Liberator ชี้ตลาดหุ้นไทยยังผันผวน กรอบ 1,430-1,460 จุด ติดตาม MSCI ปรับพอร์ต

25 พ.ย. 2567 | 03:17 น.
อัปเดตล่าสุด :25 พ.ย. 2567 | 03:18 น.

บล.ลิเบอเรเตอร์ คาด SET Index วันนี้ 25 พ.ย.67 ผันผวน กรอบ 1,430-1,460 จุด เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังแกร่ง กระตุ้นดอลลาร์แข็งค่า ด้านในประเทศ ปลดล็อกประเด็นการเมือง คาดหวังมาตรกระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มจิตวิทยาบวก ส่วนวันนี้ท้ายตลาดติดตาม MSCI Rebalancing

นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐาน บริษัทหลักทรัพย์ ลิเบอเรเตอร์ จำกัด (Liberator) ประเมินทิศทางตลาดหุ้นไทยวันนี้ 25 พ.ย.67 ว่า โดยมีปัจจัยมาจากวันศุกร์ที่ผ่านมา (22 พ.ย.67) สหรัฐฯ รายงานดัชนีชี้นำทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่งต่อเนื่อง นำโดย ดัชนี PMI ภาคการผลิต เดือน พ.ย. ขึ้นสู่ระดับ 48.8 จาก 48.5 จุด ในเดือน ต.ค. ใกล้เคียงคาด

ส่วนดัชนี PMI ภาคบริการ เดือน พ.ย. อยู่ที่ 57 จุด เพิ่มจากระดับ 55 จุด ซึ่งดีกว่าคาด จากภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังแข็งแกร่ง ส่งผลให้ตลาดประเมินโอกาสที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) จะปรับลดดอกเบี้ยในเดือน ธ.ค. เหลือเพียง 53% และหนุนให้ Dollar Index ยังแข็งค่าต่อเนื่อง สู่ระดับ 107.5 จุด ถือเป็นระดับแข็งสุดในรอบ 2 ปี

ด้านปัจจัยในประเทศช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ผ่อนคลายทางการเมืองมากขึ้น หลังศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องประเด็นคุณทักษิณ ล้มล้างการปกครอง กระตุ้นจิตวิทยาเชิงบวกต่อการลงทุน ขณะที่สัปดาห์นี้แนะติดตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐฯเพิ่มเติม รวมไปถึงตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญ เช่น ยอดการส่งออกไทย เดือน ต.ค. และรายงานภาวะเศรษฐกิจรายเดือน จาก ธปท.

ส่วนวันนี้แนะเกาะติดการปรับดัชนี MSCI Rebalancing โดยคาดไทยน่าจะมีเม็ดเงินไหลออกเล็กน้อย ท่ามกลางปริมาณซื้อขายที่สูงกว่าวันปกติ ส่วนหุ้นในรอบนี้จะมีการปรับ SCGP ออกจากดัชนี MSCI Global Standard ส่วนดัชนี MSCI Global Small Cap Index จะมีการนำ CCET เช้าคำนวนใหม่ และนำ TQM ออกจากการคำนวนดัชนี 

ปัจจัยที่ต้องจับตา

25 พ.ย.67

  • MSCI Rebalancing 

26 พ.ย.67

  • ส่งออกไทย
  • ยอดขายบ้านใหม่ สหรัฐฯ
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค สหรัฐฯ
  • รายงานการประชุม FED รอบล่าสุด 

27 พ.ย.67

  • ผลผลิตภาคอุตสาหรรมไทย & จีน, 
  • GDP ไตรมาส 3/67 สหรัฐฯ (ครั้งที่ 2)
  • ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน สหรัฐฯ
  • ผู้ขอรับสวัสดิการรายสัปดาห์ สหรัฐฯ
  • Core PCE สหรัฐฯ

