การอนุมัติวัคซีนต้านโควิด-19 จำนวนมากขึ้นและมีการฉีดวัคซีนในวงกว้างในประเทศต่างๆ ตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้ว ช่วยให้เห็นความหวังที่จะยุติการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ขณะที่ประเทศต่างๆออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจดีขึ้น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปีนี้เป็น 5.5% ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า จะขยายตัว 5.2% แต่ดูเหมือนจะสวนกระแสกับเศรษฐกิจไทยเพราะมีหลายสำนักที่ออกมาปรับลดคาดการณ์ลงผลจาก การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่
ล่าสุดนางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)เปิดเผยว่า สศค.ปรับลดประมาณการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจไทยปี 2564 เหลือขยายตัว 2.8% จากที่เคยคาดการณ์ว่าจะขยายตัวที่ 4.5% หลังเกิดการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ในหลายประเทศ รวมถึงไทย ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การเดินทางระหว่างประเทศ และจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาในไทยทำให้คาดว่า นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในปี 2564 จะลดลง
ขณะเดียวกันยังมีปัจจัยสำคัญที่ต้องจับตา ทั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจของ 15 ประเทศคู่ค้าหลักของไทย ที่ยังมีความเสี่ยงจากการได้รับวัคซีนล่าช้ากว่าแผนที่วางไว้ การกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส ที่อาจส่งผลต่อจำนวนผู้ติดเชื้อให้เพิ่มมากขึ้น จนต้องนำไปสู่มาตรการ ล็อคดาวน์อีกครั้ง รวมทั้งนโยบายการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ภายใต้การนำของนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่
นายสมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคาร กรุงศรีอยุธยากล่าวว่า ผลกระทบจากการระบาดของโควิดรอบใหม่น้อยกว่ารอบแรก เพราะนโยบายรัฐบาล มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น ,การควบคุมโรคมีการแยกพื้นที่ แยกกลุ่มและทำนโยบายแอคทีฟและผ่อนคลายเร็วขึ้น ส่วนปัจจัยภายนอกกำลังซื้อเริ่มฟื้นจากสหรัฐและจีน และคาดการณ์เศรษฐกิจเป็นบวกขึ้น
ทั้งนี้กำลังการผลิตที่เริ่มฟื้นจะสนับสนุนการส่งออกโต 3.8% การลงทุนภาคเอกชน 2.9% และแรงส่งอีกแรงคือ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจากภาครัฐ ซึ่งจะมีการใช้จ่ายภาครัฐโตได้ 10.5% ขณะที่แนวโน้มไตรมาสที่ 3 และ 4 เศรษฐกิจค่อยๆฟื้นตัว แต่อาจต้องใช้เวลา 2-3ปี กว่าตัวเลขจีดีพีจะกลับมาอยู่ในระดับก่อนโควิดหรือกลางปี 2565 สำหรับประมาณการจีดีพีทั้งปีเติบโต 2.5% จากเดิม 3.3% หลังจากปี 2563 ติดลบ 6.4 โดยเชื่อว่า ภาคส่งออกยังเป็นปัจจัยขับเคลื่อนจีดีพี
“ภาครัรัฐควรมีกลไกซัพพอร์ตให้แรงงานมีรายได้และช่วยหรือสร้างแรงจูงใจให้บริษัทกลับมาจ้างงาน เพื่อที่จะรองรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่จะค่อยฟื้นกลับมา”
นายทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) กล่าวว่า ยังคงยืนตัวเลขคาดการณ์จีดีพีไว้ที่ 3.1% จากก่อนหน้าที่สร้างความตื่นเต้นกับตลาดด้วยตัวเลขจีดีพีที่ตํ่ากว่า เมื่อเทียบกับหลายสำนัก แต่ปัจจุบันบางค่ายได้ปรับลดจีดีพีทั้งปี 2564 เหลือโต 2% กว่า แม้กระทั่งไอเอ็มเอฟยังประเมินตํ่ากว่า 3% ทำให้การยืนตัวเลขที่ 3.1% เป็นอัตรามากกว่าค่ายอื่น
“การยืนตัวเลขจีดีพีปีนี้ที่ 3.1% นั้น เพราะมองปัจจัยบวกจากวัคซีนที่เมืองไทย มีการวางแผนค่อนข้างดี โดยจะเริ่มฉีดวัคซีนวันที่ 14 กุมภาพันธ์จนถึงสิ้นปี จะสามารถกระจายวัคซีนได้ประมาณ 50% หรือเข้าถึงประชากร 30 ล้านคน และหากมีภาคเอกชนเข้ามามีบทบาท จะยิ่งช่วยให้บรรยากาศในประเทศดีขึ้น แต่ปี 2565 มองจีดีพีเบื้องต้นโต 2.5% เพราะกังวลต่อความเพียงพอของมาตรการทางการคลังที่ยังมีข้อจำกัด จากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีที่จะสูงขึ้น ซึ่งความพยายามของรัฐบาล ที่จะใช้มาตรการคลังช่วยประคองเศรษฐกิจภายในทั้งปีก่อนและปีนี้ จะทำให้หนี้สาธารณะต่อจีดีพีเพิ่มเป็น 57% ในปลายปี64”
นางสาวกิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการโครงการ TDRI Economic Intelligence Service (EIS) สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) กล่าวว่า อัตราการเติบโตของจีดีพีไทยปีนี้มีโอกาสจะขยายตัวที่ประมาณ 2-3% จากปี 2563 ที่คาดว่าจะติดลบ 7-8% สาเหตุหลักมาจากภาคการท่องเที่ยวที่ยังไม่กลับมา ซึ่งมีผลต่อรายได้และการบริโภคภายในประเทศ แต่แนวโน้มในระยะ 2-3ปีข้างหน้าห รือประมาณปี 2566 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวกลับสู่ระดับก่อนการระบาดของโควิด
ที่มา : หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,649 วันที่ 31 มกราคม - 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สศค.หั่นเป้าเศรษฐกิจปีนี้โต 2.8% ปี63 คาด -6.5% จับตา"คุมโควิด-วัคซีน"
หนุนกนง. ลดดอกเบี้ย รับ GDPโตตํ่า
โควิด-19ฉุดเศรษฐกิจไทย ทำเงินเฟ้อปี63 ลบ 0.85%
IMF คาดเศรษฐกิจโลกปีนี้ขยายตัว 5.5% อานิสงส์วัคซีนโควิด