นายเขศักดิ์ สุดสวาท เลขานุการเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางระดับประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” สถานการณ์ราคายางพาราย่ำแย่มาก โรงงานซื้อปกติ แต่ชาวสวน/สหกรณ์/สถาบันเกษตรกร แห่นำน้ำยางสดไปขาย โรงงานรับไม่ไหว ผลิตไม่ทันก็ไปนอนต่อคิวรอกัน จนได้คิววัน หรือ 2 วัน พอจะนำน้ำยางสดลงไปขายปรากฏว่าตรวจแล้วของตกคุณภาพ เพราะรถที่จอดกันตากแดดเปรี้ยง ไม่มีที่ร่ม โรงงานก็ไม่รับซื้อก็ขนกลับอีก ซึ่งมีจำนวนมาก
ดังนั้นทางแก้ต้องให้โรงงาน กยท.อีสาน โรงงาน 4,5 และ 6 จะต้องมารับซื้อน้ำยางสดจากสถาบันเกษตรกร /สหกรณ์ ในเครือของ กยท. ส่วนพ่อค้าอื่นๆ ก็ให้ไปขายโรงงาน ไม่เช่นนั้นทุกวันนี้ทุกคนก็พุ่งเป้าไปขายโรงงานกันหมด ตอนนี้ราคายางเป็นแบบเรียบ “ตายเรียบ” ลงมาราวกับพายุกวาดราบเรียบหมดเลย ขาดทุน เจ๊งกันหมด ที่สำคัญราคาประกาศราคายางพารา ควรจะกำหนดราคาในแต่ละภาค จะใกล้เคียง ไม่ใช่ว่าทุกภาคจะต้องใช้ราคาตลาดกลางยางพาราสงขลา เป็นจุดอ่อนที่ทำให้ชาวสวนโดนกดราคาไม่เป็นธรรม
อย่างไรก็ดีในวันที่ 27 พ.ย.นี้จะมีการประชุมเครือข่าย กยท. เชื่อว่าจะมีทางออกอย่างเป็นรูปธรรมในการเคลื่อนไหวของเครือข่าย กยท.
เช่นเดียวกับนายสุรัตน์ เทือกสุบรรณ รองประธานคณะกรรมการเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง กยท. และในฐานะประธานชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางสุราษฎร์ธานี จำกัด กล่าวว่า ยางแผ่นรมควัน ขายไม่ทันก็ขาดทุน จากราคาปกติราคายางสูงพอลงพรวดพราดก็ขาดทุนกันหมด ซึ่งปัญหาอยู่ที่ฝ่ายบริหาร ระดับเราแก้ปัญหาไม่ได้ เพราะคนที่สามารถเจรจากับพ่อค้าได้ แล้วใครที่จะสามารถคุยกับพ่อค้าได้ ซึ่ง ราคายางลงแบบนี้ผิดธรรมชาติ ลงมาวันละ 5 บาท 7 บาท บางวันลงมา 9 บาทกว่า กิโลกรัม จะไปคิดเดี๋ยวรัฐบาลจะชดเชยรายได้ให้เกษตรกร ไม่เกิดประโยชน์ ชาวสวนยางไม่มีใครอยากได้ ดังนั้นรัฐบาลจะต้องหารืออย่าปล่อยราคาลงพรวดพราด ไม่น่าปล่อยให้ราคาลง เกินวันละ 1-2 บาท/กิโลกรัม ถ้าลงแบบที่ปล่อยให้เป็นอย่างนี้ ตายกันหมด ขายไม่ทัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ตรวจสอบสิทธิ์ “ประกันรายได้ยาง” สูงสุด 60 บาท/กก. รับเงิน วันไหน เช็กที่นี่
ด้านนายอุทัย สอนหลักทรัพย์ นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย กล่าวถึง ต้นเหตุที่ราคายางลงมาแบบทิ้งดิ่งหัวทิ่มเลย เพราะบริษัทรายใหญ่ไม่พอใจ หากเป็นช่วงยางขาลง ตามธรรมดาจะพยายามช่วยกันดึงไม่ให้ลงมาก แต่มาคราวนี้กดราคาทันทีเลยจากที่มีผู้บริหาร กยท.ไปต่อว่า จึงทำให้ไม่พอใจ ตอนนี้โรงรมรายย่อย เจ๊งกันระนาว ขาดทุนหลายซับหลายซ้อนเลย
ยิ่งผู้ว่าการ ฯ กยท. ไปพูดว่าราคายางจะปรับไป 100 บาท/กิโลกรัม ยิ่งพูดไม่ได้ เพราะจะไปกำหนดตลาดล่วงหน้ายิ่งมีความเป็นไปไม่ได้เลย ตลาดในประเทศไปงัดง้างเป็นไปไม่ได้ และตอนนี้ปัจจัยลบเพียบเลย ทั้งเครื่องบินหยุดบินกันเยอะมาก ตามธรรมดา ล้อเครื่องบิน ลงกี่เที่ยวจะต้องเปลี่ยนล้อ แต่วันนี้ไม่ได้บิน จอดกันนิ่งเลยจำนวนมาก ทำให้การใช้ยางน้อยลง ค่ายรถยนต์ก็ชะลอการผลิตรถ รวมทั้งสหภาพยุโรป กลับมาล็อกดาวน์ประเทศรอบใหม่ แล้วที่สำคัญการขึ้นยางพาราไม่ยกแผง ผิดปกติ และการเก็บราคายางจะต้องดูตลาดล่วงหน้าสอดคล้องยางจะราคาปรับขึ้นลงไหม
