RCEP เดินหน้าสะเทือนมะกัน บีบ‘ไบเดน’เร่งคานอำนาจจีน

19 พ.ย. 2563 | 11:53 น.

โลกจับตาหลัง 15 ชาติร่วมลงนาม RCEP เปิดเขตค้าเสรีใหญ่สุดในโลก บีบ “ไบเดน” เร่งตัดสินใจหาทางออกเพื่อคานอำนาจจีน นักวิชาการชี้ 3 ทาง กลับเข้าร่วม CPTPP ดันอินโด-แปซิฟิก หรือเปิดวงใหม่ จับตาสะเทือนไทย กมธ.ส่งสรุปผลการศึกษา CPTPP จี้รัฐตัดสินใจใน 3 เดือน

วันที่ 12 พฤศจิกายน 2563 สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเห็นชอบข้อเสนอรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.)พิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP)

 

ถัดมาวันที่ 15 พฤศจิกายน 2563 รัฐมนตรีการค้า 15 ชาติสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค(RCEP/อาร์เซ็ป) ไม่รวมอินเดีย ได้ร่วมลงนามความตกลงอาร์เซ็ป ประกาศความสำเร็จเปิดเขตการค้าเสรี (FTA) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก คาดจะมีผลบังคับใช้กลางปีหน้า

 

บีบไบเดนหาทางออก

 

ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจจีน เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การลงนามความตกลงอาร์เซ็ป ซึ่งมีจีนรวมอยู่ด้วยในครั้งนี้จะเป็นตัวเร่งให้นายโจ ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯที่จะเข้าสาบานตนเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคม 2564 ต้องตัดสินใจในการหาเวทีที่มีสหรัฐฯเป็นแกนนำเพื่อคานอำนาจจีนทั้งด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอย่างแน่นอน           

 

ทั้งนี้มองว่ามี 3 ทางเลือกคือ 1.กลับเข้าร่วมความตกลง TPP (หรือในชื่อ CPTPP ในปัจจุบัน) 2.สานต่อความร่วมมืออินโด-แปซิฟิก ร่วมกับญี่ปุ่น อินเดียและออสเตรเลียที่สมัยโดนัลด์ ทรัมป์ได้ผลักดันแต่ยังไม่สำเร็จ โดยในกรอบนี้เป็นเรื่องของการเมืองและความมั่นคง และ 3.หาเวทีใหม่ที่มีสหรัฐฯเป็นแกนนำ โดยผนึกกับพันธมิตร ซึ่งทั้ง 3 แนวทางจะมีผลกระทบกับไทยไม่มากก็น้อย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

RCEP จะเป็นแต้มต่อ แต่ไม่ใช่ประโยชน์เกิดเองโดยอัตโนมัติ

“จุรินทร์”  Kick Off  RCEP  เร่งส่งสภาฯให้สัตยาบัน

พาณิชย์ แนะภาคธุรกิจใช้ประโยชน์ “RCEP”

“จุรินทร์”ย้ำ ไทยได้ประโยชน์จาก RCEP

นายกฯจีน ประกาศชัยชนะ 15 ประเทศลงนาม “RCEP”

 

 

RCEP เดินหน้าสะเทือนมะกัน บีบ‘ไบเดน’เร่งคานอำนาจจีน

 

กมธ.จี้รัฐเร่งตัดสินใจ

นายวีระกร คำประกอบ ประธาน กมธ.พิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลง CPTPP กล่าวว่า มั่นใจว่าสหรัฐฯในยุคไบเดนจะกลับเข้าร่วมความตกลง CPTPP แน่ ทั้งนี้หากสหรัฐฯกลับเข้าร่วม CPTPP และไทยได้ร่วมเป็นสมาชิกความตกลงก็จะเป็นโอกาสอันดีที่ไทยจะมีเอฟทีเอกับสหรัฐฯผ่าน CPTPP ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมากเพราะสหรัฐฯเป็นหนึ่งในตลาดสำคัญ

 

