ค้าปลีกเดือด “ธนินท์-เจริญ” เปิดศึก สาดสงครามราคา-โชห่วยกระอัก

12 พ.ย. 2563 | 10:13 น.
อัปเดตล่าสุด :16 พ.ย. 2563 | 04:47 น.

สมรภูมิค้าปลีกไทยระอุหลังอยู่ในมือ 2 เจ้าสัว “ธนินท์-เจริญ” จับตา “เทสโก้ โลตัส-บิ๊กซี” ปักหลักสาดสงครามราคา ชิงดำตลาดดิสเคาน์สโตร์ ขณะที่ “โชห่วย” ส่อเจ๊กอั่ก หลังกขค. ไฟเขียวเซเว่นฯ-โลตัส เอ็กซ์เพรสผุดสาขาได้แบบไม่ผูกขาด

ภูมิทัศน์อุตสาหกรรมค้าปลีก-ค้าส่งเมืองไทยที่มีมูลค่ากว่า 4 ล้านล้านบาท เกิดการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง หลังคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) มีมติอนุญาตให้รวมธุรกิจระหว่างบริษัท ซี.พี.รีเทลดีเวลลอปเม้น จำกัดโดยกลุ่มซี.พี. และบริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด  ทำให้ “เทสโก้ โลตัส” กว่า 2,000 สาขาต้องโยกไปอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของกลุ่มซี.พี. เติมเต็มให้อาณาจักรของเจ้าสัว ธนินท์ เจียรวนนท์ สมบูรณ์แบบทั้งต้นนํ้า กลางนํ้า และปลายนํ้า

 

จับตาสงครามราคา

แน่นอนว่า “ดีกรี” การแข่งขันของธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่งก็เปลี่ยนไป เมื่อธุรกิจตกไปอยู่ในมือของผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่เพียงไม่กี่ราย โดยเฉพาะค้าปลีกในเซ็กเมนต์ดิสเคาน์สโตร์ ที่มีเพียง 2 รายใหญ่ อย่าง “เทสโก้ โลตัส” และ “บิ๊กซี” ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี

 

ผศ.ดร.บุปผา ลาภะวัฒนาพันธ์ อาจารย์คณะนิเทศ ศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจค้าปลีกในเมืองไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การอนุญาตให้รวมธุรกิจครั้งนี้ จะส่งผลกระทบทั้งระบบนิเวศน์ของค้าปลีกค้าส่ง เพราะซีพีถือเป็นธุรกิจครบวงจร ย่อมได้เปรียบเรื่องของต้นทุนและอำนาจต่อรอง ขณะที่เมื่อ “ดิสเคาน์สโตร์” ถูกย้ายไปอยู่ในมือของ 2 เจ้าสัวใหญ่การแข่งขันย่อมรุนแรงมากขึ้น เพราะไม่ใช่แค่การเปิดศึกชิงยอดขายเท่านั้น แต่เป็นศึกแห่งศักดิ์ศรี

 

“เป็นความโชคดีของบิ๊กซี ที่อยู่ในมือของเจ้าสัวเจริญ เพราะหากเป็นกลุ่มทุนอื่นเมื่อต้องแบทเทิ่ลกับเจ้าสัวธนินท์อาจจะถอดใจก็ได้เมื่อต้องมาแข่งขันกับบิ๊กเนมรายนี้”

ธนินท์ เจียรวนนท์

อย่างไรก็ดี เชื่อว่าในอนาคตการแข่งขันด้านราคาจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นจนกลายเป็น “สงครามราคา” (Price War) จากความได้เปรียบด้านต้นทุนของเทสโก้โลตัส ขณะที่ “บิ๊กซี” ย่อมไม่ยอมแพ้ และไม่อยากจะเสียลูกค้าไป

 

