ประเทศไทยอยู่ในภาวะเศรษฐกิจโตต่ำมานาน เฉลี่ย 10 ปี จีดีพีขยายตัวเพียง 1.9% ต่อปี ส่งผลต่อการจัดเก็บรายได้รัฐบาล ทำให้กลไกขับเคลื่อนประเทศต้องใช้งบประมาณแบบขาดดุลอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อสัดส่วนหนี้สาธารณะให้อยู่ในระดับสูงขึ้นจาก 4.8 ล้านล้านบาทในช่วง 9 ปีที่ผ่านมา ขยับขึ้นมาเป็น 11 ล้านล้านบาท โดย ณ สิ้นเดือนต.ค.67 หนี้สาธารณะอยู่ที่ระดับ 63.99% ต่อจีดีพี
กระทรวงการคลังพยายามผลักดันการปรับโครงสร้างภาษีมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยการปรับโครงสร้างภาษีของกระทรวงการคลัง มีทั้งแผนระยะสั้น ระยะปานกลาง และระยะยาว
สำหรับระยะสั้น การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat) 7% สินค้านำเข้าราคาต่ำกว่า 1,500 บาท เป็นหนึ่งในการปฏิรูปภาษีที่เกิดขึ้นในปี 2567 เพื่อแก้ไขปัญหาสินค้าจีนทะลักเข้ามาในประเทศไทย ที่มีผลต่อความสามารถในการแข่งขันผู้ประกอบการในประเทศ
ขณะที่ภาษีตัวใหม่ ที่จะได้เห็นแน่นอนในปี 2568 คือ ภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) โดยนางสาวกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพสามิตระบุว่า กระทรวงการคลัง เตรียมเสนอภาษีคาร์บอน ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติ โดยจะเริ่มจัดเก็บจากน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน โดยกำหนดราคาคาร์บอนไว้ที่ 200 บาทต่อตันคาร์บอน ซึ่งขั้นตอนหลังจากได้รับการอนุมัติแล้ว กรมสรรพสามิตจะเดินหน้าแก้ไขกฎหมาย และออกประกาศต่อไป
อีกหนึ่งภาษีตัวใหม่ที่จะเห็นในปี 2568 คือ ภาษีส่วนเพิ่ม หรือ Global Minimum Tax โดยร่างพ.ร.ก.ภาษีส่วนเพิ่ม พ.ศ. .... ของกระทรวงการคลัง ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เรียบร้อยแล้ว ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปี 2568 เพื่อให้สอดคล้องกับเกณฑ์ขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD)
สำหรับภาษี Global Minimum Tax นั้น ดำเนินการภายใต้มาตรการ Pillar 2 เพื่อจัดเก็บภาษีเพิ่มเติมจากบริษัทที่เข้าตามมาตรการต้องเสียภาษีขั้นต่ำ (Global Minimum Tax) ในอัตรา 15%
นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวถึงหลักการจัดเก็บภาษี Global Minimum Tax เบื้องต้นว่า หากมีการเสียภาษีในประเทศที่มีบริษัทในเครือไปทำธุรกิจ ในอัตราต่ำกว่าอัตราภาษีขั้นต่ำ 15% ประเทศที่บริษัทแม่ตั้งอยู่สามารถเก็บภาษีได้เพิ่มเติมจากส่วนต่างระหว่างอัตราที่เสียและอัตราภาษีขั้นต่ำได้ โดยขอบเขตการจัดเก็บภาษีจะพิจารณากลุ่มบริษัทข้ามชาติที่มีรายได้รวมตั้งแต่ 750 ล้านยูโร
ขณะที่ระยะปานกลางนั้น กระทรวงการคลัง มีแนวคิดที่จะนำภาษี Negative Income Tax มาใช้ เพื่อดูแลสวัสดิการของประชาชน โดยปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า อีก 3 ปี ก่อนที่ตนจะเกษียณจะผลักดันให้ภาษี NIT (Negative Income Tax) เกิดขึ้นอย่างแน่นอน โดยการใช้ภาษี NIT จะเห็นคนจนหลายระดับ ซึ่งจะมีการช่วยเหลือที่ไม่เท่ากัน เป็นรูปแบบขั้นบันได ตามการยื่นแบบเงินได้บุคคลธรรมดา เช่น หากมีรายได้เกินเกณฑ์ที่กำหนด ก็จะถูกจัดเป็นกลุ่มผู้เสียภาษี แต่หากมีรายได้น้อยกว่าที่กำหนด ก็มารับสวัสดิการ
“อนาคตคนไทยทุกคนต้องยื่นภาษีเงินได้ส่วนบุคคลทั้งหมด เพื่อให้ประชาชนเข้ามาอยู่ในระบบภาษีทั้งหมด หากมีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ที่รัฐกำหนด ก็จะจัดให้รับสวัสดิการ ซึ่งการผลักดันให้ใช้ภาษี NIT เพราะต้องการให้รูปแบบสวัสดิการมีความชัดเจน จากปัจจุบันที่มีกว่า 20-30 สวัสดิการ โดยจะเป็นการรื้อระบบสวัสดิการใหม่ จัดระเบียบใหม่ เพื่อไม่ให้เป็นภาระทางการคลังในอนาคต”
ในแผนการปรับโครงสร้างภาษีระยะยาว กระทรวงการคลังยังศึกษาปรับขึ้นภาษี Vat จาก 7% โดยนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างศึกษาการปรับโครงสร้างภาษีประเทศ โดยปัจจุบันการจัดเก็บรายได้ ฐานภาษีเราต่ำ ซึ่งภาษีบริโภค หรือภาษี Vat วันนี้อยู่ที่ระดับ 7% โดยเว้นจากกฎหมายที่ระบุให้เก็บได้ถึง 10% ขณะที่ทั่วโลกจัดเก็บภาษี Vat เฉลี่ยสูงถึง 15-25% นั่นแปลว่า วันนี้เราเก็บภาษีบริโภคในอัตราที่ต่ำอยู่ ซึ่งควรให้สอดคล้องกับทั่วโลก
แน่นอนว่า “การจัดเก็บภาษี” ล้วนมีผลต่อประชาชน สุดท้ายแล้วภาษีที่ออกมาควรสอดคล้องกับความจริง ไม่เอื้อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และไม่เกิดความเหลื่อมล้ำ ถือเป็นโจทย์ที่กระทรวงการคลัง และรัฐบาลจะต้องตอบคำถามประชาชนให้ได้ และท้ายที่สุด ภาษีที่รัฐจัดเก็บไปนั้นต้องนำไปใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ประชาชนรู้สึกคุ้มค่าในการจ่ายภาษี
วิเคราะห์ หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,058 วันที่ 2 - 4 มกราคม พ.ศ. 2568