“ทุเรียนสด” - “ถุงมือยาง”  แชมป์ใช้สิทธิ์ FTA-GSPปี63

24 ก.พ. 2564 | 08:32 น.

“พาณิชย์” เผยยอดใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าปี 63 มีมูลค่า 62,338.86 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 10.46% ตามการส่งออกที่ชะลอตัว “ทุเรียนสด” สินค้าดาวเด่นใช้สิทธิ์สูง ตามด้วย “ถุงมือยาง” คาดปี 64 ยอดใช้สิทธิ์เพิ่ม ตามการฟื้นตัวของการส่งออก และการพัฒนางานบริการให้ยื่นขอใช้สิทธิ์ได้ง่ายขึ้น

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า การใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าสำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) และภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ในปี 2563 ที่ผ่านมา มีมูลค่า 62,338.86 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 10.46% ซึ่งเป็นไปตามการส่งออกในภาพรวมที่ปรับตัวลดลง เพราะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และมีสัดส่วนการใช้สิทธิ 76.06% ของสินค้าที่ได้สิทธิประโยชน์ทั้งหมด โดยแบ่งเป็นการใช้สิทธิภายใต้ FTA มูลค่า 58,077.18 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 11.41% มีสัดส่วนการใช้สิทธิ 76.53% และการใช้สิทธิภายใต้ GSP มูลค่า 4,261.68 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 5.03% มีสัดส่วนการใช้สิทธิ 70.12%

“ทุเรียนสด” - “ถุงมือยาง”   แชมป์ใช้สิทธิ์ FTA-GSPปี63

โดยตลาดที่ไทยส่งออกโดยมีการใช้สิทธิ์ FTA สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.อาเซียน มูลค่า 19,337 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 2.จีน มูลค่า 18,955.57 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 3.ออสเตรเลีย มูลค่า 6,987.07 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 4.ญี่ปุ่น มูลค่า 6,495.44 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 5.อินเดีย มูลค่า 3,306.88 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนตลาดที่มีการใช้สิทธิ์ GSP สูงสุด ได้แก่ สหรัฐฯ มูลค่า 3,825.94 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมา คือ สวิตเซอร์แลนด์ มูลค่า 270.80 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช มูลค่า 133.92 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนอร์เวย์ มูลค่า 31.02 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

สำหรับปี 2563 สินค้าที่มีการใช้สิทธิ์ FTA สูงสุด ได้แก่ ทุเรียนสด รองลงมา คือ ผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ ฝรั่ง มะม่วง มังคุด รถบรรทุกขนส่งขนาดไม่เกิน 5 ตัน ยานยนต์สำหรับขนส่งบุคคลตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป มันสำปะหลัง เครื่องดื่มประเภทอื่นๆ ที่ไม่เติมแก๊ส และสินค้าที่ใช้สิทธิ์ GSP สูงสุด ได้แก่ ถุงมือยาง รองลงมา คือ อาหารปรุงแต่ง ส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศ เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ กรดซิทริก เลนส์แว่นตาทำด้วยวัสดุอื่นๆ

