พาณิชย์ แนะภาคธุรกิจใช้ประโยชน์ “RCEP”

15 พ.ย. 2563 | 09:08 น.

พาณิชย์ แนะเอกชนไทยเร่งใช้ประโยชน์จาก RCEP ชี้มีแต่ได้กับได้ทั้งสินค้าและบริการ เตรียมแถลงความสำเร็จ 16พ.ย.

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า จากความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค(RCEP / อาร์เซ็ป) ที่ 15 ชาติสมาชิกได้ลงนามความตกลงกันในวันนี้(15 พ.ย.63) ถือความตกลงการค้าเสรีใหญ่ที่สุดในโลกประกอบด้วยอาเซียน 10 ประเทศ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์  มีประชากร รวม 2,200 ล้านคน GDP เป็น 1 ใน 3 ของ GDP โลก

 

ประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจาก RCEP คือ การเข้าสู่ตลาดสินค้าและบริการของสมาชิก RCEP ที่เพิ่มจาก FTA ปัจจุบัน เช่น แป้งมันสำปะหลัง ชิ้นส่วนยานยนต์ พลาสติก ประมง น้ำมะพร้าว ผักผลไม้แปรรูป บริการก่อสร้าง ธุรกิจด้านสุขภาพ การผลิตแอนนิเมชั่น และค้าปลีก ตลอดจนความเชื่อมโยงกับ global supply chain  และการปรับปรุงกฏระเบียบต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างกันมากขึ้น

 

พาณิชย์ แนะภาคธุรกิจใช้ประโยชน์ “RCEP”

 

โดยในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2563  เวลา 11.00-.กระทรวงพาณิชย์เตรียมจัดแถลงข่าว “การประกาศความสำเร็จการเจรจา RCEP” โดยจะเปิดตัวความตกลง RCEP อย่างเป็นทางการ เพื่อให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญของความตกลงฯ พร้อมเตรียมศึกษาทำความเข้าใจถึงประโยชน์ที่ไทยจะได้รับและผลกระทบที่อาจจะมีขึ้น รวมทั้งเตรียมความพร้อมในการใช้ประโยชน์จากความตกลงฯ โดยมีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานเปิดงาน และปาฐกถาพิเศษ 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“จุรินทร์”ย้ำ ไทยได้ประโยชน์จาก RCEP

ปิดฉากเจรจายาวนาน 8 ปี  ไทยร่วมลงนาม “อาร์เซ็ป”

ไทยย้ำความสำคัญอาเซียน+3  เชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อ

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมเสวนาและแลกเปลี่ยน/รับฟังความเห็น หัวข้อ “การใช้ประโยชน์และโอกาสจากความตกลง RCEP” ซึ่งมีทั้งภาครัฐและเอกชนที่จะมาถ่ายทอดประสบการณ์ในด้านต่าง ๆ และการเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการไทยไม่ว่าจะเป็น นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ หัวหน้าคณะเจรจา RCEP , รองศาสตราจารย์ ดร. ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา และศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ,ดร. ชนินทร์ ชลิศราพงศ์  นายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย และนายกสมาคมการค้าอาหารสัตว์เลี้ยงไทย ,นพ.พงศ์ธร เกียรติดำรงวงศ์ผู้อำนวยการฝ่ายการบริหารโครงการ โรงพยาบาลกรุงเทพ,นางวราภรณ์ มนัสรังษี ผู้บริหารและเจ้าของบริษัท เค-เฟรช จำกัด

 

พาณิชย์ แนะภาคธุรกิจใช้ประโยชน์ “RCEP”

 

สำหรับโครงสร้างความตกลงอาร์เซ็ป มีทั้งหมด 20 บท ประกอบด้วย 1.บทบัญญัติพื้นฐานและคำนิยามทั่วไป 2.การค้าสินค้า 3.กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า 4.พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า 5.สุขอนามัยและสุขอนามัยพืช 6.มาตรฐาน กฎระเบียบทางเทคนิค และกระบวนการตรวจสอบและรับรอง 7.การเยียวยาทางการค้า 8.การค้าบริการ ภาคผนวกบริการการเงิน ภาคผนวกบริการโทรคมนาคม ภาคผนวกบริการวิชาชีพ 9.การเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดา 10.การลงทุน11.ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการ 12.วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม 13.ทรัพย์สินทางปัญญา 14.พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ 15.การแข่งขัน 16.การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ 17.บทบัญญัติเกี่ยวกับสถาบัน 18.บทบัญญัติทั่วไปและข้อยกเว้น 19.การระงับข้อพิพาท 20.บทบัญญัติสุดท้าย

 

พาณิชย์ แนะภาคธุรกิจใช้ประโยชน์ “RCEP”

 

หากมองย้อนกลับไปเมื่อ 7 ปีที่ผ่านมาจะพบว่า จุดเริ่มต้นของอาร์เซ็ปเกิดจากอาเซียนเห็นโอกาสในการขยายตลาดเพิ่มเติมกับประเทศที่อาเซียนมีความตกลงการค้าเสรีอยู่แล้ว เพื่อการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น อาร์เซ็ปจึงกลายเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญของการมุ่งสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ที่มีอาเซียนเป็นแกนกลาง (ASEAN centrality) ในการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจในภูมิภาค

พาณิชย์ แนะภาคธุรกิจใช้ประโยชน์ “RCEP”

 

ทั้งนี้อาร์เซ็ปถือเป็นความตกลงการค้าเสรีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกปัจจุบัน ครอบคลุมประชากรกว่า 3,500 ล้านคน หรือเกือบครึ่งของประชากรโลก มีมูลค่า GDP กว่า 27.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 32.3% ของ GDP โลก มีมูลค่าการค้ารวมกว่า 11.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็น 29.3% ของมูลค่าการค้าโลก โดยในปี 2561 ไทยกับประเทศสมาชิกอาร์เซ็ปมีมูลค่าการค้ารวมอยู่ที่ประมาณ 2.9 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็น 59.8% ของการค้ารวมทั้งหมดของไทย

สำหรับประโยชน์ที่ผู้ประกอบการไทยจะได้รับจากความตกลงในครั้งนี้ นอกจากสามารถสรรหาแหล่งวัตถุดิบที่มีความหลากหลายทั้งเชิงคุณภาพและราคามากขึ้น จากเดิมที่สรรหาวัตถุดิบเพียง 10 ประเทศในอาเซียน ขยายเป็น 16 ประเทศแล้ว ยังทำให้ไทยเข้าไปอยู่ในเครือข่ายภาคการผลิต และการกระจายสินค้าของภูมิภาค ความตกลงอาร์เซ็ปยังช่วยลดความซ้ำซ้อนเรื่องกฎถิ่นกำเนิดสินค้า ประสานกฎระเบียบและมาตรการทางการค้า การยอมรับกฎเกณฑ์ด้านมาตรฐานต่าง ๆ ระหว่างกัน ซึ่งจะช่วยขยายการค้าและการลงทุนของไทย รวมทั้งสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยในการเข้าไปลงทุนในประเทศสมาชิกอาร์เซ็ป ในสาขาที่ไทยมีศักยภาพ อาทิ ก่อสร้าง ค้าปลีก ธุรกิจเกี่ยวเนื่องด้านสุขภาพ ธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับภาพยนตร์และบันเทิง ประเภทเทคนิคตัดต่อภาพและเสียง การผลิตแอนิเมชั่นเป็นต้น