ในการประชุมสุดยอดความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP หรืออาเซียนบวก 6) ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2562 ณ กรุงเทพฯ ผู้นำอาร์เซ็ป ได้ร่วมประกาศแถลงการณ์สรุปการเจรจาทั้ง 20 ข้อบทและมอบให้คณะเจรจาไปขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมายเพื่อลงนามความตกลงในปี 2563 นั้น
พร้อมลงนามพ.ย.
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แม้จะมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการเจรจาอาร์เซ็ปแต่อย่างใด ทั้งนี้สมาชิกได้มีการประชุมหารือกันอย่างเข้มข้นผ่านระบบการประชุมทางไกล (Video Conference : VC) เพื่อหาข้อสรุปในประเด็นคงค้างที่เหลือ และขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมายให้แล้วเสร็จ
ล่าสุดในการประชุมรัฐมนตรีอาร์เซ็ปครั้งที่ 8 เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2563 ผ่านระบบ VC ที่ประชุมยืนยันพร้อมลงนามความตกลงในการประชุมสุดยอดอาร์เซ็ป ครั้งที่ 4 ในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 37 ที่เวียดนามจะเป็นเจ้าภาพในกลางเดือนพฤศจิกายน 2563 โดยวิธีการลงนามคงจะใช้วิธีส่งเอกสารให้แต่ละประเทศเซ็นแล้วส่งต่อกัน ซึ่งวิธีการลงนามจะได้หารือกับเวียดนามในฐานะประธานอาเซียนปี 2563 อีกครั้ง
“ความตกลงอาร์เซ็ปจะมีผลบังคับใช้ก็ต่อเมื่อสมาชิกอาเซียนอย่างน้อยครึ่งหนึ่งหรือ 6 ประเทศให้สัตยาบัน สมาชิกที่ไม่ใช่อาเซียน (คู่เจรจา) ครึ่งหนึ่งคือ 4 ประเทศ (จาก 6 ประเทศ) ได้ให้สัตยาบัน ส่วนของไทยในการลงนามต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี หลังจากนั้นจะเป็นกระบวนการขอความเห็นชอบจากรัฐสภาเพื่อให้สัตยาบัน คาดความตกลงจะมีผลบังคับใช้อย่างเร็วสุดน่าจะประมาณครึ่งหลังของปี 2564”
ขาดอินเดียไม่มีปัญหา
สำหรับความตกลงอาร์เซ็ปจะเป็นความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ประกอบด้วยสมาชิก 16 ประเทศ มีประชากรรวมกันเกือบ 3,600 ล้านคน (48.1% ของประชากรโลก) มีผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) รวมกันกว่า 28.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (32.7% ของ GDP โลก) และมีมูลค่าการค้ารวมกว่า 11.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (29.5% ของมูลค่าการค้าโลก)
อย่างไรก็ดีในภาพรวมอาร์เซ็ป 15 ประเทศ ที่หากไม่มีอินเดีย(อินเดียยังไม่พร้อมเข้าร่วมและลงนามความตกลง จากสมาชิกยังไม่สามารถตอบสนองข้อเรียกร้องและข้อกังวลของอินเดียได้ โดยเฉพาะปัญหาการขาดดุลการค้ากับสมาชิกหลายประเทศ) แต่ยังถือเป็น FTA ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก จากยังมีประชากรรวมกันกว่า 2,200 ล้านคน (30% ของประชากรโลก) มีมูลค่า GDP กว่า 25.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ( 29.3% ของ GDP โลก) และมีมูลค่าการค้ากว่า 10.4% ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (27.4% ของมูลค่าการค้าโลก)
“สมาชิกอาร์เซ็ป ยังคงยินดีต้อนรับอินเดียกลับมาเข้าร่วมความตกลง เนื่องจากอินเดียเป็นสมาชิกสำคัญที่เข้าร่วมเจรจา อาร์เซ็ป ตั้งแต่เริ่มการเจรจาเมื่อปี 2555 และเชื่อว่าการเข้าร่วมอาร์เซ็ปของอินเดียจะช่วยสร้างการเติบโตให้กับภูมิภาค”
ได้มากกว่ากรอบอาเซียน
สำหรับความตกลงอาร์เซ็ปจะให้ประโยชน์กับไทยมากกว่า FTA ในกรอบอาเซียน เช่น อาเซียน-จีน อาเซียน-ญี่ปุ่น หรืออาเซียน-เกาหลีอย่างไรนั้น อธิบดีกรมเจรจาการค้าฯ ระบุว่า อย่างน้อยไทยจะได้เพิ่มจากสมาชิกที่ไม่ใช่อาเซียนในหลายแง่ อาทิ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น จะเปิดตลาดและลดภาษีสินค้าให้ไทยเพิ่มเติม เช่น สินค้าเกษตร พวกแป้งมันสำปะหลัง ประมง น้ำผลไม้ เช่น น้ำสับปะรด น้ำมะพร้าว กระดาษ ยานยนต์และชิ้นส่วนบางอย่าง จากที่ผ่านมาในกรอบความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น(JTEPA) และความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) ญี่ปุ่นลดภาษีสินค้าให้ไทยเป็น 0% สัดส่วนประมาณ 88% ของรายการสินค้าทั้งหมด เกาหลีใต้ยกเลิกภาษีให้ไทยประมาณ 91% และจีนอยู่ที่ 94% ของรายการสินค้าทั้งหมด ซึ่งในกรอบอาร์เซ็ปสินค้าไทยจะได้รับการยกเลิกภาษีเพิ่มขึ้นแม้จะไม่ 100% ก็ตาม
“ที่เราจะได้อีกเรื่องคือถิ่นกำเนิดสินค้า Made in RCEP เพราะพอเป็นแพ็กเกจใหญ่ จะมีทางเลือกในการสะสมถิ่นกำเนิดสินค้าจากประเทศสมาชิกเพื่อได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีระหว่างกันมากขึ้น รวมถึงส่งเสริมระบบกฎเกณฑ์การค้าแบบพหุภาคี ช่วยให้เศรษฐกิจของภูมิภาคฟื้นตัวและเติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพ นอกจากนี้ในเรื่องกฎระเบียบต่าง ๆ จากอาร์เซ็ปเป็นเอฟทีเอที่เพิ่งทำในยุคหลัง ก็จะมีข้อบทใหม่ ๆ เช่น พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การแข่งขันทางการค้า ถือว่าเป็นการเตรียมประเทศไทยสำหรับความพร้อมที่จะก้าวเข้าสู่เอฟทีเอรุ่นใหม่ ๆ ในกรอบต่อ ๆ ไป”
อนึ่ง อาร์เซ็ป ประกอบด้วยสมาชิก 16 ประเทศ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม เมียนมา ลาว กัมพูชา บรูไน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หน้า 9 ฉบับที่ 3618 วันที่ 15-17 ตุลาคม 2563
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ไม่ปิดโอกาสอินเดีย กลับเข้า RCEP