3 บิ๊กค้าปลีก ปรับแผนตลาด ฝ่าวิกฤติระลอกใหม่

15 ม.ค. 2564 | 09:00 น.

3 บิ๊กค้าปลีกเมืองไทย “สยามพิวรรธน์-เซ็นทรัลพัฒนา-เดอะมอลล์” ขยับแผนตั้งการ์ดสูง รับมือโควิด ระลอกใหม่ ลุ้นรัฐบาลเอาอยู่ในไตรมาสแรก หวั่นกระทบระยะยาว

 

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปี 2563 ส่งผลกระทบอย่างหนักต่ออุตสาหกรรมค้าปลีกค้าส่งที่มีมูลค่ารวมเกือบ 4 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะการประกาศล็อกดาวน์ปิดห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ตลอดจนคอมมิวนิตี้ มอลล์ เป็นระยะเวลา 40-60 วัน 

 

การจำกัดการเดินทางเข้าออกประเทศ ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติไม่สามารถเข้ามาท่องเที่ยวและช้อปปิ้งได้ ทำให้ผู้ประกอบการค้าปลีกต่างขาดรายได้ทั้งจากการขาย การให้บริการ รวมถึงการปรับลดค่าเช่าเพื่อช่วยเหลือผู้เช่า ส่งผลให้ธุรกิจค้าปลีกเมืองไทยถดถอยเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี

 

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ที่รุนแรงและขยายวงกว้างต่อเนื่อง ทำให้อุตสาหกรรมค้าปลีกถูกจับตามองอีกครั้งว่าจะส่งผลกระทบซํ้าเติม หลังจากที่เริ่มขยับตัวดีขึ้นเล็กน้อยในช่วงไตรมาส 4/2563 ที่ผ่านมา

 

นางมยุรี ชัยพรหมประสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ สายส่งเสริมการตลาดและองค์กรสัมพันธ์ บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ผู้บริหารสยามพารากอน, สยาม เซ็นเตอร์, สยามดิสคัฟเวอรี่และไอคอนสยาม เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การระบาดของโควิด ระลอกใหม่ที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม ส่งผลกระทบทำให้จำนวนลูกค้าลดลง โดยเฉพาะหลังปีใหม่ ทำให้ต้องเฝ้าดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิดแบบรายวันพร้อมปรับตัวให้เร็วขึ้น

 

พบว่า นอกจากจำนวนลูกค้าที่มาใช้บริการลดลง ยังพบว่าลูกค้าใช้เวลาอยู่ในศูนย์ลดลงจากเดิม 3-3.5 ชม.ต่อคนต่อครั้ง เหลือ 1 ชม.ต่อคนต่อครั้ง ทำให้ศูนย์ต้องปรับตัว พร้อมเพิ่มช่องทางการให้บริการที่หลากหลายขึ้น ด้วยการนำ E&S-commerce มาช่วยสนับสนุนการขายของกลุ่ม OneSiam และไอคอนสยาม ทั้งในหมวดแฟชั่น บิวตี้ ไลฟ์สไตล์ แกดเจ็ตและอาหาร ใน 4 ช่องทางคือ Chat & Shop ทักแชทมา อยากช้อปชิ้นไหน เราจัดให้, Call & Shop บริการสุดเอ็กซ์คลูซีฟสำหรับสมาชิก VIZ Card และ Platinum M Card , Click & Shop ช้อปได้ตลอด
24 ชั่วโมง และ Siam Paragon และ ICONSIAM Luxury Chat & Shop แชทและช้อปแบรนด์เนมระดับโลก จากรันเวย์พร้อมส่งถึงมือคุณ 

 

“ไตรมาสแรกธุรกิจคงไม่ดี เพราะได้รับผลกระทบจากโควิด ระลอกใหม่ หากมีการปิดศูนย์การค้า ก็จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมค้าปลีกทั้งระบบ รวมถึงร้านค้า พนักงาน เจ้าของกิจการ ห่วงโซ่ต่างๆ ในระบบค้าปลีก ทั้งผู้ผลิต ผู้ประกอบการอื่นๆ ขณะที่ผู้ประกอบการค้าปลีกเอง ต่างมีมาตรการเฝ้าระวังอย่างเข้มข้นเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดตลอดเวลา เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า พนักงาน และคู่ค้าทุกคน”

