สำนักงานส่งเสริมการค้าไทยในต่างประเทศ (สคต.หรือทูตพาณิชย์) ณ กรุงย่างกุ้ง สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา รายงานสถานการณ์ในเมียนมา ณ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 หลังรัฐประหารว่า ยังคงมีการหยุดงานประท้วงของกลุ่มอาชีพต่าง ๆ ในเมืองใหญ่ต่อเนื่อง ขณะที่ชาติตะวันตก อาทิ สหรัฐฯ อังกฤษ แคนาดาได้ประกาศ ควํ่าบาตรแบบเจาะจง (Targeted Sanction) ผู้นำกองทัพเมียนมาและบริษัทเมียนมาที่กองทัพถือหุ้นหรือเป็นเจ้าของ
ทั้งนี้ในส่วนของสหรัฐฯ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้ออกคำสั่งและกำหนดมาตรการควํ่าบาตรต่อเมียนมา ซึ่งหนึ่งในมาตรการคือการห้ามนำเข้าอัญมณี “ทับทิม” เมียนมา จาก 3 บริษัทใหญ่ คือ Myanmar Ruby Enterprise,Myanmar Imperial Jade Co. และ Cancri (Gems and Jewellery) Co. จากทั้ง 3 บริษัทนี้มีเจ้าของหรือเป็นบริษัทในเครือซึ่งควบคุมหรือมีความเกี่ยวพันกับกองทัพของเมียนมา ในเบื้องต้น Ms.Sara Yood ที่ปรึกษาอาวุโสของ Jewelers Vigilance Committee (JVC) ได้แนะนำให้นักธุรกิจที่ทำการค้าและนำเข้าสินค้าอัญมณีจากบริษัทดังกล่าวให้ยุติการติดต่อหรือการเจรจาการค้าในทันที
อย่างไรก็ดีในอดีตสหรัฐฯเคยออกพระราชบัญญัติห้ามนำเข้าทับทิมและหยกจากเมียนมา(The JADE Act) ในสมัยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ซึ่งเป็นกฎหมายที่ห้ามการนำเข้า ทับทิมและหยกที่มีถิ่นกำเนิดจากเมียนมา แม้ว่าจะถูกนำไปพัฒนาปรับปรุงหรือเจียระไนในประเทศอื่นก็ตาม ปัญหาดังกล่าวอาจส่งผลต่อผู้นำเข้าของสหรัฐฯ รวมถึงนักธุรกิจไทยที่อาจประสบความยุ่งยากในการชี้แจงแหล่งกำเนิดสินค้าของสินค้าดังกล่าว จากสหรัฐฯมีความสงสัยว่าทับทิมจากไทยอาจจะมาจากเมียนมา ก่อนสหรัฐฯได้ยกเลิกมาตรการในปี 2559 สมัยประธานาธิบดีโอบามา
สคต. ณ กรุงย่างกุ้งระบุอีกว่า ตลาดสหรัฐฯมีความต้องการทับทิมเป็นจำนวนมาก ดังนั้นหากมีการควํ่าบาตรในมุมกว้าง อาจเกิดอุปสรรคต่อไทย เพราะไทยเป็นศูนย์กลางส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับที่สหรัฐฯให้ความไว้วางใจ อาจถูกลดลำดับความสำคัญลง เนื่องจากทับทิมไทยส่วนใหญ่มีแหล่งกำเนิดจากเมียนมา ขณะที่ในปี 2563 การนำเข้าทับทิมของสหรัฐฯจากทั่วโลก (HS7103910010) มีมูลค่า 3,598.42 ล้านบาท (119.94 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) โดยนำเข้าจากไทยเป็นอันดับ 1 มูลค่า 1,103.69 ล้านบาท (36.78 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) หรือมีสัดส่วน 30.67% ของการนำเข้า
นายสมชาย พรจินดารักษ์ ประธานสมาพันธ์อัญมณี เครื่องประดับ และโลหะมีค่าแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ช่วง 15 ปีที่ผ่านมาไทยเคยมีการนำเข้าวัตถุดิบทับทิม พลอย และหยกจากเมียนมาแต่ละปีเป็นจำนวนมาก แต่ช่วงหลังการนำเข้าจากเมียนมาลดน้อยลง จากของมีน้อยและราคาสูงขึ้นมาก ทำให้เวลานี้ผู้ประกอบการหันไปนำเข้าวัตถุดิบส่วนใหญ่จากประเทศโมซัมบิกเป็นหลัก เพื่อมาเจียระไนแล้วส่งออก ดังนั้นการแบนนำเข้าทับทิมจากเมียนมาของสหรัฐฯในครั้งนี้มองว่าไม่น่ากระทบกับไทยมากนัก
สำหรับภาพรวมการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยในปีที่ผ่านมาติดลบกว่า 40% (ไม่รวมทองคำ)จากเศรษฐกิจการค้าโลกได้รับผลกระทบจากโควิด ส่งผลงานแสดงสินค้า(แฟร์)ทั่วโลกถูกยกเลิก ขณะที่สถานการณ์โควิดทั่วโลกเวลานี้มีแนวโน้มดีขึ้น จากหลายประเทศเริ่มฉีดวัคซีนป้องกัน สนามบิน ภาคการท่องเที่ยว และการล็อกดาวน์ในหลายประเทศก็เริ่มคลี่คลาย คนกล้าเดินทางมากขึ้น(หากไม่มีการกักตัว) คาดหวังงานแฟร์ที่ผู้ค้าและผู้ซื้อจะได้มีโอกาสได้พบปะและเจรจาการค้ากันอาจเกิดขึ้นได้จริงในปลายปีนี้ ดังนั้นจึงคาดการส่งออกอัญมณีฯดับของไทยในปีนี้อาจจะขยายตัวได้ที่ 3-5%
ด้านนายกิตติศักดิ์ อุดมแดงอร่าม รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมผู้ส่งออกเครื่องประดับเงินไทย กล่าวว่า ผลกระทบจากที่สหรัฐฯประกาศแบนนำเข้าทับทิมจากเมียนมาที่มีต่อไทยในเวลานี้ยังไม่ชัดเจน แต่มองเป็นเรื่องที่น่ากังวล ซึ่งทางกลุ่มจะได้ขอข้อมูลการนำเข้าจากผู้ค้าทับทิม พลอย หยกจากเมียนมาเพื่อประเมินผลกระทบจากข้อเท็จจริงต่อไป
หน้า 2 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,656 วันที่ 25 - 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
โควิด-19 ฉุดยอดส่งออกอัญมณีฯ11 เดือนวูบ
ส่งออกอัญมณีวูบแสนล้าน แข่งจัดอีเวนต์ปั๊มยอด
จัดโชว์-ขายจิวเวลรี่จันทบุรี หวังขึ้นแท่น“นครอัญมณี”