สัปดาห์หนังสือคึกคัก 14 ประเทศ 135 บริษัท แห่ซื้อขายลิขสิทธิ์หนังสือไทย

03 เม.ย. 2568 | 11:15 น.
อัปเดตล่าสุด :03 เม.ย. 2568 | 11:17 น.

Bangkok Rights Fair 2025 เวทีเจรจาซื้อขายลิขสิทธิ์หนังสือไทยคึกคัก 14 ประเทศ 135 บริษัทร่วมวง ทะลุเป้าหมายที่วางไว้กว่า 20% จีน ไต้หวัน ญี่ปุ่นตบเท้าร่วม ขณะที่ นิยาย-หนังสือเพิ่มความรู้ครองแชมป์ ส่งผลเงินสะพัดกว่า 68 ล้านบาท

นางสาวดวงพร สุทธิสมบูรณ์ อุปนายกฝ่ายต่างประเทศสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การจัดงาน Bangkok Rights Fair 2025 เวทีซื้อขายลิขสิทธิ์หนังสือ ซึ่งเกิดขึ้นภายในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 53 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 23 (53rd National Book Fair & 23rd Bangkok International Book Fair 2025) ในปีนี้

ถือเป็นปีที่ 2 ต่อเนื่องจากปีก่อน ที่มีสำนักพิมพ์ บริษัทลิขสิทธิ์ นักเขียนอิสระเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ทำให้ในปีนี้มีสำนักพิมพ์ ตัวแทนลิขสิทธิ์ และนักเขียนอิสระ จาก 14 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมเจรจาธุรกิจมากถึง 135 บริษัท เพิ่มขึ้นจากที่คาดการณ์ไว้ประมาณ 20%

ดวงพร สุทธิสมบูรณ์

ส่งผลมีเม็ดเงินที่เกิดขึ้นจากการเจรจาธุรกิจเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ประมาณ 68 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาประมาณ 10% โดยหนังสือที่ได้รับความสนใจมากที่สุดยังคงเป็นนิยาย หนังสือเด็ก และหนังสือเพิ่มความรู้ ซึ่งในกลุ่มประเทศอาเซียนอย่างเช่น ฟิลิปปินส์ ประเภทหนังสือที่ให้ความสนใจมากที่สุด คือ BL/GL และ LGBTQ ขณะที่มาเลเซียจะให้ความสนใจหนังสือเด็ก และยุโรปให้ความสนใจหนังสือประวัติศาสตร์

“งาน Bangkok Rights Fair 2025 ครั้งนี้ได้รับความสนใจจากประเทศต่างๆจำนวนมาก โดยมีผู้เข้าร่วมจำนวนมากที่สุดปีนี้คือ จีน ไต้หวัน และญี่ปุ่น รวมไปถึงฟิลิปปินส์ มาเลเซีย รวมถึงประเทศในแถบยุโรป ซึ่งจากผลการตอบรับที่ดีในครั้งนี้ ทางสมาคมมีแผนที่จะนำสำนักพิมพ์ต่างๆ ไปจัดโรดโชว์ในงานต่างๆ ทั่วโลก เพื่อแนะนำงานลิขสิทธิ์ของไทยให้ประเทศต่างๆได้รู้จักมากขึ้นด้วย”

สัปดาห์หนังสือคึกคัก 14 ประเทศ 135 บริษัท แห่ซื้อขายลิขสิทธิ์หนังสือไทย

อย่างไรก็ดีวันนี้ประเทศไทยได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้จัดงานหนังสือในระดับแนวหน้าของโลก และสมาคมมุ่งหวังที่จะเป็นหนึ่งในอาเซียนที่มีสำนักพิมพ์ และนักเขียนอิสระเข้าร่วมงานมากที่สุด ซึ่งจุดแข็งของการจัดงานในปีนี้ คือ การทำงานร่วมกับซอฟต์เพาเวอร์ ด้วยการไปจัดกิจกรรมต่างๆ ในต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นไต้หวัน หรือเกาหลี และมีแผนที่จะไปร่วมงาน Frankfurt Book Fair ณ แฟรงก์เฟิร์ต เยอรมนี เพื่อแนะนำให้ต่างชาติได้รู้จักผลงานของประเทศไทยมากขึ้น ว่าไทยไม่ได้มีแค่หนังสือนิยาย หรือหนังสือแปล แต่เรามีการซื้อขายลิขสิทธิ์ในหนังสือต่างๆที่หลากหลายด้วย

ด้านนายธีรภัทร เจริญสุข ประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านหนังสือ และกรรมการสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) กล่าวว่า การจัดงาน Bangkok Rights Fair 2025 ในครั้งนี้ถือว่าประสบความสำเร็จดีเกินคาด แม้ประเทศไทยจะเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินและได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว

ที่เกิดขึ้นในประเทศเมียนมา ความสำเร็จที่เกิดขึ้นดังกล่าวถือเป็นการตอกย้ำการเป็นศูนย์กลางหนังสือของอาเซียน และคาดว่าในอีก 5 ปีจะขึ้นเป็นศูนย์กลางหนังสือของเอเชีย และภายใน 10 ปี จะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางด้านการซื้อขายลิขสิทธิ์ที่สำคัญของโลก

สัปดาห์หนังสือคึกคัก 14 ประเทศ 135 บริษัท แห่ซื้อขายลิขสิทธิ์หนังสือไทย

“ไทยเราเป็นประเทศที่เปิดกว้างในด้านต่างๆ จึงถือเป็นโอกาสที่ดีที่เราจะนำอุตสาหกรรมหนังสือ และงานด้านลิขสิทธิ์ ไปขยายตลาดยังต่างประเทศ เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางของโลกในด้านของการเดินทาง และการท่องเที่ยว”

สำหรับอุตสาหกรรมหนังสือไทยในปี 2567 มีมูลค่ารวม 1.6 – 1.7 หมื่นล้านบาทมีการเติบโตต่อเนื่อง ดังนั้นในปีนี้ สมาคมฯ จึงจัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 53 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 23 ใหญ่ขึ้นบนพื้นที่ราว 2 หมื่นตารางเมตร เพื่อรองรับนักอ่านและผู้เข้าร่วมงานทั้งชาวไทยและต่างประเทศ โดยมีผู้ประกอบการสำนักพิมพ์และบริษัทต่าง ๆ ทั้งไทยและต่างประเทศกว่า 400 บริษัท เข้าร่วมออกงานกว่า 1,200 บูธ คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 1.3 ล้านคน และมีการจับจ่ายซื้อมากกว่า 420 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5-10% จากการจัดงานครั้งก่อน

 

หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,084 วันที่ 3 - 5 เมษายน พ.ศ. 2568