หุ้นเด่นแนะนำ

  • BH ราคาเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ 240.00 บาท ราคาหุ้นช่วงที่ผ่านมาย่อแรง รับงบไตรมาส 3/67 ที่ต่ำคาด และมีความกังวลในระยะสั้นต่อภาพรายได้จากผู้ป่วยต่างชาติ แต่อย่างไรก็ดี คาดว่าราคา ณ ปัจจุบันตอบรับความเสี่ยงจากการปรับลดประมาณการของตลาดไปมากแล้ว ขณะที่พื้นฐานธุรกิจยังแข็งแกร่ง จากความโดดเด่นในการรักษาโรคซับซ้อน มาร์จิ้นสูง และการบริหารต้นทุนเด่น ผสาน Valuation กลับมาอยู่ในระดับที่น่าดึงดูด (PE21x) น่าทยอยสะสม
  • SGC ราคาเป้าหมาย 1.96 บาท คาดกำไรครึ่งหลังปี 67 จะเร่งตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากการเติบโตของโครงการ SG Finance+ ซึ่งเป็นการปล่อยสินเชื่อมือถือที่สามารถล็อกได้หากผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งจะทำให้ NPL Ratio อยู่ในระดับต่ำ ผสานกับการปลดล็อกการเพิ่มทุน จะหนุนให้ SGC ผ่อนคลายดอกเบี้ยจ่าย และมีเม็ดเงินเพิ่มเติมในการปล่อยสินเชื่อ หนุนปี 68 กำไรจะเติบโตแบบก้าวกระโดด 
  • AP ราคาเป้าหมาย 11.5 บาท คาดกำไรไตรมาส 4/67 จะขยายตัวทั้งจากไตรมาสก่อน และจากเทียบช่วงเดียวกันในปีก่อน ทำจุดสูงสุดของปี จากการรอโอน backlog ในไตรมาส 4 ที่สูงราว 1.18 หมื่นล้านบาท ผสานแผนเปิดโครงการใหม่ในไตรมาส 4/67 กว่า 13 โครงการ มูลค่าราว 1.8 หมื่นล้านบาท ส่วนภาพปี 68 คาดกลับมาเติบโตได้ 9% โดย Valuation ปัจจุบันเทรด PE2025 ที่เพียง 4.8 เท่า ขณะคาดอัตราปันผลสูงราว 7% ต่อปี  
  • DOHOME ราคาเป้าหมาย 12 บาท แนวโน้มยอดขายสาขาเดิมในช่วงเดือน ต.ค. และ พ.ย. มีทิศทางขยายตัว หนุนโอกาส SSSG ในช่วงไตรมาส 4/67 พลิกกลับมาเป็นบวก แรงหนุนจากเงินเบิกจ่ายภาครัฐฯที่กลับมาเร่งตัวขึ้น ผสานการซ่อมแซมบ้าน หลังผ่านพ้นเหตุการณ์น้ำท่วมในช่วงไตรมาส 3/67 อีกทั้งยังคาดว่าอัตรากำไรขั้นต้นก็มีแนวโน้มขยายตัวขึ้น กว่าในช่วงไตรมาส 3/67 จากราคาเหล็กที่เริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น
  • MTC รายงานกำไรสุทธิไตรมาส 3/67 ที่ 1,491 ล้านบาท โต 16% จากเทียบช่วงเดียวกันในปีก่อน และเพิ่มขึ้น 3% จากไตรมาสก่อน ทำจุดสูงสุดใหม่ แรงหนุนจากพอร์ตสินเชื่อที่ขยายตัว 3% จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น 15% จากเทียบช่วงเดียวกันในปีก่อน ผสานกับคุณภาพสินทรัพย์ที่ปรับตัวดีขึ้น โดยหนี้ Stage 2 ลดลงสู่ระดับ 8% ของสินเชื่อรวม จาก 9% ในไตรมาส 2/67 และอัตราส่วน NPL ลดลงสู่ระดับ 2.82% จาก 2.88%
  • WHA ยังมีมุมมองเชิงบวกจากการลงทุนในไทยปี 67 ที่มีทิศทางที่ดีขึ้น สอดคล้องกับมูลค่า FDI ปี 66 ที่เติบโตกว่า 73% จากเทียบช่วงเดียวกันในปีก่อน โดยนักลงทุนจีนเข้ามาสูงสุด จากอุตสาหกรรม EV ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าปีนี้ธุรกิจโลจิสติกเพิ่มอีก 2 แสน ตร.ม. ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม จะขยายเพิ่มอีก 2,070 ไร่ รวมทั้งจะมีการขยายสินทรัพย์เข้ากองทรัสต์รวม 2.13 แสน ตร.ม.
  • AMATA คาดแนวโน้มกำไรไตรมาส 4/67 ยังคงขยายตัวได้ดี โดยประเมินยอดโอนที่ดินคาดจะสูงขึ้น โดยมี Backlog ล่าสุดสูงราว 1.94 หมื่นล้านบาท แรงหนุนจากความตึงเครียดระหว่างประเทศ คาดจะหนุนโอกาสการย้ายฐานการผลิตจากจีนและไต้หวันเข้าสู่ไทยมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังเห็นสัญญาณของอัตรากำไรขั้นต้นที่มีทิศทางที่ขยับสูงขึ้นเป็นแรงหนุนเพิ่มเติม