บี้“การบินไทย”สร้างทางรอดองค์กรยืดสภาพคล่องพ้นเส้นตายธ.ค.นี้

25 ก.ย. 2563 | 03:00 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ก.ย. 2563 | 09:06 น.

“ชาญศิลป์” ขับเคลื่อนการบินไทยสร้างทางรอดองค์กร 3-5 เดือนจากนี้ ยืดสภาพคล่อง แก้ปัญหาสถานะการเงินติดลบเดือนร่วม 2 พันล้านบาท ระหว่างรอศาลฯเห็นชอบ-แต่งตั้งให้บริหารแผนฟื้นฟู ช่วง Q1 ปีหน้า ทั้งลดค่าใช้จ่าย ดันแผนเพิ่มรายได้ทุกวิถีทาง

           การดำเนินงานของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หลังศาลสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ นับจากวันที่ 14 กันยายน 2563 ซึ่งระหว่างนี้อีก 3 เดือน คณะผู้ทำ แผนฟื้นฟู จะจัดทำรายละเอียดของแผน เพื่อเสนอศาลล้มละลายกลางอีกครั้ง เพื่อขอให้ศาลฯเห็นชอบและให้คณะผู้ทำแผน เป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูต่อไป เพื่อเข้าสู่การเจรจาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ลดทุน เพิ่มทุน ลดขนาดฝูงบิน และองค์กรเพื่อรีสตาร์ตธุรกิจตามแผนธุรกิจใหม่

            โดยคาดว่าจะแต่งตั้งผู้บริหารแผนภายในไตรมาส 1 ปี 2564 เพื่อให้การบินไทยออกจากแผนฟื้นฟูได้ภายใน 5 ปี ซึ่งปัจจุบัน การบินไทย มีทรัพย์สินอยู่ที่ 349,236 ล้านบาท มีหนี้สิน 352,494 ล้านบาท และมีหนี้ครบชำระ 10,248 ล้านบาท

บี้“การบินไทย”สร้างทางรอดองค์กรยืดสภาพคล่องพ้นเส้นตายธ.ค.นี้

       ดังนั้นในระหว่างนี้นอกจากคณะผู้ทำแผน จะจัดทำรายละเอียดของแผนฟื้นฟู เตรียมเสนอต่อศาล และขอบริหารแผนฟื้นฟูแล้ว การบริหารงานในการบินไทยเอง ขณะนี้ทางฝ่ายบริหารในแต่ละด้าน ก็มี แผนการสร้างทางรอดขององค์กรในอีก 3-5 เดือนนี้ หรือ แผนในแบบ Top Down ซึ่งหลักๆจะเป็นเรื่องของการลดรายจ่ายและการหารายได้เพิ่ม

      อีกทั้งนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร กรรมการบริษัท และรักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) การบินไทย ยังขอความร่วมมือพนักงาน ให้ช่วยกันเขียน แนวทางการหารายได้ การลดรายจ่าย การเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน เสนอแต่ฝ่ายบริหารในแต่ละสายงาน ภายในวันที่ 25 กันยายน เพื่อเสนอความเห็นในลักษณะ Bottom up ด้วยเช่นกัน  เพื่อยืดกระแสเงินสดออกไปให้อยู่ได้นานที่สุด 

บี้“การบินไทย”สร้างทางรอดองค์กรยืดสภาพคล่องพ้นเส้นตายธ.ค.นี้

       เพราะหากการบินไทย ไม่ทำอะไรเลย  จากประมาณการกระแสเงินสดล่าสุด (ณ เดือนสิงหาคม 2563) คาดว่าจะเหลือถึงเดือนธันวาคม2563 โดยเรื่องเร่งด่วน คือ การขอความร่วมมือพนักงานในการช่วยลดค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นอีก

       เนื่องจากสถานะการเงินของการบินไทย ณ เดือนสิงหาคม 2563 บริษัทมีรายได้และรายจ่าย ติดลบ 2 พันล้านบาทต่อเดือน ดีดี จึงขอความร่วมมือให้พนักงานเข้าร่วมโครงการ Together We Can  (สมัครใจลาหยุดโดยไม่รับเงินเดือน) เพิ่มขึ้น เพื่อให้ครบ100% จากปัจจุบันที่มีพนักงาน 14,641 คนเข้าร่วมโครงการ หรือคิดเป็นสัดส่วน 73.6% จากที่ยังขาดอยู่ราว 22% จากพนักงานที่ยังไม่ได้เข้าร่วมโครงการจำนวน 4,333 คน

        ขณะที่ฝ่ายบริหารแต่ละด้าน ในขณะนี้ต่างก็เดินหน้าตามแผนสร้างทางรอดองค์กร โดยฝ่าย สายกลยุทธ์องค์กรและพัฒนาอย่างยั่งยืน (DY) จะดำเนินการบริหารจัดการทรัพย์สินของบริษัท เพื่อนำมาสร้างรายได้ ทั้งการขายหรือให้เช่าเครื่องบิน และขายเครื่องยนต์อะไหล่และพัสดุอากาศยาน, การให้เช่าอสังหา ริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ทั้งในและต่างประเทศ เช่น การให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย(กพท.)เช่าอาคารลูกเรือ สำนักงานหลักสี่ ให้กลต.เช่า อาคาร 3 ชั้น 6-8 บริหารจัดการพื้นที่ว่างหลังอาคาร 9 สำหรับผู้สนใจในการพัฒนาพื้นที่ระยะยาว และการขายหุ้นในบริษัทร่วมลงทุน

