กยท. คิกออฟ “ชะลอการขายยาง” หวังดันราคาพุ่ง

04 ต.ค. 2563 | 06:45 น.

ภาคเหนือมาแรง บอร์ด กยท. เผยความสำเร็จ โปรเจ็กต์ “ชะลอการขายยาง” มีสถาบันเกษตรกร/สหกรณ์/วิสาหกิจ เข้าร่วมโครงการได้รับเงิน 80% ให้เก็บยางไว้ที่บ้าน เตรียมขยายทั่วประเทศ

สวัสดิ์ ลาดปาละ

 

นายสวัสดิ์ ลาดปาละ ประธานกรรมการเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ระดับเขตภาคเหนือ  เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”  โครงการชะลอการขายยาง เริ่มเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2563 โดยวัตถุประสงค์ของโครงการก็เพื่อชะลอการขายยาง ได้แก่ 1. เพื่อชะลอปริมาณผลผลิตยางพาราออกสู่ตลาดเพื่อลดความผันผวนนของราคายาง 2.เพื่อให้เกษตรกรชาวสวนยาง สถาบัน เกษตรกรชาวสวนยางเขตภาคเหนือ มีสภาพคล่องทางการเงินในระหว่างรอขายผลผลิต ซึ่งวิธีการไม่ยาก ยกตัวอย่างกลุ่มสหกรณ์ น้ำยางก้อนถ้วย รวบรวมไว้ 15 วัน จะขาย แต่เมื่อพิจารณาแล้วราคาไม่ดี  ก็ไม่ขาย ก็จะต้องแจ้งไปยัง กยท. เพื่อให้มาตรวจสต็อกว่าจำนวนน้ำยางที่รวบรวมไว้นั้นมีทั้งหมดกี่ตัน คิดคำนวณเป็นเงินเท่าไร

 

กยท. คิกออฟ “ชะลอการขายยาง” หวังดันราคาพุ่ง

 

“สมมติมี มีน้ำยางก้อนถ้วย 20 ตัน ทางเจ้าหน้าที่ กยท. จะแจ้งไปที่ตลาดราคากลาง เพื่อสอบถามราคา  ราคาจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 20 บาท ราคา 4 แสนบาท ทางกยท.ก็จะโอนเงินมาให้ 80% ก็คือ 3.2 แสนบาท  ยังไม่ต้องขายยาง แต่นำเงินไปให้ชาวบ้านใช้ก่อน เรียกว่า “ถ้าไม่พอใจขายก็ยังไม่ต้องขาย” เมื่อก่อนไม่ขายไม่ได้ พ่อค้าบอกราคาเท่านี้ ก็ต้องเท่านี้แล้วก็ขายไป แต่วันนี้ ก็มีอำนาจการต่อรองกับพ่อค้าแล้ว”

 

 

 

 

สุนทร รักษ์รงค์

นายสุนทร รักษ์รงค์ กรรมการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โครงการสินเชื่อชะลอการขายยาง เริ่มแล้ว ที่เกษตรกรชาวสวนยาง เขตภาคเหนือ ซึ่งมีคนเข้าร่วมโครงการจะได้รับเงิน 80 % จาก กยท.อ้างอิงราคายางก้อนถ้วยในวันนั้น โดยให้เก็บยางไว้ที่บ้าน จนได้ DRC 75%  เป้าหมายเพื่อผลักดันราคายางก้อนให้สูงขึ้น และกำลังขยายโครงการไปยังทุกเขต กยท.ทั่วทั้งประเทศ ตามชนิดยางของแต่ละภูมิภาค