ขณะที่ความเป็น “ดิสเคาน์สโตร์” ถูกผูกติดกับคำว่า “ถูกทุกวัน” “ถูกจริง” ทำให้คำว่า “ราคา” เป็นปัจจัยหลักที่จะดึงให้ลูกค้าเข้ามาจับจ่าย ซึ่งแม้กลุ่มซี.พี.จะเข้ามาบริหารเทสโก้ โลตัส แต่ก็คงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงฟอร์แมทนี้ได้ เพราะหากเทสโก้ โลตัสขายสินค้าไม่ถูก ไม่ประหยัด ก็จะถูกบีบด้วยกลไกตลาด และหากผู้บริโภคไม่พอใจ ร้องเรียนภาครัฐ กระทรวงพาณิชย์ในฐานะที่กำกับดูแลก็ต้องเข้ามาแทรกแซง ซึ่งเชื่อว่าซี.พี. คงไม่อยากเสียชื่อเสียง และจะเป็นวิกฤติที่ไม่คุ้มกับภาพลักษณ์ขององค์กร

 

“ระยะสั้นอาจจะยังไม่เห็น แต่ระยะยาวสงครามราคาจะหนักกว่านี้ เพราะวันนี้กลุ่มผู้บริโภคในระดับฐานราก ได้รับผลกระทบจากโควิด ทั้งตกงาน กำลังซื้อลดลง การใช้จ่ายน้อยลง การเลือกซื้อสินค้าย่อมต้องการที่ถูกที่สุด และเมื่อถึงเวลานั้นแบรนด์ไม่ใช่สิ่งสำคัญ ราคาที่ถูกจะเป็นตัวดึงดูดลูกค้ามากกว่า”

 

ไซส์เล็กผุดเป็นดอกเห็ด

ค้าปลีกอีกเซ็กเม้นท์ที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษคือ “ร้านสะดวกซื้อ” หรือคอนวีเนียน สโตร์ ที่วันนี้เบอร์ 1 อย่าง “เซเว่น อีเลฟเว่น” ยังเดินหน้าขยายสาขาขณะที่ “เทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส” หลังควบรวมกิจการก็ยังเดินหน้าเปิดสาขาใหม่ โดยไม่ถือเป็นการผูกขาดทางการค้า อนาคตร้านค้าปลีกไซส์เล็กเหล่านี้ย่อมผุดกระจายเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด

 

เพราะเมื่อเซเว่น อีเลฟเว่นและเทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส แยกเส้นทางเดินได้ ย่อมจะเห็นการขยายตัวของเซเว่น อีเลฟเว่น จะกระจายลึกลงไปในระดับตำบลมากยิ่งขึ้น จากก่อนหน้านี้เมื่อเซเว่นฯ มีสาขาครอบคลุมพื้นที่หลักครบ 1 หมื่นสาขา ก็เริ่มกระจายไปยังหัวเมืองรอง ระดับอำเภอ และต่อไปจะลงลึกในระดับตำบล เพื่อให้กระจายเข้าถึงกลุ่มลูกค้ามากที่สุด

ค้าปลีกเดือด   “ธนินท์-เจริญ”  เปิดศึก  สาดสงครามราคา-โชห่วยกระอัก

ขณะที่ “เทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส” จะมุ่งเจาะกลุ่มคอมมิวนิตี ที่มีกำลังซื้อระดับปานกลาง ทั้งในแหล่งชุมชนหลักและรองมากขึ้น เพื่อเป็นทางเลือกให้กับลูกค้า โดยเทสโก้ โลตัสเองมีแผนขยายสาขาเทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส เพิ่มอีก 750 สาขาภายในระยะเวลา 3 ปี พร้อมกับการปรับเปลี่ยนเพิ่มไลน์สินค้าให้ตอบโจทย์ลูกค้าในแต่ละทำเลที่ตั้งมากขึ้น เพื่อใช้เป็นเรือธงในการเข้าถึงลูกค้า

 

