นายประโยชน์ เพ็ญสุต รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า กรมฯ จะเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศในการบริโภคสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) โดยจะลงพื้นที่เข้าไปช่วยผู้ประกอบการจัดทำระบบควบคุมตรวจสอบคุณภาพสินค้า GI ตลอดทั้งปี 2564 แยกเป็นระบบควบคุมภายในจำนวน 8 สินค้าจาก 7 จังหวัด ได้แก่ ผ้าฝ้ายทอผสมขนแกะบ้านห้วยห้อม แม่ฮ่องสอน ส้มบางมดและลิ้นจี่บางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร เครื่องปั้นดินเผาบ้านมอญ นครสวรรค์ ปลาช่อนแม่ลาสิงห์บุรี ข้าวไร่ดอกข่าพังงา พังงา มะพร้าวทับสะแก ประจวบคีรีขันธ์ กล้วยหอมทองปทุม ปทุมธานี และระบบควบคุมตามมาตรฐานสากล 6 สินค้า จาก 5 จังหวัด ได้แก่ กาแฟดอยช้าง เชียงราย ส้มสีทองน่าน น่าน หมากเม่าสกลนคร และน้ำหมากเม่าสกลนคร ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง ข้าวเหนียวเขาวงกาฬสินธุ์
ทั้งนี้ กรมฯ ยังจะดำเนินการคัดเลือกผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ตราสัญลักษณ์ GI เข้าร่วมโครงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ โดยจะมีการออกแบบและผลิตบรรจุภัณฑ์ให้แก่ผู้ประกอบการ GI จำนวน 10 ราย ได้แก่ กาแฟเมืองกระบี่ นิลเมืองกาญจน์ กล้วยเล็บมือนางชุมพร แปจ่อเขียวแม่สอด ผ้าหม้อฮ่อมแพร่ ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ ส้มโอหอมควนลัง สังคโลกสุโขทัย ปลาแรดลุ่มแม่น้ำโขงสะแกกรัง และข้าวหอมมะลิอุบลราชธานี เพื่อเป็นต้นแบบสำหรับผลิตบรรจุภัณฑ์สินค้า GI ให้ตรงกับความต้องการของตลาด ยกระดับให้เป็นสินค้าชุมชนระดับพรีเมียม และสามารถนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการตลาด สร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้า GI ไทย ตลอดจนเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับชาติและนานาชาติ
“เมื่อผู้ผลิต ผู้ประกอบการสินค้า GI มีการจัดทำระบบควบคุมตรวจสอบคุณภาพ และผ่านการตรวจประเมินโดยคณะกรรมการจังหวัดหรือหน่วยตรวจสอบรับรองแล้ว สามารถขออนุญาตใช้ตราสัญลักษณ์ GI ไทยได้ ซึ่งมีอายุคราวละ 2 ปี และเมื่อครบกำหนดการอนุญาตต้องดำเนินการตรวจสอบควบคุมคุณภาพสินค้า ตามระบบอีกครั้ง เพื่อขออนุญาตใช้ตราสัญลักษณ์ต่อไป”
ปัจจุบัน กรมฯ ได้ออกหนังสืออนุญาตให้ใช้ตราสัญลักษณ์ GI ไทยแล้ว จำนวน 237 ครั้ง 109 สินค้า โดยมีผู้ได้รับอนุญาต จำนวนทั้งสิ้น 5,364 ราย แต่มีผู้ได้รับอนุญาตที่ยังคงใช้ตราสัญลักษณ์ GI ไทยอยู่ 3,113 ราย
สำหรับประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการขึ้นทะเบียน GI และการสร้างมาตรฐานสินค้า GI จะช่วยรับประกันสินค้า GI ว่าเป็นสินค้าท้องถิ่นที่มีคุณภาพ มาตรฐาน พิเศษกว่าสินค้าจากแหล่งอื่น สามารถจำหน่ายได้ในราคาที่สูงขึ้น และยังทำให้ผู้บริโภคเชื่อมั่นว่าจะได้รับสินค้าที่มีคุณภาพและมาจากแหล่งผลิตที่แท้จริง เช่น ไข่เค็มไชยา ส้มโอนครชัยศรี มะขามหวานเพชรบูรณ์ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ เป็นต้น