6 มกราคม 64 นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า หลังจากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีฯ แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2563 ที่ผ่านมาเรื่องการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจาก "โควิด19" โดยมอบหมายให้ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจและกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สภาพัฒน์ดูแลผลกระทบที่เกิดขึ้นในสองเดือนนี้ นั้นในส่วนของกระทรวงเกษตรนั้น ล่าสุดนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรฯ เตรียมความพร้อมในการ "เยียวยาเกษตรกร" เพื่อความรวดเร็วทันทีที่มีความชัดเจนว่ารัฐบาลจะเยียวยาอย่างไร
นอกจากนี้ยังได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)ในฐานะนายทะเบียนตรวจสอบรายชื่อเกษตรกรที่เคยขึ้นทะเบียนในโครงการเยียวยาเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเกษตรกรเกือบ 8 ล้านรายได้รับเงินเยียวยารายละ 15,000 บาท โดยโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรงเดือนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ระหว่างเดือน มิ.ย - ส.ค. โดยรัฐมนตรีเกษตรฯ ยังมอบนโยบายให้เกษตรกรรายใหม่และที่ตกหล่นสามารถลงทะเบียนได้ครบถ้วนโดยต้องครอบคลุมไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังและทุกขั้นตอนต้องตรวจสอบความถูกต้อง
สำหรับโครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด19 ในปี 2563 สศก. ในฐานะนายทะเบียนจัดส่งรายชื่อเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนและได้ตรวจสอบแล้ว ให้ ธ.ก.ส. โอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรกว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งประกอบไปด้วย เกษตรกรกลุ่มพืช กลุ่มปศุสัตว์ กลุ่มประมง กลุ่มหม่อนไหม กลุ่มชาวไร่อ้อย และกลุ่มชาวไร่ยาสูบ โดย 2 กลุ่มหลังขึ้นทะเบียนกับกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงการคลังตามลำดับโดยส่งทะเบียนเกษตรกรผ่าน สศก. ก่อนส่งให้ ธกส. โอนตรงให้เกษตรกร
ทั้งนี้กระทรวงเกษตรฯ โดยนโยบายเทคโนโลยีเกษตร 4.0 ได้พัฒนาปฏิรูปการบริหารและการบริการด้วยเทคโนโลยี เช่น จัดตั้งศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ มีบิ๊กดาต้าทำให้มีฐานข้อมูลเกษตรกร พร้อมดำเนินการในทุกภารกิจโดยเฉพาะการเยียวยาเกษตรกรกลางปีที่แล้วสามารถส่งฐานข้อมูลเกษตรกรให้ ธกส. ภายใน 5 วันทำการหลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติเยียวยาเกษตรกร โดยรัฐมนตรีเกษตรฯ มีความห่วงใยเกษตรกรอย่างมากจากผลกระทบโควิด19 และย้ำให้ช่วยเหลือเยียวยาถึงมือเกษตรกรให้เร็วที่สุด
ได้เชิญชวนเกษตรกรเข้ามาใช้เว็บไซต์ www.moac.go.th ที่สามารถตรวจสอบสิทธิ์เงินเยียวยาเกษตรกร หรือ ได้ที่แอปพลิเคชั่น “เกษตรดิจิทัล” หรือ www.moac.go.th ที่เมนู “ตรวจสอบสิทธิรับเงินเยียวยาเกษตรกร”
ตรวจสอบสถานะอุทธรณ์เงินเยียวยาเกษตรกร และลิงก์เข้าเว็บไซต์ www.เยียวยาเกษตรกร.com เพื่อเช็กสถานะการโอนเงิน และใส่บัญชีเงินฝากธนาคารอื่นๆ สำหรับผู้ที่ไม่มีบัญชี ธ.ก.ส.
หรือเกษตกร สามารถตรวจสอบสิทธิ์รับเงินเยียวยาได้จากหน่วยงานขึ้นทะเบียนต้นสังกัดที่เกษตรกรแต่ละคนไปขึ้นทะเบียนที่หน่วยงาน ด้านพืช กรมส่งเสริมการเกษตร หรือ ยางพารา ได้แก่ การยางแห่งประเทศไทย หรือ กรมประมง หรือ กรมปศุสัตว์ หากไม่พบข้อมูลให้เกษตรกรสามารถโทรศัพท์สอบถาม หรือเดินทางไปขออุทธรณ์ด้วยตัวเองได้ที่ทำการทั้ง 8 แห่ง ได้แก่
1. สำนักงานเกษตรอำเภอ และจังหวัด
2. สำนักงานประมงอำเภอ และจังหวัด
3, สำนักงานปศุสัตว์อำเภอ และจังหวัด
4. สำนักงานหม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ เขตหรือศูนย์เครือข่ายใกล้บ้าน
5. เขตบริหารอ้อย และน้ำตาลทราย 1-8 และศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อย และน้ำตาลทรายภาคที่ 1-4
6. สำนักงานสรรพสามิตจังหวัด
7. การยางแห่งประเทศไทย (จังหวัด/สาขา)
ทั้งนี้เกษตรกร กลุ่มที่ 3 ที่จะได้รับเงินเยียวยาเกษตรกร 15,000 บาท จะต้องไม่เป็นข้าราชการ,ข้าราชการบำนาญ และไม่ใช้สิทธิ์ซ้ำซ้อนกับโครงการเราไม่ทิ้งกัน หรือ เกษตรกรที่มีประกันสังคม