อย่างไรก็ดีการที่บอร์ด กขค. พิจารณาว่าการรวมธุรกิจครั้งนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อร้านค้าปลีกรายย่อย ย่อมเปิดทางให้ทั้งเซเว่น อีเลฟเว่นและเทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส เดินหน้าขยายสาขาได้เต็มที่ แต่บอร์ดอาจจะลืมไปว่า เมื่อร้านค้าปลีกเหล่านี้กระจายลงไปยังอำเภอ ตำบล จะส่งผลกระทบต่อใคร ถ้าไม่ใช่ “โชห่วย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เปิดประวัติ 7 กรรมการกขค. ใครเห็นชอบ-คัดค้านซีพีควบ "โลตัส"

บอร์ดแข่งขันไฟเขียว "ซีพี" ควบ "โลตัส" แบบมีเงื่อนไข เข้าข่ายมีอำนาจเหนือตลาดเพิ่ม

บีบCPรับเงื่อนไข ควบรวมโลตัส ห้ามเก็บค่าต๋งเพิ่ม

ค้าปลีกในอุ้งมือ 2 เจ้าสัว "ซีพี - เจริญ" กุม 3 ล้านล้าน

เปิดอาณาจักรค้าปลีก 2 เจ้าสัว “ธนินท์-เจริญ”

 

บอร์ดเคาะ 4:3 เสียง

ด้านนายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา ประธานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า(กขค.) เผยว่า ในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2563 กขค.เสียงข้างน้อยจะคุยนอกรอบให้สื่อฟังอย่างไม่เป็นทางการว่าไม่เห็นด้วยในการอนุญาตให้เครือซีพีควบเทสโก้ โลตัส จากเหตุผลอะไร ที่เป็นไปตามหลักการทางวิชาการ และตามหลักกฎหมายการแข่งขันทางการค้า คงไม่เรียกว่าแถลง เพราะยังแถลงอย่างเป็นทางการไม่ได้ จากคำวินิจฉัยกลางของกรรมการทั้งหมดยังไม่ออกมา ต้องรอก่อน เพราะระเบียบสั่งบังคับเอาไว้

 

ทั้งนี้กรรมการแข่งขันฯมี 7 คน เห็นชอบและคัดค้าน 4 : 3 นำสู่การอนุญาตให้เครือซีพีควบรวมเทสโก้ โลตัสแบบมี 7 เงื่อนไขที่ต้องไปดำเนินการ ซึ่งเงื่อนไขทั้งหมดมาจากการะดมสมองของคณะทำงานและกรรมการกขค.ที่กรรมการแต่ละคนก็มีความคิดตัวเอง

ค้าปลีกเดือด   “ธนินท์-เจริญ”  เปิดศึก  สาดสงครามราคา-โชห่วยกระอัก

“เรื่องอนุญาตให้ซีพีควบรวมเทสโก้ โลตัสแบบมีเงื่อนไข ตามขั้นตอนกฎหมาย พอกรรมการมีมติ ต้องรีบทำคำสั่งให้ทางผู้ยื่น (ซี.พี.)พิจารณาใน 7 วัน แต่ก็ต้องรออีก 60 วันว่าเขาเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยอย่างไร และระหว่างทางเราต้องทำคำวินิจฉัยกลางเพื่อเผยแพร่ให้ทั้งทางฝั่งซี.พี. และคนทั่วไปได้รับรู้รับทราบว่าเหตุผลอะไรที่คิดอย่างนั้น (ให้ควบรวม) อย่างไรก็ดีมติที่ออกไปไม่ใช่มติเสียงข้างมากหรือข้างน้อยแต่เป็นมติของคณะกรรมการทั้งหมดที่มีคำสั่งนี้ออกไป ช่วงนี้ต้องรอคำวินิจฉัยกลาง และซี.พี.จะว่าอย่างไร จะคัดค้านหรือไม่ ถ้าคัดค้านก็ต้องไปฟ้องศาลปกครอง”

 

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,626 วันที่ 12 - 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563