เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เมื่อวันที่ 5 ม.ค.64 เรื่อง คําสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด
ด้วย บริษัท แอร์โร่ พาร์ท อินเตอร์เนชั่นแนล จํากัด (Aero Parts International LLC) โจทก์ ได้ยื่นฟ้องต่อศาลล้มละลายกลางขอให้จําเลยล้มละลาย และศาลได้มีคําสั่งลงวันที่ 26 ตุลาคม 2563 ให้พิทักษ์ทรัพย์ของ บริษัท โอเรียนท์ ไทย แอร์ไลน์ จํากัด จําเลย เด็ดขาด ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 แล้ว
ดังนั้น นับแต่วันที่ศาลได้มีคําสั่ง เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียว มีอํานาจจัดการเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ ตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483
บุคคลผู้เป็นหนี้ลูกหนี้หรือมีทรัพย์สินของลูกหนี้อยู่ในครอบครอง มีหน้าที่ต้องแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับหนี้หรือทรัพย์สินของลูกหนี้ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทราบ ภายในหนึ่งเดือน
นับแต่วันที่ได้ทราบคําสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ตามมาตรา 24/1 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 ซึ่งผู้ใดมีหน้าที่ตามมาตรา 24/1 แล้วไม่ปฏิบัติตาม มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองแสนบาท ตามมาตรา 173/1 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483
อนึ่ง เจ้าหนี้ซึ่งจะขอรับชําระหนี้ในคดีนี้ จะเป็นโจทก์หรือไม่ก็ตาม ต้องยื่นคําขอรับชําระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่ฝ่ายคําคู่ความ สํานักงานเลขานุการกรม กรมบังคับคดี หรือ สํานักงานบังคับคดี ซึ่งจําเลยมีภูมิลําเนาอยู่ ภายในกําหนดเวลา 2 เดือน นับแต่วันที่โฆษณาคําสั่งนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้กําหนดวันลงโฆษณาในราชกิจจานุเบกษา ในวันที่ 5 มกราคม 2564 ซึ่งตรวจได้จากเว็บไซต์ของกลุ่มงานราชกิจจานุเบกษาที่ www.ratchakitcha.soc.go.th
ทั้งนี้โอเรียนท์ ไทย แอร์ไลน์ (อังกฤษ: Orient Thai Airlines) เปิดให้บริการเมื่อปี พ.ศ. 2538 เดิมใช้ชื่อว่า โอเรียนท์ เอ็กซ์เพรส แอร์ ก่อตั้งโดย นายอุดม ตันติประสงค์ชัย
จากพ่อค้าที่เริ่มต้นธุรกิจเล็กๆในไต้หวัน ฮ่องกง ทำธุรกิจเทรดดิ้ง ขยายไปยังกัมพูชา สร้างตัวจนมาเป็นเจ้าของสายการบิน
โดยเปิดให้บริการเที่ยวบินเส้นทางภายในประเทศระหว่างภูมิภาค ด้วยเครื่องบินแบบโบอิง 727 จำนวน 2 ลำ บินจากเชียงใหม่ไปยังอุบลราชธานี อุดรธานี ขอนแก่น ฯลฯ
ในปลายปี พ.ศ. 2539 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น โอเรียนท์ ไทย แอร์ไลน์ และได้นำเข้าเครื่องบินแบบล็อกฮีต แอล-1011 ไทรสตาร์ จำนวน 2 ลำ บินจากกรุงเทพมหานครไปเชียงใหม่และภูเก็ต โดยแวะพักที่ท่าอากาศยานอู่ตะเภา ด้วยสาเหตุไทยยังไม่เปิดเสรีการบิน น่านฟ้าผูกขาด โดย การบินไทย
