกอบการยังได้ยกตัวอย่างมาตรการที่มองว่าไม่เป็นธรรมและขอให้ผ่อนคลายกฎระเบียบโดยเร็ว อาทิ การแจ้งเข้าออก-เรือประมง คนในเรือ มี 10 คน เกิดสลับกัน เช่น หม่อง ก. กลับบ้าน หม่อง ข. เข้ามาแทน นาย ก. ผิดคน นายจ้างจะโดนปรับ 5 แสนบาท และถูกยึดสัตว์นํ้าทั้งหมด (มูลค่า 5 แสนบาท-1 ล้านบาท) และถูกพักใช้ใบอนุญาต 45 วัน (แต่ยังต้องจ่ายค่าแรงงาน 1.5 หมื่นบาทต่อคนต่อเดือนรวมทั้งค่าที่พักและอาหาร) และถ้าผิด 2 คนก็โดนปรับเป็นล้านบาท เป็นต้น เนื่องจากเป็นโทษที่ปรับตามจำนวนคนผิด นอกจากนี้การขึ้นสัตว์นํ้า จะต้องส่งบันทึกการทำประมง หากลงข้อมูลผิดพลาดจากแรงงานต่างด้าวเข้าใจผิดก็จะโดนปรับในข้อหาเดียวกัน ตั้งคำถามว่าประมงจะประกอบอาชีพได้อย่างไร
สำหรับข้อเรียกร้องของชาวประมง หากไม่ได้รับการแก้ไข หรือมีสัญญาณตอบรับจากรัฐบาลก็จะประกาศ “เลิกอาชีพ” ในวันที่ 9 กันยายนนี้ พร้อมกับสมาคมประมง 22 จังหวัด จะมีการจัดประชุมสมาชิก เพื่อรับมติที่ประชุมใหญ่ในการกำหนดวัน เวลาในการเดินเท้าเข้าพบพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาลต่อไป
การเคลื่อนไหวของชาวประมงในครั้งนี้ นอกจากมีเดิมพันในการเลิกอาชีพประมงครั้งใหญ่สุดของประเทศที่จะส่งผลต่อห่วงโซ่ประมงที่เกี่ยวเนื่องมูลค่ารวมกว่า 6 แสนล้านบาทที่อาจต้องปิดตัวลงแล้ว ยังจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และเสถียรภาพรัฐบาลตามมา ซึ่งไม่ว่าจะเป็นเพียงแค่คำขู่ หรือทำจริง ถือเป็นอีกโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลที่ต้องรับฟังและเร่งแก้ไข และต้องติดตามบทสรุปว่าจะเป็นเช่นไร
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง