เกษตร-พาณิชย์ แข่งโชว์ผลงาน 12 นโยบายเร่งด่วนรัฐบาล

28 ก.ย. 2563 | 04:25 น.

" เกษตรฯ -พาณิชย์” โชว์ผลงาน 12 นโยบายเร่งด่วนรัฐบาล “ลุงตู่” เผยจ่ายเยียวยาน้ำท่วม-แล้งแล้วกว่า 4 พันล้าน  ดึง 245 บริษัททำพันธเกษตรสัญญา ป้องเกษตรกรถูกอาเปรียบ ชดเชยประกันรายได้ 5 พืชเกษตรแล้ว 5 หมื่นล้าน นักวิชาการแนะไม่ควรประกันฯเกิน 3 ปี ต้นเหตุ ไม่ “ทรานส์ฟอร์ม"

นับแต่วันที่ 25 กรกฎาคม 2562 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา ส่วนหนึ่งมีนโยบายเร่งด่วน 12 เรื่อง ที่จะต้องดำเนินการเพื่อบรรเทาปัญหาและลดผลกระทบกับประชาชนและระบบเศรษฐกิจของประเทศ ล่าสุดกระทรวงที่เกี่ยวข้องได้ส่งรายงานผลการดำเนินงาน 1 ปี ตามนโยบายเร่งด่วน 12 เรื่องให้กับสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีรับทราบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2563 ซึ่งสำนักโฆษกได้ขอให้ทุกกระทรวงได้เร่งดำเนินการประชาสัมพันธ์ผลงานผ่านสื่อต่างๆ และรายงานผลไปยังสำนักโฆษกภายในวันที่ 9 ตุลาคมเพื่อนำเรียนนายกรัฐมนตรีรับทราบต่อไปนั้น

 

น.สพ.สรวิศ ธานีโต

 

น.สพ.สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ในฐานะโฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงนโยบายเร่งด่วน 12 เรื่องที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินการแล้ว ที่สำคัญได้แก่การช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบปัญหาภัยพิบัติทั้งภัยแล้ง-น้ำท่วม-วาตภัย ลูกเห็บโดยได้ จ่ายเยียวยาเกษตรกรไปแล้ว รวมกว่า 4,200 ล้านบาท แบ่งเป็น 1. “ภัยแล้ง” จากการรายงานของศูนย์อำนวยการด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร ช่วงภัยเดือนกันยายน 2562 ถึงปัจจุบัน ด้านพืช ประสบภัย 27 จังหวัด เกษตรกร 2.62 แสนราย  จ่ายเงินช่วยเหลือแล้ว  1.78 แสนราย พื้นที่ 1.69 ล้านไร่ จำนวนเงินกว่า 1,899 ล้านบาท และอยู่ระหว่างการขอขยายวงเงินทดรองฯ กับกระทรวงการคลัง 2 จังหวัด (อุทัยธานีและสงขลา วงเงินกว่า 54 ล้านบาท) ด้านปศุสัตว์ ประสบภัย 2 จังหวัด (กาญจนบุรี นครราช สีมา) เกษตรกร  1,783 ราย สัตว์ที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัยกว่า 5 หมื่นตัว

 

2.อุทกภัย (ช่วงภัยวันที่ 24 ส.ค.62 - 3 มี.ค.63) ด้านพืชพบความเสียหาย 30 จังหวัด ช่วยเหลือตาม ระเบียบฯ เกษตรกร 2.41 แสนราย พื้นที่ 1.99 ล้านไร่ วงเงินให้ความช่วยเหลือกว่า 2,231 ล้านบาท ด้านประมง เสียหายแล้ว 24  จังหวัด เกษตรกร 1.35 หมื่นราย พื้นที่เสียหายสิ้นเชิงรวม 1.2 หมื่นราย คิดเป็นวงเงินกว่า 60 ล้านบาท นอกจากนี้มีพื้นที่เกษตรประสบวาตภัยลูกเห็บ 25 จังหวัด พื้นที่ 3,526 ไร่ วงเงินกว่า 5 ล้านบาท เป็นต้น

 

เกษตร-พาณิชย์ แข่งโชว์ผลงาน 12 นโยบายเร่งด่วนรัฐบาล

 

ขณะเดียวกันกระทรวงเกษตรฯยังได้ปฏิรูประบบเกษตรพันธสัญญาให้เป็นธรรม โดยได้ออกกฎหมายลำดับรอง (ประกาศ/ระเบียบ) 6 ฉบับ รับแจ้งและขึ้นทะเบียนผู้ประกอบธุรกิจ 245 ราย และโครงการการปฏิบัติการฝนหลวง 1,819 วัน  พื้นที่ได้รับประโยชน์ 218.08 ล้านไร่ พื้นที่การเกษตรได้รับการช่วยเหลือ ร้อยละ 74% เติมน้ำในเขื่อนได้ร้อยละ 85% เป็นต้น

 

เช่นเดียวกับกระทรวงพาณิชย์ รายงานผลงาน อาทิ โครงการประกันรายได้ 5 พืชเกษตร (ข้าว,มันสำปะหลัง, ยางพารา,ข้าวโพด,ปาล์มน้ำมัน) สามารถช่วยเหลือเกษตรกรบรรเทาความเดือดร้อนจากราคาสินค้าตกต่ำ กว่า 4.8 ล้านครัวเรือน ใช้งบกว่า 5 หมื่นล้านบาท (กราฟิกประกอบ) พ่วงมาตรการเร่งรัดขยายตลาดส่งออกเชิงรุก สินค้าเกษตรและอาหาร สร้างมูลค่าการค้ารวมกว่า 4.3 หมื่นล้านบาท อาทิ  สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับสร้างมูลค่าการค้า 1,188  ล้านบาท  สินค้าฮาลาล 8,258 ล้านบาท  ธุรกิจบริการสร้างมูลค่าการค้า 4,016 ล้านบาท เป็นต้น

ศิวะ ศรีชาย

 

ด้านนายศิวะ ศรีชาย เกษตรกรชาวสวนยางจากจังหวัดพัทลุง กล่าวว่า ยางพาราได้รับการชดเชยจากโครงการประกันรายได้เพียง 6 เดือน เทียบกับพืชตัวอื่น ได้รับการชดเชยรายได้ทั้งปี มองว่าไม่ค่อยยุติธรรม

รศ.สมพร อิศวิลานนท์

 

ด้าน รศ.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ กล่าวว่า โครงการประกันรายได้พืชเกษตรดีกว่าโครงการรับจำนำข้าวคือ จ่ายแค่ส่วนต่างของราคาตลาด แต่ข้อเสียทำให้เกษตรกรไม่พัฒนา ยังคงทำแบบเดิม ดังนั้นรัฐบาลควรทำระยะสั้นไม่ควรเกิน 3 ปี ต้องเลิก ไม่เช่นนั้นจะเกิดผลเสียในระยะยาว

 

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,613 วันที่ 27 - 30 กันยายน พ.ศ. 2563