นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีเร่งเฟส 1 วางระบบสาธารณูปโภคคืบหน้า 70% พร้อมเปิดนักลงทุนเข้ามาตั้งโรงงาน รับแผนเริ่มเปิดเดินรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาวที่จะมีถึงเวียงจันทน์ปลายปี 2564 นี้ ชี้จะพลิกโฉมการเดินทางขนส่งไทย-ลาว-จีน ถึงกันได้ในวันเดียว ประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย จี้รัฐเร่งตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน เพิ่มศักยภาพ แข่งขันดึงดูดการลงทุนกับกลุ่มประเทศ CLMV
นายพิสิษฎ์ พิพัฒน์วิไลกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด ผู้พัฒนาโครงการนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า โครงการนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี มีเอกชนในท้องถิ่นเป็นผู้ลงทุน และดำเนินการภายใต้การควบคุมของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ขณะนี้กำลังเร่งดำเนินการเฟสแรก ก่อสร้างสิ่งสาธารณูปโภค ในพื้นที่กว่า 1,300 ไร่ ก้าวหน้าไปกว่า 70% รวมถึงจัดตั้งบริษัท อุดรโลจิสติกส์ ปาร์ค จำกัด เพื่อก่อสร้างและบริหารท่าเรือบกและศูนย์กระจานสินค้า ในพื้นที่ 600 ไร่ ให้รองรับกับโครงการรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว ที่มีกำหนดเปิดให้บริการเดือนธันวาคม 2564 นี้
ทั้งนี้ รถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว จะเอื้อประโยชน์ทั้งการเดินทางของคนและการขนส่งสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพ จะเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งจากปัจจุบันไปอย่างมหาศาล จะเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าเข้า-ออกระหว่างประเทศไทยกับจีน โดยเฉพาะสินค้าชนิดต่าง ๆ ที่ผลิตได้ในโครงการนิคมฯอุดรธานี เช่น สินค้าเกษตรแปรรูปของอุดรธานีและภาคอีสาน สามารถขนส่งไปจีนได้ภายในเวลาเพียง 1 วัน ด้วยระยะทางประมาณ 850 กิโลเมตร เทียบกับการขนส่งจากอุดรธานี ไปลงเรือท่าเรือแหลมฉบังเพื่อส่งไปจีน ต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 15 วัน และระยะทางกว่า 1,500 กิโลเมตร จึงสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลานี้การขนส่งทางเรือยังเจอปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ซ้ำอีก
ทั้งนี้ ทางโครงการได้วางแผนงานมาหลายปีแล้ว ที่จะให้เปิดใช้โครงการในปี พ.ศ. 2564 เพื่อให้สอดคล้องกับโครงการรถไฟจีน-ลาว โดยจะสามารถสร้างงานให้กับท้องถิ่น หรือการสร้างงานกลับคืนสู่บ้านเกิด ได้ไม่น้อยกว่า 20,000 ตำแหน่ง ทั้งในโครงการฯ และแรงงานต่อเนื่อง ในธุรกิจสาขาอื่น ๆ ในพื้นที่โดยรอบของโครงการ เช่น บ้านพักอาศัย ร้านค้า การบริการทุกด้านเป็นมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท
ผู้จัดการนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี กล่าวอีกว่า เนื่องจากโครงการนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ถูกบรรจุอยู่ในกรอบความร่วมมือกลุ่มแม่นํ้าลานช้าง-แม่นํ้าโขง (Lancang-Mekong Cooperation-LMC) เมื่อครั้งที่มีการประชุมของกลุ่มผู้ประกอบการ เพื่อนำเสนอข้อมูลด้านธุรกิจต่อนักลงทุนชาวจีน สำหรับการลงทุนในประเทศต่าง ๆ ที่อยู่ในภูมิภาค ลุ่มนํ้าโขง ระยะ 5 ปี 2019-2023 (พ.ศ2562-2566) ทำให้นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี เป็นหนึ่งในโครงการที่อยู่ในแผนการลงทุนของนักลงทุนจีน ที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่ลุ่มแม่นํ้าโขงดังกล่าว ทำให้ปัจจันมีลูกค้าที่เป็นนักลงทุนจีนกว่า 70% ของลูกค้าทั้งหมด จากทั้งในประเทศและประเทศต่าง ๆ ที่ให้ความสนใจ มีการสอบถามรายละเอียดโครงการผ่านช่องทางต่าง ๆ มายังโครงการจำนวนมาก
ทางโครงการได้รับคำแนะนำจากนักลงทุนชาวญี่ปุ่นว่า ต้องการให้สถานศึกษาในพื้นที่ทั้งระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา พัฒนาหลักสูตรด้านอุตสาหกรรมที่จะมีการลงทุนในนิคมฯกรีนอุดรธานี เพื่อจัดการเรียนการสอนเหมือนกับที่มีในญี่ปุ่น โดยทางบริษัทของญี่ปุ่นพร้อมร่วมมือในการจัดฝึกอบรม เมื่อจบการศึกษาสามารถเข้าทำงานในโรงงานได้เลยโดยไม่ต้องฝึกงานใหม่ ซึ่งฝ่ายที่เกี่ยวข้องการจัดหลักสูตรการศึกษาของจังหวัดก็มีความเห็นสอดคล้องกับแนวติดดังกล่าว
นายพิสิษฎ์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม เวลานี้มีการแข่งขันดึงดูดการลงทุนของทุกประเทศ รวมทั้งเพื่อนบ้านกลุ่ม CLMV ที่จัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษให้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ มากมาย ของไทยเองก็มีการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน แต่เวลานี้มีที่เป็นรูปเป็นร่างแห่งเดียวที่จังหวัดสระแก้ว ส่วนที่อื่น ๆ ยังไม่มีนักลงทุนสนใจเข้าไปลงทุน ซึ่งรัฐต้องเร่งสนับสนุนผลักดันโครงการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ตามแผนงานที่วางเอาไว้ เพื่อเสริมโอกาสในการแข่งขันด้านการลงทุนของนักลงทุนไทยเพิ่มขึ้นด้วย
หน้า 17 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,654 วันที่ 18 - 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
นิคมกรีนอุดรฯ เล็งดึงทุนญี่ปุ่น-จีน รับไฮสปีด-ระเบียงเศรษฐกิจอีสาน
2564 อุดรธานีพร้อม ไฮสปีดนิคมฯกรีน ปลุกลงทุนพุ่ง