ห้างนอกสูญพันธุ์ ทุนไทยไล่ทุบ ญี่ปุ่นม้วนเสื่อเกลี้ยง

30 ต.ค. 2563 | 22:01 น.
อัปเดตล่าสุด :31 ต.ค. 2563 | 10:05 น.

ห้างต่างชาติส่อเค้าสูญพันธุ์ นักวิชาการชี้ไร้แรงต้าน 2 กลุ่มทุนไทยทั้งเซ็นทรัล-เดอะ มอลล์ แนะ “สยามทาคาชิมาย่า-ดองกิ มอลล์” เร่งปรับตัว หลัง “โตคิว” ประกาศถอนยวง ม.ค. 64 เหตุขาดทุนต่อเนื่อง 4 ปี

ห้างค้าปลีกในเมืองไทยนอกจากทุนไทยที่ปักหลักขยายสาขาอย่างกลุ่มเซ็นทรัล และเดอะมอลล์ แน่นอนว่ามีทุนต่างชาติที่สนใจเข้ามาลงทุนเช่นกัน ด้วยศักยภาพของประเทศ การเป็นศูนย์กลางของอาเซียน และการเติบโตของฝั่งเอเชีย แต่หลายรายก็ต้องปิดฉากถอนตัวออกไปไม่ว่าจะเป็น ไทยไดมารู (2507-2543) เยาฮัน (2534-2540) อิเซตัน (2535-2563) แต่ก็ใช่ว่าจะมีแต่ห้างจากญี่ปุ่น ยังมี คาร์ฟูร์ จากฝรั่งเศส (2539-2553) บิ๊กซี จากฝรั่งเศส (2536) ในปี 2559 ขายหุ้นให้กับเบอร์ลี่ยุคเกอร์ (BJC) กลุ่มทีซีซี และเทสโก้ โลตัส จากอังกฤษ (2536) ปี 2563 เครือซีพี เข้าซื้อกิจการทั้งหมดและอยู่ระหว่างการขออนุญาตจากกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.)

 

ล่าสุด “โตคิว” เป็นห้างญี่ปุ่นที่ประกาศถอนยวงธุรกิจ ปิดตำนาน 35 ปีในเดือนมกราคม 2564 คำถามคือ ทำไมห้างยักษ์ใหญ่ ที่มีสายป่านยาว เป็นผู้เช่าพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 แจ้งเกิดและยืนคู่กับเอ็ม บี เค เซ็นเตอร์มายาวนาน (ตั้งแต่สมัยใช้ชื่อ มาบุญครองเซ็นเตอร์) ถึงถอดใจยอมปิดฉากธุรกิจครั้งนี้ เฉกเช่นเดียวกับห้างญี่ปุ่นที่ปิดตัวลงก่อนหน้า ไม่ว่าจะเป็น อิเซตัน เยาฮัน โซโก้ และไทยไดมารู

 

ขาดทุนต่อเนื่อง
หากดูผลประกอบการ “โตคิว” นับจากปี 2559 – 2562 จะเห็นว่าโตคิว มีรายได้ 1,377.36 ล้านบาท, 1,290.79 ล้านบาท, 1,237.65 ล้านบาท และ 1,140.85 ล้านบาท ตามลำดับ ประสบปัญหาขาดทุนต่อเนื่องทุกปีเช่นกัน คือ 48.22 ล้านบาท, 288.43 ล้านบาท, 90.03 ล้านบาท และ 193.56 ล้านบาท (ข้อมูลตามตาราง) แสดงให้เห็นว่า การตอบรับของนักช้อปที่มีต่อโตคิวลดน้อยถอยลง
   ห้างนอกสูญพันธุ์ ทุนไทยไล่ทุบ  ญี่ปุ่นม้วนเสื่อเกลี้ยง

