“ข้าวหอมมะลิ” โคม่า คาดรัฐจ่ายชดเชย 2 หมื่นล้าน

23 ก.ย. 2563 | 06:50 น.

“ข้าวหอมมะลิ” โคม่า "วิชัย" เผยโรงสีขาดสภาพคล่องหนัก-แบกสต็อก คาดรัฐแบกชดเชยประกันรายได้อ่วมไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นล้าน “เกรียงศักดิ์-บรรจง” แห่ร่วมยินดี ชาวนาอีสานโวยสมาคมซื้อเฉพาะ “กข6-ข้าวหอมมะลิ” ผวาชนิดข้าวอื่นโดนลอยแพ

วิชัย ศรีนวกุล

 

นายวิชัย ศรีนวกุล นายกสมาคมคนแรกของ สมาคมโรงสีข้าวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงประเด็นปัญหาของสมาชิกที่มีคั่งค้างอะไรบ้าง ซึ่งไม่ได้มีกำหนดนโยบายวิสัยทัศน์อะไร เพราะไม่ได้มีกำหนดนโยบายแบบนักการเมือง แต่ว่าในสิ่งที่จะช่วยเหลือดูแลก็ต้องดูเป็นหลักก่อนเป็นลำดับแรก อาทิ สภาพคล่องของโรงสี เป็นต้น จะรีบเสนอให้ภาครัฐได้แก้ปัญหา เนื่องจากเกรงว่าจะมีผลกระทบกับราคาข้าวที่จะซื้อขายเกิดขึ้น เพราะมองหลายประเด็นปัญหาที่วิเคราะห์กันว่าน่าจะเกิดปัญหาในรอบนี้ที่ชาวนาจะมีการเก็บเกี่ยวข้าวประมาณเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน นี้ เมื่อเกิดปัญหาจะต้องเร่งชี้แจงให้กับภาครัฐบาลทราบโดยด่วน

 

ผลผลิตของข้าวในภาคอีสานคาดการณ์ว่าจะมีปัญหา เพราะว่าหลายพื้นมีทั้งดีและไม่ดีปะปนกันอยู่ในหลายพื้นที่ ซึ่งพายุที่เข้ามา เป็นช่วงต้นข้าวเหลือง และต้นหญ้าสูง พอฝนมาก็เหมือนกับมาเลี้ยงต้นหญ้าให้สูงขึ้นไปอีก ไทม์มิ่งเข้ามาไม่ถูกจังหวะ คาดว่าประมาณกลางเดือนตุลาคมข้าวจะต้องแทงรวงออกหมดแล้วจะมีโอกาสได้หรือไม่ แต่ถ้าไม่แทงรวงออกมา ต้นหญ้าปกคลุม หมายความว่าแปลงนั้นก็ไม่ได้ข้าวแล้ว ตอนนี้ผลผลิตหายไป ชาวนาได้ผลผลิตน้อยลง ซึ่งหลักการหากซัพพลายมีน้อย ราคาจะต้องปรับขึ้นตามกลไกตลาดจะต้องดี

 

“ข้าวหอมมะลิ” โคม่า คาดรัฐจ่ายชดเชย 2 หมื่นล้าน

 

"แต่ปลายฤดูราคาข้าวหอมมะลิ กลับถดถอยลงต่ำมาก โดยเฉพาะราคาส่งออกร่วงลงมาไม่มีเหตุผล หรือเหตุลว่าผู้ซื้อไม่ซื้อ ซึ่งสมาคมก็เป็นห่วง สินค้ามีน้อย แต่ราคาลงต่ำ ต่อไปฤดูกาลจะเก็บเกี่ยวปลายตุลาคม ต้นพฤศจิกายนนี้ ผลผลิตออกมาราคาจะเป็นอย่างไร นี่คือ ทุกคนเป็นห่วง โดยเฉพาะรัฐบาลมีนโยบายประกันรายได้ ปีนี้คาดการณ์ว่าจะได้จ่ายชดเชยแน่นอน เพราะราคามีแนวโน้มตกต่ำ มีการรวบรวมและประเมินตัวเลขกันอยู่"

 

