นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ทูตพาณิชย์ชิคาโก ได้รายงานสถานการณ์การค้าทั้งออนไลน์และออฟไลน์ว่า ช่องทางจำหน่ายยังคงเป็นออฟไลน์ แต่ออนไลน์เริ่มมาแรง ซึ่งผลการวิจัยตลาดขนมขบเคี้ยวและของทานเล่นจากทูตพาณิชย์ ณ นครชิคาโก สหรัฐฯ ที่ทำการศึกษาวิจัยโดยบริษัท Global Market Insights Inc. ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยและที่ปรึกษาด้านการตลาดในสหรัฐฯ พบว่าตลาดสินค้าของทานเล่นที่ทำด้วยผลไม้ (Fruit Snacks) ในตลาดภูมิภาคอเมริกาเหนือ จะมีมูลค่าถึง 18,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2569 และอัตราการเติบโตต่อปี 3.6% ในช่วงระหว่างปี 2563-2569 จึงเป็นโอกาสสำหรับการส่งออกของทานเล่นที่ทำด้วยผลไม้ของไทย เพราะเป็นประเทศที่ผลิตผลไม้เมืองร้อนที่สำคัญของโลก หากวางแผนการผลิตได้ตรงตามความต้องการของตลาด ก็จะทำให้ไทยมีโอกาสส่งออกผลไม้แปรรูปไปยังตลาดสหรัฐฯ ได้เพิ่มขึ้น
สำหรับสินค้าที่ผู้บริโภคนิยมรับประทาน จะเน้นของทานเล่นชนิดที่ทำจากผลไม้ชนิดที่มีไฟเบอร์สูง ให้แคลอรี่ต่ำ มีปริมาณน้ำตาลน้อย ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน ความดัน และโรคหัวใจ และคาดว่าความนิยมจะขยายตัวไปจนถึงปี 2569 ส่วนผลิตภัณฑ์ของทานเล่นที่ทำด้วยผลไม้ ที่จำหน่ายในตลาดภูมิภาคอเมริกาเหนือ มีหลายรูปแบบ แยกออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ ชนิดดัดแปลง เปลี่ยนโฉม เช่น ผลไม้ที่นำไปแปรรูปเป็นเกลียว (Fruit Twists) , ผลไม้ที่นำไปแปรรูปเป็นแผ่น (Hot Extruded Fruit Strips) , ผลไม้ที่แปรรูปเป็นเจลลี่ (Fruit Straws) , ผลไม้แปรรูปเป็นชิ้น (Fruit Bits) , ผลไม้รูปร่างต่างๆ (Fruit Shapes) , แซนวิชผลไม้ (Fruit Sandwiches) , ผลไม้ให้พลังงาน (Cold Pressed Bars) , ผลไม้อบแห้ง (Freeze Dried) และกลุ่มของทานเล่นชนิดคงรูปแบบตระกูลผลไม้ เช่น แอปเปิ้ล มะม่วง กล้วย แพร์ สับปะรด แบรี่ สตอเบอร์รี่ บลูแบรี่ แรสแบรี่ สับปะรด มะม่วง หรือ กล้วย เป็นต้น
ด้านน.ส.อุษาศรี เขียวระยับ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ ชิคาโก สหรัฐฯ กล่าวว่า ปัจจุบันผู้บริโภคใส่ใจสุขภาพ มีความต้องการอาหารที่ดีกว่าหรืออาหารที่ให้คุณประโยชน์ต่อสุขภาพ และให้ความสนใจสินค้าในกลุ่มผลไม้ซึ่งให้ไฟเบอร์ โดยมีกลุ่มผู้บริโภคมิลเลนเนียลเป็นกำลังขับเคลื่อนตลาดสินค้าของทานเล่นทำจากผลไม้ ประกอบกับวิถีชีวิตที่วุ่นวายของผู้บริโภคและเปลี่ยนไปในปัจจุบัน และด้วยเหตุผลการบริโภคเพื่อสุขภาพ ผู้บริโภคจะเลี่ยงอาหารมื้อหลัก และหันมาทานของทานเล่นที่มีประโยชน์แทน จึงเป็นการผลักดันเพิ่มความต้องบริโภคสินค้าชนิดนี้มากขึ้น ทำให้ยอดขายสินค้าเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว
สำหรับการนำเข้าสินค้าผลไม้แห้งมาจำหน่ายในสหรัฐฯ มีทั้งแบบเป็น Bulk และเป็นแบบ Retail Pack โดยสหรัฐฯ นำเข้าผลไม้แห้งทั้งสองแบบจากทั่วโลกในปี 2562 เป็นมูลค่า 2,075.08 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ บราซิล อินเดีย และไทย โดยสหรัฐฯ นำเข้าจากไทยเป็นมูลค่า 36.81 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 11.85% หรือคิดเป็นสัดส่วน 1.77% สินค้าสำคัญของไทย ได้แก่ สับปะรดอบแห้ง มะละกอตากแห้ง มะพร้าวเกล็ด มะม่วงตากแห้ง ฝรั่งตากแห้ง มะขามแห้ง เป็นต้น
ส่วนช่องทางการจำหน่าย มีซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านชำ ร้านขายของเฉพาะ ร้านค้าแบบเป็นสมาชิก ปั้มน้ำมัน ร้านจำหน่าย สินค้าเพื่อสุขภาพ เป็นช่องทางหลัก แต่ช่องทางการจำหน่ายทางออนไลน์ มีการขยายตัวเร็วที่สุด คาดว่าจะขยายตัวมากกว่า 4.6% จนถึงปี 2569 ซึ่งจะเห็นได้จากการที่ผู้ผลิตรายสำคัญ ได้มีการร่วมมือกับแพลตฟอร์มออนไลน์ในการจัดจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม การเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ มีประเด็นที่จะต้องพิจารณา ได้แก่ ภาษีนำเข้าในสหรัฐฯ เพราะเป็นอุปสรรคของการขยายตลาดผลไม้แห้งที่สำคัญของไทยในสหรัฐฯ ได้แก่ สับปะรดตากแห้ง ฝรั่งตากแห้ง มะละกอตากแห้ง มะขามแห้ง ส่วนเนื้อมะพร้าวแห้งเป็นสินค้าไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า เป็นต้น , การนำเสนอของทานเล่นทำด้วยผลไม้ชนิดดัดแปลง ผนวกกับใช้ผลไม้ที่เป็นที่คุ้นเคยของผู้บริโภคอเมริกัน เช่น สตอร์เบอรี่ แอปเปิ้ล พีช ส้ม เป็นต้น และรวมไปถึงเป็นของทานเล่นชนิดผลไม้เดี่ยวและผลไม้ผสม , ของทานเล่นจากผลไม้ที่ผลิตด้วยกรรมวิธี Vacuum Dried หรือ Sun Dried หรือ Freeze Dried เป็นกลุ่มที่ได้รับความนิยมเนื่องจากสินค้าคงคุณค่าและปราศจากการเติมแต่ง และการขายตลาดสหรัฐฯ ควรเข้าร่วมงานแสดงสินค้าที่สำคัญ 2 งานของสินค้าของทานเล่นในสหรัฐฯ คือ Sweets and Snack Expo 2021 www.sweetsandsnacks.com วันที่ 24-26 มี.ค.2564 ณ เมืองอินเดียน่าโปลิส รัฐอินเดียน่า และงานแสดงสินค้า Snaxpo 2021 http://www.snaxpo.com วันที่ 22-24 ส.ค.2564 ณ นครชาร์ลอตต์ รัฐนอร์ธแคโรไลน่า