แม้เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ จะส่งเสริมและสนับสนุนเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการร่วมลงทุน ขยายสาขา2 ไปยังพาราไดซ์พาร์ค เพื่อขยายกลุ่มลูกค้าไปในย่านศรีนครินทร์ ที่จัดว่าเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อเกรดA แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เห็นได้จากผลประกอบการที่ขาดทุนต่อเนื่องตลอด 3 ปีนับจากเปิดบริการ แม้การลงทุนโตคิว สาขาพาราไดซ์พาร์ค จะเป็นตัวเลขไม่สูงมากนักแต่การติดตัวแดง แบบไร้สัญญาณบวก ทำให้กลุ่มทุนทั้งฝ่ายญี่ปุ่นและไทยตัดสินใจไม่ไปต่อ และการยุติสาขาพาราไดซ์พาร์ค กลายเป็นตัวจุดชนวนให้ผู้ประกอบการญี่ปุ่นต้องกลับมาทบทวนแผนธุรกิจในเมืองไทย เพราะมองหาโอกาสเติบโตได้ยาก

ขณะที่การจะฝากชีวิตไว้กับ เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ ซึ่งเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนก็ไม่ได้พิสมัยสินค้าญี่ปุ่นเท่าใดนัก นับวันตัวเลขรายได้ของโตคิวจึงถอยหลังลงซึ่งปัญหานี้ “อิเซตัน” ที่ผูกติดกับศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ก็เคยเผชิญมาแล้วเช่นกัน จนที่สุดก็ถอนตัวด้วยการไม่ต่อสัญญาและปิดตัวลงเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

 

3 สาเหตุล่าถอย
นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ นักวิชการและผู้เชี่ยวชาญธุรกิจค้าปลีก วิเคราะห์ถึงสาเหตุที่ห้างญี่ปุ่นในเมืองไทยไม่ประสบความสำเร็จว่า เกิดจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ 1. ธุรกิจห้างสรรพสินค้าในไทยมีความแข็งแกร่งมากที่สุดในเอเชีย จากผู้ประกอบการรายใหญ่ทั้งกลุ่มเซ็นทรัลและเดอะ มอลล์ ที่มีการลงทุนและขยายสาขาต่อเนื่อง ทำให้มี economies of scale ที่ดีกว่า เมื่อเทียบกับโตคิว หรือห้างญี่ปุ่นที่มีสาขาเดียว รวมไปถึงเรื่องของการตลาด การจัดโปรโมชัน ที่ไม่มีพลังพอที่จะดึงดูดลูกค้าได้

ห้างนอกสูญพันธุ์ ทุนไทยไล่ทุบ  ญี่ปุ่นม้วนเสื่อเกลี้ยง

2. ห้างญี่ปุ่นขาดความหลากหลาย (variety) ความยืดหยุ่น แม้สินค้าจะมีคุณภาพ มีกลุ่มเป้าหมายเป็นชาวญี่ปุ่นที่อยู่ในเมืองไทย แต่ก็เป็นกลุ่มเฉพาะ ซึ่งพฤติกรรมผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นในเมืองไทยก็ไม่ได้ใส่เสื้อผ้าแฟชั่นสไตล์ญี่ปุ่นตลอดเวลา หรือหากต้องการแฟชั่นญี่ปุ่นก็มีแบรนด์ต่างๆ เช่น ยูนิโคล่ ฯลฯ เป็นอีกทางเลือก

 

“product life cycle สินค้าญี่ปุ่นโดยเฉพาะกลุ่มแฟชั่น ไม่สามารถแข่งขันกับห้างอื่นได้ เพราะวันนี้ตลาดแฟชั่นไม่ใช่เปลี่ยนทุก 3 เดือนเหมือนในอดีต แม้แต่ห้างไทยยังต้องเปลี่ยนทุกเดือน ขณะที่ฟาสต์แฟชั่นอย่างยูนิโคล่, H&M, ZARA เปลี่ยนทุก 2 สัปดาห์”

 

