สถานการณ์การเมืองในเมียนมา หลังเกิดรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ผ่านมากว่าครึ่งเดือนสถานการณ์เริ่มทวีความตึงเครียดและเขม็งเกลียวขึ้นทุกขณะ จากการชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลทหารที่เข้ามายึดอำนาจได้ขยายวงไปทั่วประเทศ ผู้คนหลากแขนงอาชีพผละงานประท้วงกันเต็มถนน ร้านค้าให้บริการปิดทำการ ล่าสุดวันที่ 15 กุมภาพันธ์ รัฐบาลส่งรถหุ้มเกราะออกวิ่งกลางถนนในกรุงย่างกุ้ง และมัณฑะเลย์ส่งสัญญาณมีความเคลื่อนไหวทางทหารที่อาจนำไปสู่การเผชิญหน้าที่อาจเกิดความรุนแรงมากขึ้น
ส่งซิกอพยพกลับไทย
นายกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์ ประธานสภาธุรกิจไทย-เมียนมา เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สถานการณ์ในเมียนมาเวลานี้บานปลายไปมากผู้คนผละงานออกมาชุมนุมประท้วงกันในวงกว้างทั่วประเทศ ทั้งในเมืองใหญ่ เมืองรอง หรือเมืองเล็ก ร้านค้าจำนวนมากปิดให้บริการ ธนาคารต้องปิด ธุรกรรมทางการเงินหยุดชะงัก ตู้เอทีเอ็มก็กดไม่ได้ ผลกระทบต่อเนื่องตามมาคือ ภาคการผลิตและบริการของคนไทยรวมถึงต่างชาติโดยส่วนใหญ่ต้องหยุดดำเนินการเพื่อความปลอดภัยไปโดยปริยาย
“เวลานี้ภาคธุรกิจไทยที่อยู่ในเมียนมากว่า 150 บริษัท นักธุรกิจที่เหลืออยูที่นั่นประมาณ 300 กว่าคนก็เตรียมตัวกรณีสถานการณ์บานปลายรุนแรงก็คงต้องกลับบ้าน ซึ่งมีสถานทูตไทยในเมียนมาเป็นศูนย์กลางในการประสานงาน หากกรณีที่มีความรุนแรงและหากจำเป็นต้องอพยพคน ที่คุยกันไว้ก็มี 3-4 ที่ที่จะเป็นจุดรวมพล คือที่สถานทูต ที่สภาธุรกิจไทย-เมียนมา ที่สำนักงานซีพี”
ล่าสุดยังส่งผลกระทบต่อการค้าชายแดนไทย-เมียนมา เพราะจากผลพวงร้านค้าในเมียนมาต้องหยุดให้บริการจำนวนมาก ทำให้ลดคำสั่งซื้อสินค้าจากไทย ราคาสินค้าในเมียนมาปรับตัวสูงขึ้น ชาวเมียนมาแย่งซื้อเงินดอลลาร์ เงินบาท รวมถึงสกุลเงินต่างชาติเพื่อตุนเงิน จากผลพวงทำให้ค่าเงินจ๊าดตก โดยในวันที่เกิดรัฐประหารค่าเงินจ๊าดจากเดิม 1,355-1,357 จ๊าดต่อออลลาร์สหรัฐฯ ร่วงลงไปเหลือ 1,450 จ๊าดต่อดอลลาร์ รวมถึงเศรษฐกิจของเมียนมาในปีนี้จากเดิมที่ Fitch Raingได้ประเมินการทำรัฐประหารจะทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี) ของเมียนมาในปี 2564 จะลดลงเหลือ 2% จากเดิมที่คาดจะขยายตัว 5.6% แต่หากสถานการณ์บานปลายและลากยาว 2% ก็ไม่รู้ว่าจะถึงหรือไม่
400 บริษัทญี่ปุ่นกังวล
นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะนายกสมาคมไทย-ญี่ปุ่น กล่าวว่า รู้สึกเป็นห่วงต่อสถานการณ์ในเมียนมาที่ต้องจับตาต่อไป ล่าสุดจากการประชุมร่วมนักลงทุนญี่ปุ่นในไทย (16 ก.พ.2564) ระบุรู้สึกเป็นกังวล และเป็นห่วงบริษัทญี่ปุ่นและบริษัทต่างชาติที่เข้าไปลงทุนในเมียนมาหลังผู้ชุมนุมได้ไปเดินขบวนไปที่เขตเศรษฐกิจพิเศษติละวา (เป็นการร่วมลงทุนระหว่างรัฐบาลเมียนมากับบริษัทเอกชนจากญี่ปุ่น) เนื่องจากผู้ชุมนุมได้สั่งห้ามให้บริษัทต่างๆ หยุดการผลิต ขณะที่ผ่านมามีญี่ปุ่นเข้าไปลงทุนในเมียนมาประมาณ 400 บริษัท ซึ่งยังไม่รู้ทิศทางอนาคตจะเป็นอย่างไร อย่างไรก็ดีมองแง่ดีในอนาคตอาจส่งผลให้ต่างชาติมาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น หากสามารถสร้างบรรยากาศทางการเมืองให้มีความสงบเรียบร้อย จากที่ไทยมีระบบสาธารณูปโภคต่างๆ รองรับที่ดีอยู่แล้ว และมีจุดขายหลายด้าน
นายอนุรัตน์ อินทร ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า การค้าชายแดนไทย-เมียนมาฝั่งเชียงรายที่มีจุดการค้าหลักที่ด่านแม่สาย-ท่าขี้เหล็กยังค้าขายกันตามปกติ รถยังวิ่งข้ามไปมาได้ ปัจจุบันหลังมีโควิดระบาดทำให้ยอดการค้าลดลงเหลือเฉลี่ย 30-40 ล้านบาทต่อวัน จากก่อนมีโควิดระบาดมียอดการค้าเฉลี่ยมากกว่า 1 หมื่นล้านบาทต่อปี รวมภาพรวมค้าชายแดนใน 3 อำเภอรวม 6 ด่านถาวรของเชียงราย กับเมียนมา ลาว และจีนก่อนเกิดโควิดเฉลี่ย 5.2 หมื่นล้านบาทต่อปี
“สถานการณ์การเมืองในเมียนมายังน่าห่วง ซึ่งหอการค้าแม่สายและหอการค้าท่าขี้เหล็กมีการพูดคุยและรายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกันทุกวัน สถานการณ์ในเมียนมานับจากนี้คงต้องดูแบบวันต่อวัน เพราะค่อนข้างเปลี่ยนแปลงเร็วมาก”
กระทบค้าฝั่งระนอง
ขณะที่นายธีระพล ชลิศราพงศ์ ประธานหอการค้าจังหวัดระนอง กล่าวว่า สถานการณ์ในเมียนมาเวลานี้ได้ส่งผลกระทบด้านส่งออกและนำเข้าสินค้าไทย-เมียนมา จากพนักงานไปชุมุมประท้วง ทำให้ธนาคารในเมียนมาต้องปิดให้บริการ ส่งผลให้ธนาคารที่ย่างกุ้งไม่สามารถทำธุรกรรมในการโอนเงินมาที่เกาะสองที่อยู่ฝั่งตรงข้ามจังหวัดระนองเพื่อชำระค่าสินค้าได้ หากยังเป็นเช่นนี้ต่อไปจะทำให้ผู้ค้าทั้งสองฝ่ายขาดสภาพคล่องและกระทบต่อการค้าขาย และเศรษฐกิจในพื้นที่ได้ จากที่ผ่านมาการค้าไทย-เมียนมาฝั่งระนองมีมูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านบาทต่อปี
นายเดช พัฒนเศรษฐพงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทองไทยการทอ จำกัด หนึ่งในผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม (การ์เมนต์) กล่าวว่า บริษัทได้เข้าไปลงทุนตั้งโรงงานผลิตเสื้อผ้าในเมียนมาเมื่อ 6-7 ปีที่ผ่านมาเป้าหมายหลักเพื่อส่งออกไปตลาดสหภาพยุโรป(อียู) ที่เมียนมาได้สิทธิพิเศษภาษีนำเข้า 0% ต่อสถานการณ์ในเมียนมาบริษัทยังคงเปิดดำเนินการตามปกติ แต่ก็มีพนักงานส่วนหนึ่งหยุดงานไปประท้วง ต้องยอมรับว่าสถานการณ์ในเมียนมายังน่าห่วง ต้องจับตาต่อไป
ที่มา : หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,654 วันที่ 18 - 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564