“ทุเรียนสด” - “ถุงมือยาง”   แชมป์ใช้สิทธิ์ FTA-GSPปี63

ทั้งนี้ รายละเอียดของสินค้าที่มีการใช้สิทธิ์ FTA กรอบต่างๆ ได้แก่ ทุเรียนสด (อาเซียน-จีน) ผลไม้อื่นๆ เช่น ลำไย เงาะ ลางสาด (อาเซียน-จีน) ผลไม้แห้ง เช่น ลำไย มะขาม (อาเซียน-จีน) ผลไม้สด (อาเซียน) เนื้อและเครื่องในไก่แช่แข็ง (อาเซียน-จีน, อาเซียน-เกาหลี) กุ้ง (อาเซียน-เกาหลี) เครื่องดื่มที่ไม่เติมแก๊สประเภทนมหรือนมถั่วเหลือง (อาเซียน) อาหารปรุงแต่ง (อาเซียน, ไทย-ชิลี) น้ำผลไม้ (อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์) เต้าหู้ปรุงแต่ง (อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์) ซอสปรุงแต่ง (อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์) ปลาทูน่า ปลาสคิปแจ็ก และปลาโบนิโตชนิดซาร์ดากระป๋อง (อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ , ไทย-ชิลี) ปลาทูน่าปรุงแต่ง (อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์) อาหารปรุงแต่งที่ทำจาก-ธัญพืช (อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์) สับปะรดปรุงแต่ง (ไทย-ชิลี) และยังมีสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าบางส่วน ที่ขยายตัวได้ดีท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 เพื่อตอบสนองการทำงานจากที่บ้าน เช่น ตู้เย็นหรือตู้แช่แข็ง (อาเซียน , ไทย-อินเดีย , อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์) เครื่องซักผ้า (อาเซียน-เกาหลี, ไทย-ชิลี) เครื่องปรับอากาศ (อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์) เป็นต้น

ส่วนสินค้าที่มีการใช้สิทธิ์ GSP สูง ได้แก่ อาหารปรุงแต่ง (สหรัฐฯ , สวิตเซอร์แลนด์) ซอสและของปรุงแต่งสำหรับทำซอส (สหรัฐฯ , รัฐเซียและเครือรัฐเอกราช , สวิตเซอร์แลนด์) สับปะรดกระป๋อง (รัฐเซียและเครือรัฐเอกราช, นอร์เวย์) ผลไม้และลูกนัต (รัสเซียและเครือรัฐเอกราช) น้ำสับปะรดและสับปะรดแปรรูป (สวิตเซอร์แลนด์) เนื้อปลาแบบฟิลเลสด แช่เย็น แช่แข็ง (รัฐเซียและเครือรัฐเอกราช) มะนาว (รัฐเซียและเครือรัฐเอกราช) พาสต้า (นอร์เวย์) ข้าว (นอร์เวย์, สวิตเซอร์แลนด์) ธัญพืชคั่ว อบ หรือปิ้ง (นอร์เวย์) ปลาทูน่ากระป๋อง (สวิตเซอร์แลนด์) เป็นต้น
 

 แนวโน้มการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้า ทั้ง FTA และ GSP ในปี 2564 คาดว่า จะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2563 ตามการฟื้นตัวของการส่งออก หลังจากที่หลายประเทศเริ่มมีการฉีดวัคซีนโควิด-19 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัว กำลังซื้อเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีความต้องการสินค้ามากขึ้น และไทยจะส่งออกได้ดีขึ้น ขณะที่กรมฯ จะเร่งอำนวยความสะดวกพัฒนางานบริการในด้านการขอใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าผ่านทางออนไลน์ให้ง่ายขึ้น เร็วขึ้น ซึ่งจะช่วยให้มีการขอใช้สิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น

“ทุเรียนสด” - “ถุงมือยาง”   แชมป์ใช้สิทธิ์ FTA-GSPปี63
ทางด้านการต่ออายุโครงการ GSP ของสหรัฐฯ หลังจากที่หมดอายุไปตั้งแต่ช่วงปลายปี 2563 ขณะนี้ยังไม่มีการต่ออายุ เพราะสหรัฐฯ อยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยน แต่งตั้งบุคลากรที่จะเข้ามาดูแลนโยบายในเรื่องนี้ แต่ไม่มีผลกระทบต่อการส่งออกของไทยที่ต้องการใช้สิทธิ GSP ส่งออกไปสหรัฐฯ โดยผู้นำเข้าต้องวางหลักประกันเอาไว้ก่อน ถ้ามีการต่ออายุก็คืนหลักประกันให้ ซึ่งก็เหมือนกับโครงการที่ผ่านมา มักจะมีการต่ออายุช้าทุกครั้ง บางครั้งช้า 4-5 เดือน บางครั้งช้าเป็นปีก็มี