หลังจากนั้นสายการบิน โอเรียนท์ ไทย แอร์ไลน์ จึงได้งดให้บริการเที่ยวบินเส้นทางภายในประเทศชั่วคราว และหันไปเปิดให้บริการเที่ยวบินเช่าเหมาลำร่วมกับสายการบิน กัมพูเชีย แอร์ไลน์ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเดียวกัน และในปี พ.ศ. 2544
เมื่อประเทศไทยเปิดเสรีการบิน ไม่มีการผูกขาด โอเรียนท์ ไทย แอร์ไลน์ จึงได้นำเข้าเครื่องบินแบบโบอิง 747 คลาสสิก จำนวน 2 ลำ ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 ได้เปิดเส้นทางไปยังฮ่องกง และในเดือนเมษายนปีเดียวกัน ได้เปิดเส้นทางไปยังโซล (อินชอน)
ในปี พ.ศ. 2545 ได้นำเข้าเครื่องบินแบบ โบอิง 747 คลาสสิก และล็อกฮีต แอล-1011 ไทรสตาร์ มาประจำการเพิ่มเติม และได้เปิดเส้นทางเพิ่มเติมไปยังกัวลาลัมเปอร์ โดยแวะพักที่สิงคโปร์
หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2546 จึงได้ก่อตั้ง วัน-ทู-โก โดย สายการบิน โอเรียนท์ ไทย แอร์ไลน์ ซึ่งเป็นสายการบินราคาประหยัดสายการบินแรกของประเทศไทย ภายใต้การบริหารงานของ สายการบิน โอเรียนท์ ไทย แอร์ไลน์ ซึ่งเป็นบริษัทแม่
ประกอบกับหลังการเปิดน่านฟ้าเสรี เปิดให้ต่างชาติเข้ามาร่วมลงทุนตั้งสายการบินในไทย มีสายการบินในไทยมากขึ้น ทำให้สายการบินประสบปัญหาทางการเงินอย่างหนัก มีการจอดเครื่องทิ้งหลายลำ และนายอุดม ตันติประสงค์ชัย ก็ได้ขายกิจการให้กลุ่มทุนจากจีน แต่ก็ไปต่อไม่ได้
โอเรียนท์ ไทย แอร์ไลน์ได้ยุติการบริการเที่ยวบินทั้งหมดอย่างถาวรในปี พ.ศ. 2561 เนื่องจากถูกสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) สั่งพักใบอนุญาตทำการบินของโอเรียนท์ฯ แบบไม่มีกำหนด
สืบเนื่องมาจากปัญหาด้านภาระหนี้สินที่ โอเรียนท์ฯ ค้างจ่ายกับหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งรวมไปถึงค่าเช่าที่จอดเครื่องบินของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)หรือทอท. และค่าใช้บริการจราจรทางอากาศของวิทยุการบินแห่งประเทศไทย
อีกทั้งเมื่อวันที่4ก.ย.62 ศาลกรุงปารีส ในฝรั่งเศส อ่านคำพิพากษา ตัดสินลงโทษจำคุก นายอุดม ตันติประสงค์ชัย นักธุรกิจชาวไทย อดีตซีอีโอสายการบิน วัน-ทู-โก จากเหตุการณ์ที่เครื่องบินโดยสารสายการบิน วัน-ทู-โก เที่ยวบิน โอจี 269 เกิดอุบัติเหตุลื่นไถลออกนอกรันเวย์ที่สนามบินภูเก็ต เมื่อวันที่ 16 ก.ย.2550
ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 90 ราย ผู้โดยสาร 2 ใน 3 เป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ศาลฝรั่งเศส มีคำตัดสินว่า นาย อุดม ตันติประสงค์ชัย มีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ให้ลงโทษจำคุกเป็นเวลา 4 ปี และ ปรับเป็นเงิน 2,517,000 บาท
โดยในการอ่านคำตัดสิน ผู้พิพากษากล่าวว่า พบหลักฐานข้อผิดพลาดมากมายของสายการบิน และ เหตุการณ์นี้เกิดจากความผิดพลาดของมนุษย์
แต่ผลสอบก็พบเช่นกันว่า นักบินทำงานเกินชั่วโมงบินต่อสัปดาห์ และ มีความเครียดสะสมจากความเหนื่อยล้าและพักผ่อนไม่พอ จึงทำให้การตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินที่แย่ลงไปด้วย รวมถึงข้อผิดพลาดจากการฝึกอบรม ไปจนถึงการบำรุงรักษาเครื่องบินของสายการบิน