รัฐคลายล็อกหลังคุมโควิด-19อยู่ ความเชื่อมั่นฟื้นมีวัคซีนแล้ว อีสานบูมท่องเที่ยวทันควัน นครราชสีมาเปิดมหกรรมโคราชจีโอพาร๋ค อีสานเหนือชวนเที่ยวตัวปลิวชิวอีสานเหนือ
ภาครัฐคลายล็อกคุมโควิด-19 ปล่อยกิจกรรมกลับมาเปิดได้เกือบปกติ บวกความเชื่อมั่นจากการมาถึงของวัคซีนต้านเชื้่อโควิด-19 ล็อตแรก จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งเป็นกลุ่มพื้นที่สีเขียว ทะยอยออกมาปลุกบรรยากาศการท่องเที่ยว เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่ จังหวัดนครราชสีมาประเดิมด้วยมหกรรมเปิดโลกธรณีวิทยา (จีโอ พาร์ค) เพื่อการท่องเที่ยว ขณะที่ภาคีเครือข่ายด้านการท่องเที่ยวกลุ่มจังหวัด “นคราธานี” ชูจุดแข็ง “แผ่นดิน 3 ธรรม” และจ่ายเบาๆ ชวนเที่ยวตัวปลิวชิวอีสานเหนือ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ที่สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินและทรัพยากร ธรณี ภาคตะวันออกเฉียงเฉลิมพระเกียรติ บ้านโกรกเดือนห้า ตำบลสุรนารี อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา หรือพิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหินฯ โคราช เตรียมพร้อมจัดงานมหกรรมเปิดโลกธรณีวิทยาเพื่อการท่องเที่ยว ครั้งที่ 7 โคราช จีโอพาร์ค เฟสติวัล ( Khorat Geopark Festivel ) วันที่ 26-28 ก.พ. 2564 นี้
นายมนตรี เหลืองอิงคะสุต รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี เปิดเผยว่า อุทยานธรณีโคราช เป็นอุทยานธคณีระดับประเทศแห่งที่ 2 มีความโดดเด่นหลากหลาย ทั้งลักษณะภูมิประเทศเควสต้าหินทรายคู่ขนาน หรือเขารูปอีโต้ที่มีการยกตัวของที่ราบสูงโคราช ก่อให้เกิดภูมิประเทศที่สวยงาม และมีความยาวถึง 1,640 กิโลเมตร ต่อเนื่องตั้งแต่ประเทศไทย สปป.ลาว ถึงกัมพูชา
พร้อมกันนี้ยังมีความหลากหลายทางชีวภาพของฟอสซิลสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนํ้านม ที่ได้รับการรับรองโดยการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติ โดยฉพาะอย่างยิ่งชากดึกดำบรรพ์ช้างโบราณ ซึ่งมีความหลากหลาย โดยพบมากที่สุดถึง 10 สกุล รวมทั้งมีการค้นพบฟอสซิลสัตว์สกุลชนิดใหม่ของโลกหลายชนิด อาทิจระเข้ แรดไร้นอ ลิงไม่มีหาง เต่า และ ไดโนเสาร์ ซึ่งแหล่งไดโนเสาร์ มีการพบฟอสซิลมากกว่า 1,000 ชิ้น ฟันมากกว่า 300 ชิ้น พบไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ของโลก 4 สกุลมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแหล่งฟอสซิลไม้กลายเป็นหิน
กรมทรัพยากรธรณียังเตรียมกิจกรรมและนิทรรศการในมหกรรมเปิดโลกธรณีวิทยาเพื่อการท่องเที่ยว อาทิ กิจกรรมท่องเที่ยวโคราชจีโอพาร์ค นิทรรศการท่องเที่ยวแหล่งธรรม ชาติ ด๊ะดาดในอีสาน การประกวดแฟนซีจีโอพาร์ครักษ์โลก ชมห้องปฏิบัติการด้านซากดึกดำบรรพ์ และสวนไม้กลายเป็นหิน “ถนนเดินกะหมู่ ดูตลาดอุทยานธรณี” สินค้าผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาอุทยานธรณีโคราช ที่นำเอาความโดดเด่นทางธรณีวิทยา มาดัดแปลงให้เป็นสินค้า การประกวดวาดภาพภายใต้ธีมงาน ช้างสี่งาชูตระหง่าน ไดโนเสาร์อลังการสู่อุทยานธรณีโลก เป็นต้น
ก่อนหน้านี้ มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือยกระดับและขับเคลื่อนเมืองไมซ์โคราช โดยมีภาคีเครือข่ายองค์กรภาครัฐและเอกชนรวม 47 องค์กร เข้าร่วมภายใต้โครงการ Korat MICE City Moving Forward Collaboration เริ่มด้วยมหกรรมศิลปะนานาชาติ ครั้งที่ 2 (Thailand Biennale, Korat 2020) และงานพืชสวนโลก ที่จังหวัดนครราชสีมาปีนี้