สำหรับรายงานผลการศึกษา CPTPP หลังผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนฯ ล่าสุด กมธ.ได้นำเสนอรายงานบทสรุป ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะต่างๆ ไปให้รัฐบาลแล้ว หากครบ 3 เดือนนับจากนี้ ทางกมธ.จะทวงถามเพื่อให้รัฐบาลตอบกลับมาว่ามีความเห็นเป็นอย่างไร หากเห็นด้วยกับที่ กมธ.เสนอก็ให้สั่งการกระทรวง หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปเร่งดำเนินการเตรียมความพร้อมในเรื่องต่างๆ ทั้งด้านผลกระทบด้านการเกษตรและพันธุ์พืช,ด้านการแพทย์ และสาธารณสุข และด้านเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนที่รัฐต้องให้การสนับสนุนทั้งเรื่องงบประมาณ และบุคลากร รวมถึงการแก้ไขกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่อง

 

“ทางคณะกรรมาธิการไม่เคยบอกเลยว่าเราไม่ควรเข้า CPTPP เพียงแต่บอกว่าเราควรเข้าเมื่อเราพร้อม หรือมีการเตรียมความพร้อม หากรัฐบาลจะได้เตรียมความพร้อมในเรื่องต่าง ๆ ตามที่เราเสนอ และเห็นควรร่วมเจรจาก็ให้มีมติคณะรัฐมนตรีออกมาเพื่อให้กระทรวงพาณิชย์ยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงค์ขอเข้าร่วมเจรจาต่อไป ซึ่งการเจรจาต้องใช้เวลาอย่างเร็วสุด 2-3 ปีกว่าจะได้ข้อสรุป มองว่าไม่เร็วหรือช้าไทยต้องเข้าร่วม CPTPP เพราะเวลานี้ไทยมีเอฟทีเอกับคู่ค้าเพียง 18 ประเทศ ขณะที่เวียดนามมีกับ 53 ประเทศ ทำให้ไทยเสียเปรียบการแข่งขันมาก”

 

เร่งไทยเตรียมพร้อม

นายชนินทร์ ชลิศราพงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย กล่าวว่า ภาครัฐควรเร่งเข้าร่วมเจรจา CPTPP รวมถึงเจรจาจัดทำเอฟทีเอกับสหราชอาณาจักร(อังกฤษ) และสหภาพยุโรป(อียู) เป็นต้น ส่วนกรณีที่สหรัฐฯยุคไบเดนจะกลับเข้าร่วม CPTPP หรือไม่นั้น มองว่าสหรัฐฯคงต้องดูในรายละเอียดและอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไข เพราะสหรัฐฯมีอำนาจต่อรองสูง

 

ด้านรศ.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา และศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า แม้อาร์เซ็ป จะเป็นความร่วมมือขนาดใหญ่ มีอาเซียนเป็นแกนกลาง แต่ไทยยังจำเป็นต้องเข้า ร่วม CPTTP เพราะหุ้นส่วนนี้เป็นข้อตกลงสำคัญที่จะเชื่อมไปสู่การค้าฝั่งอเมริกาได้ เชื่อว่าหลังเข้ารับตำแหน่งของโจ ไบเดนจะมีการเจรจาการค้าใหม่ๆ ที่มี กฎกติกา และมาตรการสูงขึ้นไปอีก ถ้าไทยไม่เตรียมพร้อม อาจจะไม่มีอำนาจต่อรอง ระหว่างนี้ต้องทำมาตรฐาน สร้างพันธมิตร และสร้างมาตรฐานของตัวเองให้พร้อมเพื่อให้มีอำนาจต่อรองมากขึ้น เพราะจากนี้ไปโลกจะค้าขายภายใต้มาตรฐานสินค้าเป็นสำคัญ

 

ขณะที่นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า กรมได้ติดตามความเคลื่อนไหวของสหรัฐฯอย่างต่อเนื่อง เบื้องต้นคาดว่าสหรัฐฯอาจจะยังไม่เข้าร่วม CPTPP ในขณะนี้ แต่จะใช้วิธีในการเจรจาเอฟทีเอแบบรายประเทศใหม่ ๆ แทน

 

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจหน้า 1 ฉบับที่ 3628 วันที่ 19-21 พฤศจิกายน 2563