“ตอนนี้กระทรวงพาณิชย์ จะมาเช็กสต็อกยางวิสาหกิจวังจันทร์ จังหวัดระยอง ผมก็ถามว่าจะบ้ากันหรืออย่างไรจะมาเช็กสต็อกอะไร “วิสาหกิจ” ซื้อมาขายไปไม่มีสต็อก แล้วผมก็บอกไปว่าไม่ใช่เรื่องของพวกคุณที่จะมาทำอย่างนี้ ซึ่งควรจะเช็ก "บริษัท" มากกว่า ผมก็ไม่รู้ว่าจะมาเช็กวิสาหกิจชุมชนทำไม เงินซื้อยังไม่มี ผมก็ถามว่าคุณจะมาเช็กอะไร”
นายอุทัย กล่าวว่า ผมมองดูแล้วสถานการณ์ของผู้ว่าฯ จะเอาตัวรอดหรือไม่ เพราะราคายาง 100 บาท/กก. ทำไม่ได้ จะได้บรรจุหรือ เพราะช่วงนี้อยู่ในช่วงการทดลองงาน 6 เดือน เพราะไปพูดโพล่งแบบนั้นแล้วทำไม่ได้ อย่างไรก็ดีในขณะนี้ “บิ๊กดาต้า” เป็นเรื่องสำคัญที่สุดสำหรับ กยท.ที่จะนำไปสื่อสารกับเกษตรกร เพราะคุณจะไม่เปิดข้อมูลไม่ให้เกษตรกรทราบเลยไม่ได้ จะต้องชี้นำเกษตรกร อย่างนี้ไม่เคยพูดเลยทำให้เจ้าของสวนไม่สามารถที่จะรู้ได้ ตัวนี้เป็นตัวสำคัญ เพื่อใช้ประกอบในการตัดสินใจ แต่ที่มาบอกให้เก็บยางไว้ แล้วให้มาขายวันโน้นวันนี้ แล้วจะได้ราคาเท่านี้เท่านั้น ตรงนี้เพี้ยน เพราะ กยท.ตามกฎหมาย ไม่ได้ดูเฉพาะเกษตรกร จะต้องดูแลผู้ประกอบการด้วย แต่เมื่อมาด่าใส่ร้ายอย่างนี้ ก็ไม่ผิดหรอกที่จะเอาคืน โดนถล่มราคาอย่างที่เห็น
ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สถานการณ์ราคายางที่ผันผวน อย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน มีผลมาจากปัจจัยภายในประเทศ เนื่องจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น รวมถึงปัจจัยภายนอกประเทศ ซึ่งมีผลมาจากผู้ซื้อในตลาดล่วงหน้ามีการเทขายเพื่อทำกำไร และสต็อกยางของตลาดโลก โดยเฉพาะประเทศจีนที่มีปริมาณเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคายางในประเทศช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมามีความผันผวน และเริ่มลดลงในช่วงปัจจุบัน
ทั้งนี้ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความเป็นห่วงในสถานการณ์ดังกล่าว จึงได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ เร่งจัดการประชุมหารือเพื่อกำหนดมาตรการในการให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบแก่เกษตรกรชาวสวนยางอย่างเร่งด่วน ในวันจันทร์ที่ 9 พฤศจิกายน นี้ โดยเชิญตัวแทนจากกรมการค้าภายใน สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า กรมวิชาการเกษตร การยางแห่งประเทศไทย เข้าร่วมประชุม
นอกจากนี้ ยังได้รับความร่วมมือจากกระทรวงพาณิชย์ในการเข้าตรวจสอบสต็อกยางของผู้ประกอบการรายใหญ่ภายในประเทศ เพื่อหาทางออกในการเจรจากับผู้ประกอบการในการรับซื้อยางจากเกษตรกรต่อไป
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในส่วนราคายางไม่ต้องกังวล กำลังติดตามกันอยู่ วันนี้ราคายางแผ่นรมควันเริ่มกลับมาอยู่ในสถานการณ์ราคาปกติแล้ว วันนี้ตลาดมีแรงบวกทั้งราคายางแผ่นรมควันและยางแผ่นดิบ คาดว่าสถานการณ์เริ่มกลับมาเคลื่อนไหวราคาอยู่ในเสถียรภาพขึ้น ก็ต้องติดตามกันต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เปิดเล่ห์ 5 เสือ ทุบราคา “ยางก้อนถ้วย” ร่วง