หลังสมาคมผู้ค้าปลีกไทยออกมาเปิดเผยถึงผลกระทบจากโควิด-19 ที่ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมค้าปลีกสูญเม็ดเงินไปถึง 5 แสนล้านบาท พร้อมเสนอให้ภาครัฐออก 5 มาตรการเพื่อเป็นวัคซีนฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งหนึ่งในห้า ข้อเสนอ คือ ภาครัฐควรพิจารณาอนุญาตให้ร้านค้าปลีกสมัยใหม่และซูเปอร์มาร์เก็ตเข้าร่วมโครงการ “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” หรือบัตรคนจน ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกให้ประชาชนเข้าถึงสินค้าที่หลากหลาย และราคาต่ำได้มากขึ้น
โดยอ้างอิงงานวิจัย ระบุว่า สินค้าที่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐซื้อหาเป็นประจำส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุปโภคบริโภคไม่กี่ชนิด อาทิ ข้าวสาร น้ำมันพืช น้ำตาล ซึ่งผลิตโดยผู้ผลิตสินค้ารายใหญ่เพียงไม่กี่ราย ทำให้การกระจายรายได้ไปไม่ถึงผู้ผลิตสินค้ารายเล็กอื่นๆ การเปิดให้ร้านค้าปลีกสมัยใหม่และซูเปอร์มาร์เก็ตเข้าร่วมโครงการ ซึ่งนอกจากจะช่วยเหลือประชาชนผู้ใช้บัตรแล้ว ยังเป็นการกระจายรายได้สู่ผู้ผลิตสินค้าในวงกว้างมากขึ้น ทั้งเกษตรกร ชุมชน และ ผู้ประกอบการ SME
ล่าสุดนายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย ได้ออกมาคัดค้าน โดยให้เหตุผลกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การเสนอมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่ที่อยู่ภายใต้สมาคมผู้ค้าปลีกไทยซึ่งได้รับผลกระทบจากพิษโควิดโดยให้ร้านค้าปลีกสมัยใหม่ หรือโมเดิร์นเทรด รวมถึงซูเปอร์มาร์เก็ตเข้าร่วมโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยให้ประชาชนมาจับจ่ายซื้อสินค้าภายใต้วงเงินที่รัฐแจกจ่ายให้ได้นั้น มองว่า จะส่งผลกระทบต่อร้านค้าปลีกท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นร้านโชห่วย ร้านธงฟ้า ที่ร่วมอยู่ในโครงการ
“อยากให้มองถึงวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งโครงการว่า เกิดขึ้นเพื่ออะไร เพราะต้องการแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน รวมถึงช่วยเหลือร้านค้าท้องถิ่น ขณะที่ยอดขายที่ลดลงของค้าปลีกขนาดใหญ่เกิดขึ้นจากหลายปัจจัย แน่นอนว่ามาจากโควิด สภาพเศรษฐกิจ รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไป ซึ่งการที่รัฐบาลจะเปิดให้เข้าร่วมโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกต้อง”
หากรัฐบาลอ่อนข้อให้ กลุ่มค้าปลีกรายใหญ่ซึ่งมีแพลตฟอร์มที่หลากหลายครอบคลุมทุกอย่างก็จะขยายอำนาจมากขึ้น อนาคตอาจจะร้องขอเข้าร่วมโครงการคนละครึ่งได้อีก การจะกล่าวอ้างถึงการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จึงไม่ถูกต้อง ที่ผ่านมามีเม็ดเงินจากการใช้จ่ายผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ กระจายสู่ท้องถิ่นกว่า 1 หมื่นล้านบาทต่อเดือน ทำให้ท้องถิ่นมีรายได้ หากรายใหญ่มาแย่งไปเงินเหล่านี้ก็จะหายไปแล้ว และถูกแชร์ไปอยู่ในมือนายทุนใหญ่เพียง 4-5 ราย ซึ่งกลุ่มนี้ถือครองส่วนแบ่งในตลาด 80-90%
ที่ผ่านมาผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่มีรายได้เป็นกอบเป็นกำมาต่อเนื่อง แม้จะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้รายได้ลดลงผู้ประกอบการก็ต้องยอมรับสภาพ หากจะเรียกร้องให้รัฐเยียวยาก็ต้องมองถึงผลกระทบที่จะตามมาด้วย
“เบื้องต้นได้มีการพูดคุยถึงข้อเสนอที่เกิดขึ้น ซึ่งหลายฝ่ายเห็นตรงกันว่า หากรัฐสนับสนุนหรือเปิดกว้างให้ผู้ประกอบการโมเดิร์นเทรดหรือซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งมีร้านค้ารวมกันหลายหมื่นสาขา เข้าร่วมได้ ย่อมส่งผลกระทบอย่างหนักต่อร้านค้าท้องถิ่นที่ร่วมรายการ ดังนั้นจึงอยากขอให้รัฐพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนถึงผลกระทบที่จะตามมา ส่วนจะมีการเคลื่อนไหวอะไรหรือไม่นั้น ยังต้องรอดูสถานการณ์ต่อไป”
อย่างไรก็ดีนายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ได้ออกมาเปิดเผยถึงผลกระทบจากโควิด-19 ที่มีต่อห่วงโซ่ค้าปลีกทั้งระบบซึ่งมีผู้ประกอบการกว่า 1.3 ล้านราย และมีการสร้างงานโดยตรงกว่า 6.2 ล้านราย ทำให้ดัชนีค้าปลีกปี 2563 ติดลบ 12% จึงเสนอ 5 มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ได้แก่
1. เพิ่มทางเลือกสำหรับอัตราค่าจ้างแบบเป็นรายชั่วโมง
2. ปล่อยสินเชื่อ Soft Loan ให้กับเอสเอ็มอี ผ่านแพลตฟอร์มค้าปลีก
3. พิจารณาเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีนำเข้ากับสินค้าที่ซื้อขายผ่าน E-Commerce/E-Marketplace ที่นำเข้าจากต่างประเทศ
4. หามาตรการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ
5. อนุญาตให้ร้านค้าปลีกสมัยใหม่และซูเปอร์มาร์เก็ตเข้าร่วมโครงการ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
ที่มา : หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,646 วันที่ 21 - 23 มกราคม พ.ศ. 2564
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ดัชนีค้าปลีก จ่อทรุด 4-10% ลุ้น ‘วัคซีน’ กระตุ้นศก.
หุ้นกลุ่มค้าปลีกบวกรับ “เราชนะ”
"เราชนะ" เช็กที่นี่ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เงินเยียวยา คลัง โอนเงินวันไหนสรุปม้วนเดียวจบ
สรุป "เราชนะ" บัตรคนจน บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เงินเข้าอัตโนมัติ ไม่ต้องลงทะเบียน www.เราชนะ.com
อัพเดท"เราชนะ" เงินเยียวยา 3500 บาท กลุ่มไหนรอรับอัตโนมัติ-กลุ่มไหนต้องลงทะเบียน www.เราชนะ.com