นายวิชัย กล่าวว่า ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิปรับลงมา ตันละ 1.2 หมื่นบาท และถ้าข้าวใหม่เก็บเกี่ยวออกมาเท่ากับรัฐบาลจะต้องจ่ายชดเชยตันละ 1.5 หมื่นบาทต่อตัน  เท่ากับว่า จ่ายชดเชยตันละ 3,000 บาท/ตัน ในขณะประเมินข้าวรัฐบาลหอมมะลิ จะมีผลผลิตประมาณ 7 ล้านตัน ดังนั้นหากคำนวณออกมารัฐจะต้องจ่าย 2 หมื่นล้านบาท แล้วถ้าเกิดราคาปรับลงไปกว่านี้อีกจะทำอย่างไร รัฐก็ต้องจ่ายชดเชยเพิ่มขึ้นอีก  สถานการณ์ข้าวหอมมะลิปีนี้ ผลผลิตน้อย ขายได้ราคาต่ำ โรงสีก็มีสต็อกแม้จะไม่มาก แต่ขาดสภาพคล่อง ดังนั้นก็เป็นโจทย์ที่ให้รัฐบาลต้องคิดต่อ เพราะวันนี้ได้เห็นปัญหาข้างหน้าที่จะเกิดขึ้น ดังนั้นจึงอยากให้ลงมาดู และรีบแก้เพื่อมีทางออกเร็วที่สุด ที่จะกระทบกับชาวนาให้น้อยที่สุด

 


 

ปราโมทย์ เจริญศิลป์

 

นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า จากกรณีที่สมาคมโรงสีข้าวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อีสาน  มีสมาชิก 160 โรงมุ่งเน้นที่จะสีข้าวเกรดพรีเมี่ยมคุณภาพดีคือ ข้าวนาปี “ข้าวหอมมะลิ” และ “ข้าวเหนียว กข6”  นั้น ชาวนาอีสานไม่พอใจ ซึ่งก็ได้มาร้องเรียนที่สมาคม จะเน้นที่ 2 ชนิดข้าวไม่ได้ เพราะชาวนาปลูกข้าวชนิดอื่นด้วย จะเลือกแค่ 2 ชนิดข้าว ไม่ถูกต้อง ดังนั้นไม่ควรที่จะตั้งสมาคมหากเป็นเช่นนี้ เพราะแสดงเจตนารมย์ชัดเจนว่าช่วยชาวนาไม่จริง ผมเดือดมาก หากเป็นอย่างนี้ผมจะไม่ยอมให้สมาคมได้แจ้งเกิด ถือว่าเป็นการรังแกชาวนา

 

 

“ตกลงข้าวเปลือกที่ปลูกในนา เป็นของใคร เป็นของ สมาคมโรงสีข้าวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(โรงสีอีสาน)หรือข้าวของชาวนา คุณจะมาห้ามปลูกโน้นนี้ รัฐช่วยชาวนาเข้าคิดพยายามช่วยชาวนาให้มีรายได้ และทาวโรงสีอีสานช่วยอะไรชาวนา บ้าง อย่ามาทำตัวเป็นเจ้าของข้าว ภาคอีสานมีการปลูกข้าวทั้งไวแสง ไม่ไวแสง มีปลูกทั้งนาปีและนาปรังชาวนาคิดเป็น ว่าปลูกอะไรได้เงินมากกว่า เหมือนโรงสีอีสาน สีข้าวอะไรได้เงินมากกว่า”

 

นายปราโมทย์ กล่าวว่า  ถ้าชาวนารอขายข้าวให้โรงสีของสมาคมอีสาน ชาวนาตายอย่างเดี๋ยวถูกล้อมกรอบแน่ๆ จริงๆข้าวหอมมะลิต้นปีที่ออกมา มีการกระจายไปทั่วตามภาคต่างๆไม่ใช่มีโรงสีของสมาคมโรงสีข้าวอีสานเท่านั้น ส่วน    มาตรฐานข้าวนุ่ม สมาคมโรงสีข้าวอีสานจะมายุ่งทำไม ราคาข้าวสาร ตันละสามพันกว่า เหลือ สองพันกว่า แต่ทำไมข้าวถุงที่ขายราคาไม่ลง ดังนั้นควรให้กระทรวงพาณิชย์ ส่งเจ้าหน้าที่นำไปตรวจสอบDNAข้าวหอมมะลิ ที่วางจำหน่ายตามห้างตามร้านค้า ติดฉลากที่ถุงว่าเป็นข้าวหอมมะลิ จริงๆเป็นข้าวหอมมะลิหรือไม่