 

ขณะที่ศูนย์การค้าในเครือเซ็นทรัล ทั้งเซ็นทรัลพลาซา มหาชัย และเซ็นทรัลพลาซา ระยอง ต่างต้องปิดให้บริการตามมาตรการล็อกดาวน์ของจังหวัด ส่งผลให้สูญเสียรายได้ ขณะที่สาขาอื่นๆ ในหลายจังหวัดต่างก็ได้รับผลกระทบจากจำนวนลูกค้าที่ลดลง ทำให้ต้องเร่งปรับแผนเรียกความเชื่อมั่น พร้อมเพิ่มมาตรการด้านความสะอาดอย่างเข้มข้น

 

นายณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาด บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์, เซ็นทรัลพลาซา, เซ็นทรัล เฟสติวัล และเซ็นทรัล วิลเลจ กล่าวว่า บริษัทต้องประเมินความเสี่ยงอยู่ตลอดเวลา และเพิ่มความยืดหยุ่นในการปรับแผนธุรกิจเพื่อรับมือสถานการณ์ต่างๆ โดยต้องคำนึงถึงลูกค้า คู่ค้าเป็นสำคัญ

 

“หากมีการล็อกดาวน์อีกครั้ง บริษัทได้เตรียมแผนรองรับความเสี่ยงตามลำดับขั้นความรุนแรงจากน้อยไปถึงมาก พร้อมปรับรูปแบบการทำธุรกิจเพื่อเตรียมบริการที่มีความจำเป็นต่อการดำเนินชีวิตของลูกค้าผ่านบริการต่างๆ ทั้ง Online shopping และ delivery รวมทั้งบริหารจัดการต้นทุนให้เหมาะสม ปรับลดค่าใช้จ่าย และ diversify ไปทำธุรกิจอื่น เช่น อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น”

 

ด้านนางสาววรลักษณ์ ตุลาภรณ์ ผู้บริหารสูงสุดฝ่ายการตลาด บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า ผู้ประกอบการค้าปลีกมีความพร้อมในการรับมือกับการระบาดระลอกใหม่นี้มากขึ้น เมื่อเทียบกับครั้งแรก มีความเข้มงวด เฝ้าระวัง และมีมาตรการต่างๆ เพื่อมากขึ้น ขณะเดียวกันพนักงานทีมงาน ตลอดจนลูกค้าเข้าใจ และดูแลตัวเองมากขึ้น ทำให้เชื่อว่าหากสถานการณ์การแพร่ระบาด สามารถจำกัดหรือควบคุมได้ภายใน 2 สัปดาห์นี้ จะทำให้ภาพรวมขยับตัวดีขึ้นใกล้เคียงกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

 

“การจัดอีเวนต์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเคานท์ดาวน์ หรือวันเด็กถูกยกเลิกหมด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ส่วนอีเว้นต์ใหญ่อย่าง ตรุษจีน จะยังคงมีอยู่แต่ปรับลดสเกลให้เล็กลง เพื่อตอบรับกับการซื้อของลูกค้า และมาตรการเฝ้าระวังการแพร่ระบาด ขณะเดียวกันก็เพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าและบริการให้หลากหลาย เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าในการเลือกซื้อไม่ว่าจะ chat & shop, delivery ฯลฯ” 

 

ที่มา : หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,645 วันที่ 17 - 20 มกราคม พ.ศ. 2564

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อนาคตห้างสรรพสินค้าไทย

เซ็นทรัล ปั้น Personal Shopper ประกบนักช้อปสู้ โควิดรอบ 2

เดอะมอลล์ ทุ่ม 2 หมื่นล้าน รีแบรนด์ครั้งใหญ่รอบ 40 ปี 

เชนสโตร์ไอที-มือถือ หนีตั้งนอกห้าง รับล็อกดาวน์

‘ค้าปลีก’  หนุนจ้างรายชม. สร้างงาน 2 แสนอัตรา