นายสุชาติ จริยาเลิศศักดิ์ รองผู้อำนวยการ ทำการแทนผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย(อ.ส.ค.) เผยว่า จากที่มีการอนุญาต หรือปลดล็อก "กัญชง" ให้ทุกภาคส่วนทั้งเกษตรกร ภาครัฐและเอกชน ประชาชนสามารถขออนุญาตและนำกัญชงไปใช้ในทางการค้า การแพทย์ การศึกษาวิจัย พัฒนาและการผลิตเมล็ดพันธุ์รับรองได้นั้น อ.ส.ค. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและสนใจในการนำทุกส่วนของกัญชงและของเหลือจากการเก็บเกี่ยวหรือการแปรรูปกัญชงมาศึกษาวิจัยและพัฒนา เพื่อเพิ่มมูลค่าในการผลิตเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ โดยเฉพาะส่วนของกากเมล็ดกัญชงหลังจากที่บีบสกัดน้ำมันออกไปแล้ว จากการรายงานวิจัยพบว่ามีคุณค่าโภชนะที่สูง ได้แก่ โปรตีนและพลังงาน โดยมีคุณค่าใกล้เคียงเทียบเท่ากากถั่วชนิดต่าง ๆ ที่นำมาใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ซึ่งนำเข้ามาจากต่างประเทศเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ของประเทศไทย
ดังนั้น อ.ส.ค.จึงได้จับมือกับองค์การอาหารและยา(อย.) และพันธมิตรอีก 3 หน่วยงาน ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนพันธุ์บุรีรัมย์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ภายใต้โครงการความร่วมมือทางวิชาการในการศึกษาวิจัยการใช้ประโยชน์จากส่วนต่าง ๆ ของกัญชงเป็นอาหารโคนมในเดือนตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้โครงการดังกล่าวมีความคืบหน้าไปมาก
สุชาติ จริยาเลิศศักดิ์
สำหรับวัตถุประสงค์และขอบเขตความร่วมมือครั้งนี้ เพื่อรองรับโครงการศึกษาวิจัยด้านการใช้ประโยชน์จากพืชกัญชง ได้แก่ เมล็ด ใบ ลำต้น ราก กากเมล็ด น้ำมันจากเมล็ด น้ำมันจากดอก และส่วนอื่นๆของลำต้นกัญชง หรือส่วนที่แปรรูปจากพืชกัญชง ในการเป็นอาหารโคนมคุณภาพ เพื่อความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาด้านการใช้ประโยชน์พืชกัญชง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออุตสาหกรรมโคนม โดยร่วมกันศึกษาวิจัยและพัฒนารูปแบบการจัดการองค์ความรู้ในการใช้ประโยชน์จากพืชกัญชงในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การผลิตน้ำนมกัญชง การผลิตอาหารเสริมสำหรับโคนม เป็นต้น ตลอดจนร่วมกันถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยไปยังเกษตรกรผู้มีความสนใจ
การลงนามความร่วมมือดังกล่าว อ.ส.ค.ยังได้ประสานองค์ความรู้จากหน่วยงานพันธมิตร เช่น มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ด้านสายพันธุ์กัญชงและฝึกอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับกัญชงให้กับบุคลากรของ อ.ส.ค. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์โดยภาควิชาสัตวบาลได้ร่วมเป็นที่ปรึกษาในโครงการวิจัยต่างๆ ซึ่งถือเป็นการสร้างองค์ความรู้ใหม่ในวงการปศุสัตว์ ที่จะมีกากเมล็ดกัญชงและส่วนอื่นๆของกัญชง ไปเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ โดยมุ่งหวังที่จะนำงานวิจัยไปผลักดันให้มีการพิจารณาอนุญาตใช้ในอาหารสัตว์ต่อไป
ขณะที่ภารกิจสำคัญของ อ.ส.ค. คือการทำหน้าที่ส่งเสริมการเลี้ยงโคนมและดูแลเกษตรกรในด้านการเพิ่มผลผลิต เพิ่มคุณภาพน้ำนม และหาแนวทางลดต้นทุนการผลิตน้ำนมให้มากที่สุด ดังนั้นการเร่งศึกษาวิจัยนำทุกส่วนของกัญชงและของเหลือจากการเก็บเกี่ยวหรือการแปรรูปกัญชงมาศึกษาวิจัยและพัฒนา เพื่อเพิ่มมูลค่าในการผลิตเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์จึงถือเป็นอีกทางเลือกสำคัญที่จะช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการเลี้ยงโคนมของประเทศในอนาคต โดยองค์การอาหารและยา (อย.)คาดว่า เมื่อมีการเพาะปลูกกัญชงเพิ่มขึ้นในประเทศไทย จะสามารถผลักดันให้มีของเหลือจากอุตสาหกรรมการแปรรูปกัญชงมากยิ่งขึ้น และเป็นโอกาสที่ดีในการนำมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ของประเทศไทยในอนาคตได้อย่างมหาศาล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
อย.เจาะลึกข้อมูลกัญชา-กัญชง แบบเรียลไทม์
ขอเอี่ยว “สยามเฮลท์ฯ” ซุ่มพัฒนาเม้าท์สเปรย์ “กัญชง”
ธุรกิจกัญชงบูม 'โกลเด้น ไทรแองเกิ้ล' ตั้งเป้า เป็นผู้นำทางธุรกิจ