 

 

 

 

นายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์

 

ด้านนายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีกับสมาคมสมาคมโรงสีข้าวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ก็ขอให้เป็นที่พึ่งของโรงสี คิดว่าการก่อตั้งสมาคมเป็นเรื่องระยะยาวที่จะต้องก้าวเดินไปข้างหน้า และให้เป็นที่พึ่งของเกษตรกรด้วย เพื่อให้เกษตรกรได้รับประโยชน์ตรงนี้ด้วย เพราะความจริงสมาชิก 2 สมาคม ทั้ง 2 สมาคมก็มีการซ้อนกันไป ท้ายสุดแล้วสมาชิกสมาคมโรงสีข้าวไทยก็ดูแลสมาชิกโรงสีข้าวภาคอีสาน ซึ่งมีจำนวนไม่น้อย ก็จะดูแลเช่นเดิม เช่นเดียวกับสมาชิกภาคอื่น

 

บรรจง ตั้งจิตรวัฒนากุล

 

นายบรรจง ตั้งจิตรวัฒนากุล ประธานกลุ่มโรงสีภาคเหนือตอนล่าง กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีกับท่านนายกสมาคมโรงสีข้าวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็มีพื้นที่การเพาะปลูกไร่นากว่า 30 ล้านไร่ เป็นประชากรส่วนหนึ่งที่ประมาณ 50% ของผลผลิต สิ่งที่สำคัญอีสาน เป็นภาพลักษณ์ของเรื่องข้าวคุณภาพดีของประเทศไทยเป็นอันดับหนึ่งของโลก ก็คือ ข้าวหอมมะลิ ที่ผ่านมาได้มีการรับรองแก้ไขหลายอย่างตลอดจนข้อมูลทันสมัยในเรื่องผลิตภัณฑ์ข้าว สิ่งที่เกิดขึ้นจึงมีความเห็นต่างกันจึงทำให้เกิดต้องรักษาภาพพจน์ และชัดเจนในเรื่องของธุรกิจของข้าว รวมถึงเกษตรกรชาวนา เป็นนิมิตหมายที่ดี หลังจากสมาคมโรงสีข้าวไทยได้ก่อตั้งมาแล้วมากกว่า 42 ปี วันนี้ได้มีสมาคมเพิ่มอีกหนึ่งสมาคม เป็นสมาคมโรงสีข้าวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งคุณวิชัยและทีมงานก็มีประสบการณ์การเรียนรู้ในเรื่องของสมาคมโรงสีข้าวไทย

 

โดยในอดีตคุณวิชัย เคยเป็นเลขาธิการ สมัยคุณ "บำรุง กฤชภากรณ์" เป็นนายกสมาคมโรงสีข้าวไทย และคุณนิพนธ์ วงษ์ตระหง่าน และอีกหลายๆ ท่านที่เป็นนายกสมาคม รวมทั้งตำแหน่งอุปนายกสมาคม ก็นั่งมาหลายสมัย เพราะฉะนั้นก็ถือว่าวันนี้ สมาคมโรงสีข้าวภาคอีสานประสบความสำเร็จในการจัดตั้งสมาคม ได้บุคลากรที่เหมาะสมมานั่งตำแหน่งต่างๆ ตั้งแต่นายกสมาคม เหรัญญิก อุปนายกสมาคม เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ในภาคอีสานจะมีการแจ้งเกิดของสมาคมอีกหนึ่งสมาคมดูแลเรื่องข้าวที่จะทำให้ราคาข้าวหอมมีความเหมาะสม รวมทั้งส่งผลถึงเกษตรกร มีส่วนที่เกี่ยวข้องกับนโยบายภาครัฐได้แสดงบทบาทในปัจจุบันและในอนาคตสืบเนื่องต่อไป