นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า รัฐบาลอินเดียได้ประกาศลดอัตราภาษีนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบ (Crude Palm Oil) จากเดิม37.5% เหลือ27.5% มีผลตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2563 เพื่อตอบสนองความต้องการบริโภคน้ำมันปาล์มในประเทศและบรรเทาภาระผู้บริโภคจากราคาสินค้าหมวดอาหารที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา อินเดียเพิ่งปรับลดอัตราภาษีนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบ จากเดิม 40% เหลือ 37.5% สำหรับกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน
“อินเดียเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันปาล์มมากที่สุดในโลก โดยการบริโภคน้ำมันปาล์มคิดเป็นสัดส่วน 40% ของน้ำมันเพื่อการบริโภค (edible oils) ในประเทศทั้งหมด ทั้งนี้ อินเดียนำเข้าน้ำมันเพื่อการบริโภคเฉลี่ยประมาณ 15 ล้านตันต่อปี รองจากการนำเข้าน้ำมันดิบและทองคำตามลำดับ โดยในปี 2562 อินเดียนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบ (พิกัด 1511.10) จากทั่วโลก มูลค่ารวม 3,555 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง 11.37% จากปีก่อนหน้า โดยนำเข้าสูงสุดจากอินโดนีเซีย 66.03% รองลงมา ได้แก่ มาเลเซีย 26.25% สิงคโปร์ 5.02%
ขณะที่นำเข้าจากไทยเป็นอันดับ 4 มูลค่า 89.64 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง 63% จากปีก่อนหน้า คิดเป็น 2.52 %ของมูลค่านำเข้าทั้งหมด ทั้งนี้ ระหว่างมกราคมถึงกันยายนที่ผ่านมา อินเดียนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบจากทั่วโลก มูลค่ารวม 3,221.24 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น31.61% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยนำเข้าสูงสุดจากอินโดนีเซีย 69.61% รองลงมา ได้แก่ มาเลเซีย 24.53% สิงคโปร์ 3.72 %ขณะที่นำเข้าจากไทยเป็นอันดับ 4 มูลค่า 62.17 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็น1.93% ลดลง 28.64% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า”
ถึงแม้ว่าส่วนแบ่งตลาดน้ำมันปาล์มดิบของไทยในอินเดียยังมีสัดส่วนน้อยเมื่อเทียบกับอินโดนีเซียและมาเลเซียก็ตาม กรมฯ มองว่าการที่อินเดียลดอัตราภาษีนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบลง 10% จะช่วยเพิ่มโอกาสในการส่งออกสินค้าน้ำมันปาล์มของไทยไปตลาดอินเดียให้ขยายตัวมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกจากท่าเรือภาคใต้ฝั่งตะวันตกไปท่าเรือฝั่งตะวันออกของอินเดีย อาทิ เมืองเจนไนและโกลกาตา ซึ่งจะช่วยให้ต้นทุนการขนส่งไม่สูงจนเกินไปและช่วยให้แข่งขันด้านราคากับประเทศคู่แข่ง เช่น มาเลเซียได้ นอกจากนี้ กรมฯ แนะนำให้ผู้ประกอบการไทยควรศึกษามาตรฐานน้ำมันปาล์มภายใต้กรอบความยั่งยืนของน้ำมันปาล์มอินเดีย (Indian Palm Oil Sustainability Framework) หรือ IPOS ด้วย เพื่อเตรียมรองรับเงื่อนไขด้านมาตรฐานน้ำมันปาล์มที่คาดว่าอินเดียจะนำมาใช้ในอนาคต” อธิบดีให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม
ทั้งนี้เพื่อเป็นการขยายโอกาสส่งออกน้ำมันปาล์มของไทยรองรับอานิสงส์จากการลดภาษีนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบของอินเดีย กรมฯ ได้เตรียมแผนจัดกิจกรรมจับคู่เจรจาธุรกิจออนไลน์ (Online Business Matching) หรือ OBM สินค้าน้ำมันปาล์ม ในวันที่ 19 มกราคม 2564 โดยนอกจากน้ำมันปาล์มแล้ว กรมยังได้เตรียมจัดกิจกรรม OBM สินค้าประเภทอื่นๆ ระหว่างผู้ประกอบการไทยและผู้นำเข้าอินเดีย ภายใต้ชื่อกิจกรรม Sourcing for India ระหว่างวันที่ 18-22 มกราคม 2564 อาทิ ไม้ยางพาราและเฟอร์นิเจอร์ อาหารสัตว์เลี้ยง ของเล่นเด็ก เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์ฮาลาล เป็นต้น ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ สายด่วน 1169