        รวมถึงการหารายได้จากครัวการบินไทย ทั้งการเปิด ภัตตาคารการบินไทย ในธีม inflight service Pop-Up Dining Experience  ภายใต้โครงการ อร่อยล้นฟ้า ไม่ต้องบิน ก็ฟินได้ ทั้งที่สำนักงานใหญ่, สำนักงานสีลม ที่มีเมนูไฮไลท์ ปาทองโก๋,สำนักงานหลานหลวง, ภูเก็ต, เชียงใหม่ การขยายตลาดอาหารและเบเกอร์รี่ โดยร่วมมือกับพันธมิตร เช่น อะเมซอน,อินทนินท์,อโรมา หรือ 7-11 เป็นต้น 

        ด้าน ฝ่ายการเงิน และการบัญชี (DE) มีจุดโฟกัสใน 3 เรื่อง คือ การแก้ปัญหากระแสเงินสด,หารายได้เพิ่มทุกวิถีทาง,พนักงานทุกคนร่วมกันลดค่าใช้จ่ายให้ได้มากที่สุด เช่น การเตรียมแผนลดขนาดฝูงบินและขนาดองค์กร เปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจให้รวดเร็ว คล่องตัว เพิ่มสมรรถนะและทักษะที่จำเป็นสำหรับธุรกิจใหม่ การทดสอบความสามารถด้านภาษาอังกฤษ,ไอที, ทัศนคติ กับพนักงานทุกคน, สภาพการจ้างงานใหม่สวัสดิการและสิทธิประโยชน์ใหม่ เป็นต้น

       ขณะที่ สายการพาณิชย์ (DN) จะเน้นการจัดการเจ้าหน้า คู่ค้า และลูกค้า โดยตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค.-20 ส.ค.2563 ได้ปรับลดมูลหนี้ และลดจำนวนเจ้าหนี้โดยการเปลี่ยนแปลงจากการขอคืนบัตรโดยสารเป็นการเปลี่ยนเป็นบัตรแทนเงินสด (ทราเวล เวาเชอร์) จำนวน 1.37 ฉบับลดมูลหนี้ได้ 133.5 ล้านบาท การยกเลิกระบบสถิติวิเคราะห์ตลาด ประหยัดได้ 8 ล้านบาทต่อเดือน จัดการระบบการจัดจำหน่ายทั่วโลก คาดประหยัดได้ 6.9 ล้านบาท

          การยกเลิกค่าส่วนแบ่งการขาย (0 % มาร์เก็ต คอมมิชั่น) คาดประหยัด 882 ล้านบาท ประกาศให้พนักงานผู้จัดการประจำสาขาต่างประเทศกลับไทย จากการระบาดโควิด-19 ประหยัดได้ 198.3 ล้านบาทต่อเดือน

      อีกทั้งจากนี้สายการพาณิชย์ยังมีแผนดำเนินการในสเต็ปต่อไป คือ 1. การสร้างรายได้ที่ยั่งยืน อาทิ การรีสตาร์ทเที่ยวบิน,การเปิดขายอีลิท การ์ด 2.ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เช่น ดาวน์ไซซ์สำนักงานต่างประเทศและต่างจังหวัด,การโฆษณาผ่านช่องทางดิจิทัลมากขึ้น 3.พัฒนาระบบดิจิตอล แพลตฟอร์ม ,การทำการตลาดดิจิทัล เช่น ใช้ระบบการปรับเปลี่ยนวัน/เวลาเดินทางได้เองผ่านอินเทอร์เน็ต คาดว่าจะสร้างรายได้ 212 ล้านบาท 

         รวมไปถึงการเปิดบริการชั้นพรีเมี่ยม อีโคโนมี,ร่วมมือกับโรงแรมระดับ4-5 ดาวและโรงพยาบาล ทำแพ็คเกจเจาะกลุ่มเฮลธ์แอนด์เวลเนส การร่วมกับบัตรเครดิตทั้งในไทยและต่างประเทศ จัดทำโปรแกรม บินก่อน จ่ายทีหลัง ผ่อน 0% ไม่มีดอกเบี้ย

             ส่วน สายปฏิบัติการบิน (DO) ในช่วงนี้ก้มีโครงการ THAI Flying Experience & Beyond เปิดให้คทั่วไปหาประสบการบิน จากห้องจำลองการบิน(ซีมูเลเตอร์) เป็นต้น

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
การบินไทย โยกย้ายผู้บริหาร-พนักงาน กราวรูด 23 ตำแหน่ง
ภัตตาคาร “การบินไทย” สีลม สุดฮ้อต “ปาท่องโก๋” กับ "สังขยา"เจ้าจำปี
การบินไทย ประกาศ ลดเงินเดือนสูงสุด70%-ลาไม่รับค่าจ้าง ถึงธ.ค.นี้

การบินไทย เปิดขายแพ็คเกจขับเครื่องบินในซีมูเลเตอร์เพิ่มรายได้
การบินไทย เปิด 4 พื้นที่ให้เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้
ภัตตาคาร "การบินไทย" Inflight servicePop-Up Dining แห่งแรกของโลก