3. โครงสร้างธุรกิจของห้างญี่ปุ่นแตกต่างกับห้างไทย โดยพบว่าห้างญี่ปุ่นส่วนใหญ่เป็นลักษณะของการฝากขาย (consignment) ขณะที่ปัจจุบันห้างไทยจะเป็นลักษณะเครดิต 50% และฝากขาย 50% ทำให้สามารถบริหารจัดการการนำเสนอสินค้า แผนการตลาด การจัดโปรโมชันได้เอง และได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่า

 

แนะเร่งปรับตัว
อย่างไรก็ดี วันนี้สินค้าญี่ปุ่น หลายประเภทยังได้รับความนิยมไม่ใช่ว่า “ห้างญี่ปุ่น” ไม่ประสบความสำเร็จแล้วสินค้าญี่ปุ่นไม่ประสบความสำเร็จไปด้วย เช่น อาหารญี่ปุ่นก็ยังมีแบรนด์ ใหม่ๆ เกิดขึ้นและมีการเติบโต รวมถึงร้านค้าญี่ปุ่นเช่น ไดโซะ ก็ยังเป็นที่นิยม หรือแม็กซ์แวลู (Maxvalu) ซึ่งเดิมคือ ห้างสยามจัสโก้ ซึ่งสมัยที่เป็นห้างสรรพสินค้าอาจจะไม่ประสบความ สำเร็จ แต่เมื่อปรับโมเดลธุรกิจ พร้อมเดินหน้าขยายในรูปแบบของซูเปอร์มาร์เก็ต และคอนวีเนียนสโตร์ “แม็กซ์แวลู ทันใจ” ก็ได้รับการตอบรับที่ดีขึ้น

 

นายฉัตรชัย กล่าวว่า สยามทาคาชิมาย่า เพิ่งเริ่มต้นสินค้าหลายประเภทต้องปรับตัวให้สอดรับกับลูกค้าคนไทย ต้องหมุนให้เร็ว ต้องมีการตลาดที่เข้าถึง มีโปรโมชันที่ตอบโจทย์เพราะโปรโมชันสำคัญกับนักช็อปคนไทยมากๆ รวมถึงระบบหลังบ้านเช่น ซัพพลายเออร์ ก็ต้องสอดรับกับรูปแบบของการบริหารจัดการในเมืองไทย เช่น ระบบกระจายสินค้า หากเป็นระบบของญี่ปุ่น จะให้ซัพพลายเออร์เป็นผู้กระจายสินค้าเอง แต่ระบบไทยผู้ประกอบการจะเป็นผู้กระจายสินค้าเอง ซึ่งวันนี้แบรนด์ญี่ปุ่นหลายแบรนด์ เช่น แม็กซ์แวลู ก็หันใช้ระบบ DC ในการกระจายสินค้าเองแล้ว

 

ส่วนดองกิ มอลล์ อีกหนึ่งห้างญี่ปุ่นที่เข้ามาเปิดให้บริการในเมืองไทย และปัจจุบันมีการขยายสาขา 2 ที่เดอะ มาร์เก็ต แบงค็อก (ตรงข้ามเซ็นทรัลเวิลด์) ด้วยระบบการบริหารจัดการและความมีเอกลักษณ์เฉพาะ มีไลฟ์ไซเคิลที่หมุนเวียนเร็ว ทำให้เชื่อว่าจะสามารถรองรับลูกค้าได้ดี ในระดับหนึ่ง

 

วันนี้จึงต้องจับตาดูต่อไปว่า “ห้างญี่ปุ่น” ที่เหลืออยู่จะปรับตัว แก้เกมอย่างไร เพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้แบบมีกำไร 
 

หน้า 01 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,623 วันที่ 1 - 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อวสาน 35 ปี “โตคิว” ห้างสายพันธุ์ญี่ปุ่น ปิดกิจการในไทย ม.ค. 64

ยกเครื่อง “ดองกิ” เดินหน้าขยาย 20 สาขาใน 5 ปี

ห้างหรูญี่ปุ่น “อิเซตัน” โบกมือลาเมืองไทย