นายสมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวในการบรรยายพิเศษ เรื่อง “มองโลก ดูไทย เศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร: บทเรียนจาก COVID-19ในงานสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 38 ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กรุงเทพ ฯ ว่า ประเทศไทยมีขีดความสามารถสูงในด้านการต่อสู้กับโควิด-19 จากการจัดอันดับของสถาบันจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศ (IMD) เนื่องจากมีโครงสร้างด้านการจัดการระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็ง ขณะที่การบริหารเศรษฐกิจมหภาคมีการจัดการได้เป็นอย่างดี เนื่องจากมีหน่วยงานภาครัฐที่มีประสิทธิภาพดูแลเพื่อรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศ เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย,กระทรวงการคลัง,และหน่วยงานเศรษฐกิจอื่นๆ ที่ร่วมกันดูแลระบบเศรษฐกิจของประเทศ
อย่างไรก็ดี ก็ยังมีหลายด้านที่ประเทศไทยมีการบริหารจัดการที่ยังไม่ดีเพียงพอไม่ว่าด้านการพัฒนาทักษะ ด้านเทคโนโลยี นวัตกรรมและการวิจัย ที่ยังต้องมีการยกระดับมากขึ้นโดยWorld Economic Forum (WEF) ประเมินว่าปัญหาการกระจายรายได้ของไทยยังมีปัญหาในการจัดการที่ยังกระจุกในส่วนกลางไม่กระจายไปยังภูมิภาค เกิดการเหลื่อมล้ำทางรายได้ที่เห็นได้ชัด การพัฒนาอุตสาหกรรมยังไม่กระจายมากนัก จึงเป็นโจทย์ที่จะต้องแก้ไขเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
ส่วน IMDได้สะท้อนปัญหาที่น่าเป็นห่วงและภาครัฐต้องเร่งแก้ไข โดยควรกำหนดนโยบายเพื่อเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ เพื่อไม่ให้อุตสาหกรรมในประเทศย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเวียดนามที่มีการพัฒนารองรับการลงทุนจากต่างประเทศ ปัจจัยสำคัญที่จะเพิ่มขีดความสามารถของภาครัฐ 3 ประการ ได้แก่ การคอร์รัปชันกฎหมายกฏระเบียบภาครัฐ และคุณภาพระบบราชการ ในขณะที่ประเทศไทยสามารถจัดเก็บภาษีได้จำนวนมาก และมีทรัพยากรปริมาณมากที่พร้อมรองรับการพัฒนาประเทศ แต่ปัญหาด้านการคอรัปชัน กฎหมายและการบริหารระบบราชการเป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ที่จะต้องมีการบริหารจัดการให้ดียิ่งขึ้นเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
นายสมเกียรติ กล่าวอีกว่า บทเรียนการจัดการโรคระบาดในประเทศไทย เป็นตัวอย่างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เห็นได้ชัด และกรณีตัวอย่างการแก้ไขปัญหาจากกรณีการควบคุม โรคไข้หวัดหมู ที่บริษัทเอกชนรายใหญ่ในประเทศได้สนับสนุนงบประมาณให้กรมปศุสัตว์จัดหาวัดซีน และควบคุมการนำเข้าจนสามารถควบคุมโรคระบาดได้
ทั้งนี้ ประเทศไทยมีการบริหารหนี้สาธารณะได้ดี แต่มีจุดอ่อนเรื่องของการกระจายขีดความสามารถ ทำให้การบริหารไม่ตรงเป้าหมาย ดังนั้น ภาครัฐจะต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อให้การใช้งบประมาณเกิดประสิทธิภาพอย่างแท้จริงและสามารถพึ่งพาตนเองได้รวมทั้งโครงการประเมินผลของประเทศสมาชิก OECD (PISA) ประเมินสรรถนะของเด็กไทยมีแนวโน้มลดต่ำลงเรื่อยๆ โดยพบว่าเด็กไทยอ่านหนังสือออกแต่นำมาประยุกต์ไม่ได้ ซึ่งจะเป็นปัญหาการต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต
