ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งสินค้าและค่าระวางเรือปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากสายเรือมีนโยบายจัดสรรระวางตู้สินค้า (Space Allocation) และจัดสรรตู้เปล่าหมุนเวียน (Container Allocation)เป็นปัญหาที่คาราคาซังมานาน ซึ่ง ผู้ส่งออกหลายต่างได้รับความเดือนร้อนกับการปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้งสายเดินเรือที่ไปสหรัฐ โดยปรับขึ้นมากกว่า 3 เท่า และยังพบว่าค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บบริเวณท่าเรือ ทั้งค่าบริการ ค่ายกตู้ ค่าเอกสาร ปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 10% เป็นภาระค่าใช้จ่ายของผู้ส่งออกที่เพิ่มขึ้น
ประกอบกับการระบาดของ COVID-19 รอบ 2 ในยุโรปและสหรัฐ ทำให้ตู้สินค้าตกค้างที่ปลายทางเป็นจำนวนมาก ต่อเนื่องให้ปริมาณตู้สินค้าที่ต้องหมุนเวียนกลับสู่ระบบหายไปจำนวนมาก ซึ่งจากปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบโดยตรงให้อัตราค่าระวางที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ภายใต้สถานการณ์ที่ทั่วโลกยังเผชิญกับการระบาดของโควิด-19 ว่าปัญหาใหญ่ที่สำคัญและน่าจะเป็นปัญหาต่อเนื่องของการส่งออกไทยที่ภาครัฐต้องเร่งแก้ไขคือ การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ทั่วโลกซึ่งกระทบต่อไทยทำให้ต้นทุนการขนส่งสูงขึ้น 3-5 เท่า และการส่งออกจะลดลง -2.2% โดยรัฐบาลตั้งกองทุนช่วยเหลือภาระต้นทุนค่าขนส่งทางเรือแก่ผู้ประกอบการ รัฐบาลต้องเร่งเจรจากับเจ้าของตู้คอนเทนเนอร์เพื่อให้ตู้เปล่ากลับมาที่ท่าเรือของไทย โดยรัฐบาลต้องยอมรับภาระค่าใช้จ่ายดังกล่าว รัฐบาลต้องช่วยเหลือผู้ประกอบการด้านภาษีเพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น และหาช่องทางการส่งออกสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปของไทยโดยการขนส่งทางบกและอากาศ ซึ่งรัฐบาลต้องทำความร่วมมือกับธุรกิจโลจิสติกส์ในเรื่องของค่าใช้จ่าย