ชัดเจนแล้วว่า“โจ ไบเดน” ที่ชนะการเลือกตั้ง กำลังจะได้รับการรับรองและก้าวขึ้นเป็นผู้นำคนใหม่ของสหรัฐฯ หากไม่มีอะไรยืดเยื้อ จะมีพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคม 2564 หลายฝ่ายจับตามองสงครามการค้ากับจีนจะคลี่คลายลง สงครามเทคโนโลยีจะรุนแรงขึ้นหรือไม่ และต่อประกาศของไบเดนที่จะนำสหรัฐฯ กลับเข้าร่วมความตกลงลดโลกร้อน (Paris Climate Accord) ที่สมัยทรัมป์ได้ถอนตัวออกไป โดยจะลงทุนกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯเพื่อพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อมเพื่อลดโลกร้อน อาจนำไปสู่สงครามคาร์บอน (คาร์บอนวอร์) โดยอาจบังคับให้สินค้าของประเทศคู่ค้าต้องติดฉลากคาร์บอน(คาร์บอนฟุตพริ้นท์) และมีการเรียกเก็บภาษีคาร์บอนสำหรับสินค้าที่ส่งออกไปสหรัฐฯในอัตราค่อนข้างสูงหรือไม่
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า จากประมาณ 5 ปีที่แล้วสหรัฐฯได้ริเริ่มโครงการ BCA -border carbon adjustment ถือเป็นโครงการแรก ๆ ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่โครงการดังกล่าวไม่ได้ถูกสานต่อ ขณะที่สหภาพยุโรป (อียู) ได้เริ่มโครงการในลักษณะดังกล่าวอย่างจริงจัง ซึ่งอียูคาดว่าโครงการเก็บภาษีสินค้าที่มีกระบวนการผลิตที่ปล่อยก๊าซคาร์บอน หรือก๊าซเรือนกระจกสูงกว่ามาตรฐานที่อียูกำหนดจะถูกเก็บภาษีเพิ่มเติม คาดจะเริ่มบังคับใช้ในปี 2566 ขณะที่สหรัฐฯในยุคไบเดนอาจจะเร่งดำเนินการในส่วนของคาร์บอนฟุตพริ้นท์ และเก็บภาษีคาร์บอนเช่นกัน
อย่างไรก็ดีในส่วนของประเทศไทยได้มีการเตรียมความพร้อมรับมือในเรื่องนี้ไว้แล้ว โดย ณ ปัจจุบันมีสินค้าที่ขึ้นทะเบียน และผ่านการตรวจประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (การประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยออกมาตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์หรือบริการ ตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบ การขนส่ง การใช้งาน และการจัดการซากหรือของเสียหลังใช้งาน) และได้ฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ หรือฉลากลดโลกร้อนจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ไปแล้วกว่า 4,472 ผลิตภัณฑ์ ใน 18 กลุ่มอุตสาหกรรมหลัก ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม รองลงมาเป็นอุตสาหกรรมก่อสร้าง ปิโตรเลียม และเครื่องประดับ และเป็นรายบริษัทกว่า 644 บริษัทที่ขึ้นทะเบียน
“บริษัทขนาดใหญ่ที่มีการส่งออก สินค้าส่วนใหญ่ได้ทำเรื่องคาร์บอนฟุตพริ้นท์แล้วเพื่อสร้างทางเลือกผู้บริโภคในการซื้อสินค้าและบริการ แม้จะมีต้นทุนในการเซ็ตอัพระบบ แต่อีกด้านหนึ่งจะช่วยลดต้นทุนในระยะยาวเพราะในจุดที่เกิดคาร์บอน หรือที่มีความสูญเสียในระบบจะสามารถบริหารจัดการได้ดีขึ้น เวลานี้ไทยถือมีตื่นตัวและมีความพร้อมมากที่สุดในอาเซียนในเรื่องคาร์บอนฟุตพริ้นท์ จากนี้คงต้องไปกระตุ้นเอสเอ็มอีให้ดำเนินการไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันส่งออก แต่ถ้าไม่ทำอาจเสียเปรียบ และอาจถูกใช้เป็นข้อกีดกันการค้าได้ แม้ปัจจุบันทั้งยุโรปและอเมริกายังไม่ได้บังคับให้ติดฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ เป็นเพียงความสมัครใจ แต่เราก็ต้องเตรียมความพร้อม ขณะนี้มีผู้ส่งออกหลายรายได้ใช้ประโยชน์จากฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในการส่งออกสินค้าบ้างแล้ว”
นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU กล่าวว่า เรื่องคาร์บอนฟุตพริ้นท์เพื่อลดภาวะโลกร้อนนี้ เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่บริษัทให้ความสำคัญและได้เตรียมความพร้อมในการทำธุรกิจเพื่อให้มีความยั่งยืน นอกเหนือจากที่ให้ความสำคัญในเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ และแรงงาน ซึ่งทางบริษัทและภาคธุรกิจของไทยได้ติดตามสถานการณ์ของคู่ค้าในเรื่องนี้อย่างใกล้ เพื่อเตรียมความพร้อม และรองรับกฎกติกาของคู่ค้า และของโลกที่จะเกิดขึ้น อีกด้านหนึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจหน้า 11 ฉบับที่ 3626 วันที่ 12-14 พฤศจิกายน 2563
ข่าวที่เกี่ยวข้อง