ปลดแอก “ชาวสวนยางชายขอบ”

13 ก.พ. 2564 | 08:20 น.

​​​​​​​ลั่น ปลดแอก “ชาวสวนยางชายขอบ” สำเร็จ “บอร์ดสุนทร” ฟุ้ง “บัตรสีชมพู” เข้าโครงการรัฐแล้ว สถานีต่อไป เตรียมยกระดับเท่าเทียมกับบัตรสีเขียว

สุนทร รักษ์รงค์

 

นายสุนทร รักษ์รงค์ เลขาธิการสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย และกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (บอร์ด กยท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ได้นำรูปภาพย้อนอดีต “อย่าร้องไห้ชาวสวนยาง” ที่ถ่ายขึ้นมื่อวันที่  9 ตุลาคม 2558 ที่แยกธรรมรัฐ อ.บางสะพานน้อย ตอนนั้นราคายางตกต่ำ สิทธิเกษตรกรชาวสวนยางและสวัสดิการก็ไม่ดีเหมือนเช่นทุกวันนี้ ต้องขอบคุณนักต่อสู้ผู้เสียสละทุกคน

 

โดยเฉพาะเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางและปาล์มน้ำมัน 16 จังหวัดภาคใต้ ที่มีส่วนร่วมในม็อบควนหนองหงส์ ที่ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช รวมทั้งขอบคุณการเสียสละของพี่น้องเครือข่ายชาวสวนยางจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และขอคารวะดวงวิญญาณของ นายสาย อิ่นคำ อดีตกรรมการการยางแห่งประเทศไทย จากภาคเหนือ ผู้ล่วงลับในขณะปฏิบัติหน้าที่

 

ตอนนี้ “พี่น้องชาวสวนยางชายขอบ” อันประกอบด้วย ชาวสวนยางรายย่อย คนกรีดยาง และชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ได้รับสิทธิการช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐบาล เช่น โครงการประกันรายได้ #ซึ่งเป็นนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ การเยียวยาโควิด และสิทธิอื่นๆ จากการยางแห่งประเทศไทย

 

 

อย่าร้องไห้ชาวสวนยาง

 

นายสุนทรกล่าวว่า จากนี้ไปก็กำลังจะมีการยกระดับชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์(บัตรสีชมพู) ให้เป็นเกษตรกรชาวสวนยางตามมาตรา 4 (บัตรสีเขียว) เพื่อรับสิทธิประโยชน์ตาม พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ.2558 เช่น การประกันอุบัติเหตุ 500,000 บาท การกู้ยืม 50,000 บาท เพื่อสร้างอาชีพเสริม เป็นต้น

 

“ชาวสวนยางบัตรสีชมพู” เมื่อยกระดับเป็นบัตรสีเขียว จะการได้รับสิทธิการปลูกแทนตามมาตรา 36 หรือไม่ต้องต่อสู้กันต่อไปในเชิงนโยบายและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพราะการได้รับสิทธิการใช้ประโยชน์ที่ดินตามกฎหมาย ทั้งแปลงรวม คทช.ในลุ่มน้ำ 3,4,5 ระเบียบการใช้ประโยชน์ที่ดินในลุ่มน้ำ 1,2 และพื้นที่ทับซ้อนอุทยานแห่งชาติ สัตวป่า และพันธุ์พืช

 

รวมถึงพื้นที่อนุรักษ์อื่น ต้องอยู่ภายใต้กรอบมติ ครม.26 พ.ย.2561 ซึ่งวันนี้ใครมีสวนยางยางหรือที่ทำกิน ในพื้นที่ทับซ้อนป่าไม้ ภายใน 17 มิถุนายน 2557 ก็ได้รับการคุ้มครองตามมติ ครม.นี้ แต่จากวันนั้นจนถึงวันนี้ ชาวสวนยางชายขอบได้สะสมชัยชนะ ตามลำดับ

 

“หวังว่ารัฐบาลและการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จะมองเห็นความสำคัญของคนในสวนยางมากกว่ามองเห็นแค่เพียงต้นยางและน้ำยาง หากไม่พัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวสวนยางแล้ว พี่น้องชาวสวนยางจะมีความมั่นคงและยั่งยืนในอาชีพการทำสวนยางได้อย่างไร

 

พี่น้องชาวสวนยางที่รักสัญญากับผมไหมว่าเราจะต่อสู้ไปด้วยกัน  ไม่เสียสละ ชัยชนะไม่เกิด