นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยการใช้สิทธิประโยชน์สำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) และภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ระหว่างเดือนมกราคม-สิงหาคม 2563 โดยมูลค่าการใช้สิทธิฯ รวมเท่ากับ 40,511.69 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 77.61% แบ่งเป็นมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) 37,565.99 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) 2,945.70 ล้านเดอลลาร์สหรัฐฯ โดยภาพรวม การใช้สิทธิประโยชน์ฯ 8 เดือนแรกของปี 2563 ลดลง 15.72 %
การใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงทางการค้าเสรีในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2563 มีมูลค่า 37,565.99 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา 16.84% มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 77.37% โดยตลาดที่ไทยส่งออกโดยมีมูลค่าการใช้สิทธิฯ ภายใต้ FTA สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) จีน (มูลค่า 12,785.19 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) 2) อาเซียน (มูลค่า 12,209.53 ล้านดอลาร์สหรัฐฯ) 3) ญี่ปุ่น (มูลค่า 4,369.54 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) 4) ออสเตรเลีย (มูลค่า 4,089.69 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) และ 5) อินเดีย (มูลค่า 2,075.68 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) สำหรับกรอบความตกลงการค้าเสรีที่มีอัตราการใช้สิทธิ-ประโยชน์ฯ สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ไทย-ชิลี , อาเซียน-จีน , ไทย-เปรู , ไทย-ญี่ปุ่น , และ อาเซียน-เกาหลี , สินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง อาทิ ทุเรียนสด ผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ รถบรรทุกขนส่งขนาดไม่เกิน 5 ตัน เครื่องปรับอากาศ ฝรั่ง มะม่วง มังคุด ยานยนต์สำหรับขนส่งบุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไป มันสำปะหลัง เป็นต้น
การใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป หรือ GSP ทั้ง 4 ระบบ สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช และนอร์เวย์ ในช่วง มกราคม-สิงหาคม 2563 มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 2,945.70 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 1.90% และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 80.78% ตลาดส่งออกที่ไทยมีมูลค่าการใช้สิทธิฯ มากที่สุดคือ สหรัฐอเมริกา มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 2,608.60 ล้านดอลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน0.17% และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 82.41% สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ ถุงมือยาง อาหารปรุงแต่ง เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ อันดับสองคือ สวิตเซอร์แลนด์ มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 221.44 ล้านดอลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 23.90% และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 63.33% สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ น้ำสับปะรด ปลาทูน่ากระป๋อง กระเป๋าเดินทางขนาดใหญ่ อันดับสามคือ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 92.91 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 1.19% และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 82.32% สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ สับปะรดกระป๋อง พืช/ผลไม้ปรุงแต่ง ข้าวที่สีบ้างแล้ว/สีทั้งหมด และนอร์เวย์ มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 22.75 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 41.48% และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 100% สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ อาหารปรุงแต่ง ข้าวโพดหวาน ข้าว สำหรับสินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ GSP สูง อาทิ ถุงมือยาง อาหารปรุงแต่ง ส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศ เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ เลนส์แว่นตา กรดซิทริก เป็นต้น
สำหรับ 8 เดือนแรกของปี 2563 สินค้าอาหาร/เกษตรแปรรูป อาทิ ปลาทูน่า ปลาสคิปแจ็ก และปลาโบนิโตชนิดซาร์ดา (กระป๋อง) น้ำผลไม้ เครื่องดื่มที่ไม่เติมแก๊ส อาหารปรุงแต่ง ผลไม้สด ยังคงเป็นดาวเด่นในการใช้สิทธิฯ ส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าที่ไทยมีความตกลงฯ โดยเฉพาะประเทศที่ยังมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 อาทิ อินเดีย สหรัฐอเมริกา หรือในอาเซียน ในขณะเดียวกัน สินค้าอุปโภคบริโภคที่เกี่ยวเนื่องกับการอยู่บ้านหรือทำงานที่บ้าน (Work from home) ในช่วงสถานการณ์โควิด 19 มีการใช้สิทธิฯ ส่งออกไปได้มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาทิ ตู้เย็น (ไทย-อินเดีย, อาเซียน, อาเซียน-เกาหลี) เครื่องล้างจานชนิดใช้ตามบ้านเรือน (อาเซียน-เกาหลี) เครื่องซักผ้า (อาเซียน-เกาหลี) เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารและเครื่องครัว (อาเซียน-อินเดีย, อาเซียน-จีน, อาเซียน-เกาหลี) เฟอร์นิเจอร์ทำด้วยไม้ (อาเซียน-อินเดีย) เฟอร์นิเจอร์ทำด้วยโลหะ (ไทย-ออสเตรเลีย) เครื่องสุขภัณฑ์ติดตั้งถาวรที่คล้ายกัน ที่เป็นเซรามิก (อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์) แชมพู (อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์) เครื่องปรับอากาศติดผนัง (อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์) อาหารสุนัขหรือแมว (ไทย-ออสเตรเลีย, อาเซียน-อินเดีย, อาเซียน-จีน, อาเซียน-เกาหลี) เป็นต้น