นอกจากนี้ยังพบว่า ขีดความสามารถของภาครัฐที่ต่ำ ทำให้ประเทศไทยติดกับดักรายได้ปานกลาง โดยมีเพียง 13 ประเทศเท่านั้นที่สามารถก้าวผ่านกับดักรายได้ปานกลาง เปลี่ยนผ่านไปสู่รายได้สูง เป็นเพราะภาครัฐมีขีดความสามารถสูง ดังนั้น ขีดความสามารถภาครัฐเป็นเรื่องสำคัญต่อการพัฒนาประเทศตัวอย่างการก้าวกระโดดของต่างประเทศ เช่น เอสโตเนียที่มีอายุประเทศเพียง 20 กว่าปีแต่มีการพัฒนาประเทศที่ประชาชนสามารถทำธุรกรรมต่างๆ ผ่านบัตรประชาชนเพียงอย่างเดียว สามารถนำดิจิทัลรองรับการพัฒนาปะเทศดีมาก เป็นรัฐบาลดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบดังนั้น ประเทศไทยจะต้องปฏิรูป โดยมีกุญแจสำคัญ 2 เรื่อง ดังนี้ คือ 1.ไทยจะก้าวไปได้ต้องให้ไทยเป็นรัฐบาลดิจิทัล 2. การแก้ไขกฎระเบียบภาครัฐให้ครบถ้วนรองรับการประกอบธุรกิจ
“แนวทางการต่อสู้กับโควิด-19 ในบางประเทศเลือกที่จะสละชีวิตและรักษาเศรษฐกิจ ทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก แต่สามารถพยุงรักษาระดับเศรษฐกิจเอาไว้ได้ แต่บางประเทศเลือกใช้แนวทางสละเศรษฐกิจและรักษาชีวิต ซึ่งจะเห็นได้ว่าประเทศเหล่านี้จะสูญเสียทางเศรษฐกิจเพื่อแลกกับการรักษาชีวิตของประชาชน ซึ่งไทยเองก็ได้ใช้แนวทางนี้ โดยไทยจะมีการเสียชีวิตน้อยมาก ขณะที่ต้องแลกกับการสูญเสียทางเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก ส่งผลต่อจีดีพี ของประเทศที่ลดลงอย่างต่อเนื่องมากกว่าผลกระทบต้มยำกุ้งที่ผ่านมา แต่เมื่อมีการควบคุมได้ทำให้สามารถฟื้นเศรษฐกิจได้ดีขึ้น” นายสมเกียรติ กล่าว
สำหรับภาพรวมของเศรษฐกิจโลกในช่วงที่มีการระบาดของโควิด -19 พบว่า ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกทั่วโลก และได้ขอช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ซึ่งส่งผลให้หลายประเทศไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด ขณะที่ ประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่าการขยายตัวเศรษฐกิจ (จีดีพี) ) กว่า 7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ปัจจุบันเศรษฐกิจโดยรวมของโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวในลักษณะแบบตัว K (K-Shaped) โดยจะมีบางกลุ่มที่สามารถฟื้นตัวกลับมาได้เร็วแต่ในขณะเดียวกันจะมีอีกกลุ่มที่ไม่สามารถฟื้นตัวและมีแนวโน้มปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น แม้ว่าจะค้นพบวัคซีนแต่ยังคงมีผลกระทบอยู่ โดยเศรษฐกิจโลกคาดว่าจะติดลบกว่า 4.4% และมีเพียงประเทศจีนที่แนวโน้มเศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่อง เนื่องจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจมีความแข็งแกร่ง
ส่วนปัจจัยต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก คือการเลือกตั้งของสหรัฐที่ผ่านมาแม้ผลการเลือกตั้งจะมีความชัดเจน โดยคะแนนเสียงในเมืองใหญ่เป็นของไบเดน แต่เขตเมืองเล็กเป็นของทรัมป์ แต่ผู้ชนะผลการเลือกตั้งยังไม่อาจคุมเสียงในรัฐสภาได้อย่างเด็ดขาด ยังมีการแตกแยกทางการเมือง จะส่งผลต่อการผลักดันโยบายที่สำคัญๆ ทำให้การบริหารจัดการมีความลำบาก
ด้านนโยบายทางการค้าของสหรัฐ จะคงมีการปิดล้อมประเทศจีนและรัสเซียอย่างเห็นได้ชัด ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) ซึ่งมี 15 ประเทศเข้าร่วม โดยกลุ่มประเทศใน RCEP จะมีอัตราการขยายตัวของจีดีพี เพิ่มขึ้นในอีก 10 ปีข้างหน้า และจะเป็นเขตการค้าเสรี(เอฟทีเอ)ใหญ่ที่สุดในโลก การผลิตวัคซีน คาดว่าปีหน้าประเทศไทยน่าได้ใช้แล้ว โดยจะทำการจัดสรรวัคซีนให้กับกลุ่มเสี่ยง เช่น คนสูงอายุ แพทย์ และจะมีการจัดสรรเชิงพาณิชย์โดยใช้กลไกการตลาด ซึ่งประเทศไทยได้จัดสรรจำนวน 3 พันล้านโดส ดังนั้น การมีวัคซีนจะทำให้สามารถเปิดการท่องเที่ยวได้มากขึ้น โดยคาดว่านักท่องเที่ยวกลุ่มแรกที่จะเข้ามาจะเป็นกลุ่มที่มีรายได้สูงเพราะเป็นกลุ่มที่สามารถหาวัคซีนมาใช้ได้ก่อน