ที่จังหวัดอุดรธานี ททท.อีสานเหนือ กลุ่มนคราธานี 3 จังหวัด อุดรธานี-หนองคาย-บึงกาฬ ผนึกกำลังบูรณาการแนวทางท่องเที่ยวในช่วงการแพร่ระบาดและหลังผ่านพ้นโควิ-19 ด้วยการประชุมเครือข่ายสัญจรหมุนเวียนกันภายในกลุ่ม ให้สามารถดำเนินธุรกิจท่องเที่ยวในพื้นที่และใกล้เคียง ขับเคลื่อนไปได้อย่างสงบราบรื่นภายใต้มาตรการรักษาความปลอดภัยทุกด้าน สอดคล้องกับแนวทางส่งเสริมการท่องเที่ยวของ ททท.ภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภายใต้ในรูปแบบ Next Normal ปี 2564-2565 เที่ยวตัวปลิว ชิวอีสาน ขับเคลื่อนการท่องเที่ยวอีสานทั้ง 12 เดือนตลอด
ปี
นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า ปัจจุบันกลุ่มอีสานเหนือยังเป็นเมืองรองด้านการท่องเที่ยว เป็นทั้งโอกาสและอุปสรรค ด้านโอกาสคือได้รับผลกระทบจากภาวะแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 น้อยกว่าเมืองท่องเที่ยวหลัก และจะสามารถฟื้นตัวได้เร็วกว่า ในภาวะที่มีข้อจำกัดนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่กลุ่มต่าง ๆ จังหวัดต่าง ๆ ต้องจัดให้มีการเตรียมความพร้อม ในการให้มีการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างกลุ่มจังหวัดหรือระหว่างจังหวัดด้วยกันเองดีกว่า และต้องการเห็นว่าในภาคธุรกิจท่องเที่ยวจะทำอย่างไร ให้เกิดการท่องเที่ยวระหว่างกันให้มากที่สุด เกิดรายได้จากการท่องเที่ยวมากที่สุด ให้สามารถมีกิจกรรมการและขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเพื่อให้พยุงตัวเองให้ผ่านพ้นช่วงวิกฤตินี้ไปได้
นายสมชาย ชมภูน้อย ผอ.ททท.ภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวถึงแนวทางการท่องเที่ยวในภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ภาคอีสาน) ในปี พ.ศ.2564-2565 ภายใต้แคมเปญ “เที่ยวตัวปลิว ชิวอีสาน” ภาคอีสานมีจุดแข็งในด้านการท่องเที่ยว 3 ธรรม ได้แก่ มีประเพณีวัฒนธรรมที่มีความโดดเด่น โดยเฉพาะในด้านของการเป็นดินแดนแห่งธรรมมะ ธรรมชาติ วัฒนธรรม และอารยธรรมที่เก่าแก่ ทำให้เกิดการท่องเที่ยวตามวัฒนธรรมความเชื่อ ความศรัทธา การท่องเที่ยวตามรอยอารยธรรมของอีสาน ที่สามารถขับเคลื่อนให้เกิดการท่องเที่ยวที่หลากหลายได้ทั้ง 12 เดือนตลอดปี
พร้อมกับชี้ว่า วิกฤติการแพร่ระบาดโควิค 19 ไม่ได้เป็นผลร้ายต่อการท่องเที่ยวของภูมภาคภาคอีสานทั้งหมด แต่ก็เป็นโอกาสของภูมิภาคภาคอีสานได้เหมือนกัน อาทิเช่นภาคอีสานเป็นภาคที่มีค่าใช้จ่ายกับการท่องเที่ยวตํ่ากว่าภาคอื่นๆ ดังนั้นในระยะปี 2564-2565 ก็จะเป็นจุดดึงดูดให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวในภาคอีสานมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้จะต้องนำเอามาตรฐาน SHA เข้ามาใช้กับทุกๆกิจการโดยเฉพาะการดึงเอาจังหวัดไม่มีวิกฤติโควิค 19 เข้ามาเป็นเครือข่ายขับเคลื่อน ก็จะได้ประโยชน์มหาศาล
ส่วนที่กาฬสินธุ์มีการเปิดสวนกวางโอเคกาฬสินธุ์ (โอเค เดียร์ ปาร์ค) เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมการเกษตร และเป็นแลนด์มาร์คใหม่ของจังหวัด ในพื้นที่ 400 ไร่ของสวนสาธารณะหนองทึง ตำบลหัวนาคำ อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ อยู่บนเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันตก-ตะวันออก (EWEC) เชื่อมอินโดจีน บนพื้นที่รอยต่อ 3 จังหวัด ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์
นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า จังหวัดกาฬสินธุ์ยังได้พัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวข้ามจังหวัด ได้แก่ เส้นทางชิมกาแฟควายแคระที่เชียงยืน มหาสารคาม ไหว้พระสิมอีสานตำนานไม้พันชาตที่วัดหัวนาคำ ถ่ายรูปสวนกวาง OK DEER PARK ที่หนองทึง ชิมองุ่นและกุ้งก้ามกรามเลิศรสที่ยางตลาด เข้าพักชมธรรมชาติที่กาฬสินธุ์ ถิ่นไดโนซอรัส เป็นต้น
หน้า 17 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,657 วันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 3 มีนาคม พ.ศ. 2564
ข่าวที่เกี่ยวข้อง