ครม.อนุมัติแผนการคลัง 4 ปี ขาดดุลงบ 3 ล้านล้าน หนี้คงค้างแตะ 69.30%

24 ธ.ค. 2567 | 10:42 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ธ.ค. 2567 | 10:50 น.

มติครม.อนุมัติแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2569 - 2572) จัดทำงบประมาณขาดดุลต่อเนื่องรวมกันกว่า 3 ล้านล้านบาท ดันหนี้สาธารณะคงค้างแตะ 69.30% ต่อ GDP เป้าหมายนโนบายการเงิน ดันเงินเฟ้อ 1-3%

วันนี้ (24 ธันวาคม 2567) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ประชุมครม. มีมติเห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2569 - 2572) ตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ เสนอ

สำหรับเป้าหมายและนโยบายการคลัง ครม.รับทราบรายงานว่า ปัจจุบันภาคการคลังของไทยยังคงเผชิญกับความท้าทายหลากหลายด้าน ทั้งจากการดำเนินนโยบายเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะสั้น ท่ามกลางสถานการณ์ความเสี่ยงจากความผันผวนในระบบเศรษฐกิจที่ยังอยู่ในเกณฑ์สูง และการดำเนินการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว 

ทั้งนี้จากการดำเนินนโยบายการคลังทั้งระยะสั้นและระยะยาวดังกล่าว จึงอาจส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้และการจัดสรรงบฯ ของรัฐบาล ก่อให้เกิดภาระทางการคลังที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นในการดำเนินนโยบายการคลังระยะปานกลาง ภาครัฐมุ่งเน้นการฟื้นฟูสภาพทางการคลังให้กลับสู่สภาวะที่แข็งแกร่งและยั่งยืนในอนาคต โดยการเพิ่มศักยภาพทางการคลัง ทั้งในด้านการเพิ่มรายได้อย่างเหมาะสมผ่านการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการบริหารการจัดเก็บรายได้ การขยายฐานภาษี 

ประกอบกับการจัดสรรงบประมาณ อย่างคุ้มค่าตามนโยบายสำคัญของรัฐบาล รวมถึงการบริหารจัดการหนี้สาธารณะอย่างยั่งยืนในเชิงรุกและการรักษาวินัยในการชำระหนี้ รวมทั้งคำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งเตรียมความพร้อมในการดำเนินนโยบายเพื่อรองรับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในระยะต่อไปในอนาคต

อย่างไรก็ตามในเป้าหมายการคลังของแผนการคลังยังมีความจำเป็นต้องจัดทำงบฯ แบบขาดดุล เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และมุ่งเน้นการปรับลดขนาดการขาดดุลให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมในระยะปาน สำหรับเป้าหมายการคลังในระยะยาว รัฐบาลจะมุ่งสู่การดำเนินนโยบายการคลังอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงการรักษาระดับหนี้สาธารณะให้อยู่ในเกณฑ์ที่บริหารจัดการได้ 

ควบคู่กับการส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ เพื่อให้ภาคการคลังของประเทศเข้าสู่จุดดุลยภาพ (Fiscal Equilibrium) รวมถึงเสริมสร้างความคล่องตัวในการปรับเปลี่ยนโยบายเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์เศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างยืดหยุ่น เหมาะสม และทันการณ์

รายงานข่าวระบุว่า ตามแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2569 - 2572) มีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

รายได้รัฐบาลสุทธิ

  • ปี 2569 อยู่ที่ 2.92 ล้านล้านบาท
  • ปี 2570 อยู่ที่ 3.10 ล้านล้านบาท
  • ปี 2571 อยู่ที่ 3.24 ล้านล้านบาท
  • ปี 2572 อยู่ที่ 3.39 ล้านล้านบาท

งบประมาณรายจ่าย

  • ปี 2569 อยู่ที่ 3.78 ล้านล้านบาท
  • ปี 2570 อยู่ที่ 3.86 ล้านล้านบาท
  • ปี 2571 อยู่ที่ 3.97 ล้านล้านบาท
  • ปี 2572 อยู่ที่ 4.09 ล้านล้านบาท

ดุลการคลัง

  • ปี 2569 ขาดดุล 8.6 แสนล้านบาท
  • ปี 2570 ขาดดุล 7.6 แสนล้านบาท
  • ปี 2571 ขาดดุล 7.2 แสนล้านบาท
  • ปี 2572 ขาดดุล 7.0 แสนล้านบาท

หนี้สาธารณะคงค้าง

  • ปี 2569 อยู่ที่ 13.46 ล้านล้านบาท คิดเป็น 67.30% ต่อ GDP
  • ปี 2570 อยู่ที่ 14.24 ล้านล้านบาท คิดเป็น 68.50% ต่อ GDP
  • ปี 2571 อยู่ที่ 14.98 ล้านล้านบาท คิดเป็น 69.20% ต่อ GDP
  • ปี 2572 อยู่ที่ 15.64 ล้านล้านบาท คิดเป็น 69.30% ต่อ GDP

ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP)

  • ปี 2569 อยู่ที่ 20.08 ล้านล้านบาท
  • ปี 2570 อยู่ที่ 20.89 ล้านล้านบาท
  • ปี 2571 อยู่ที่ 21.74 ล้านล้านบาท
  • ปี 2572 อยู่ที่ 22.67 ล้านล้านบาท

นอกจากนี้ที่ประชุมครม. ยังอนุมัติเป้าหมายของนโยบายการเงินสำหรับระยะปานกลาง และเป้าหมายสำหรับปี 2568 ซึ่งกำหนดเป้าหมายของนโยบายการเงินไว้ที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วง 1-3% ทั้งนี้เมื่อครม.อนุมัติแล้ว จะได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป