เป็นที่มาของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานในสังกัดได้เร่งสร้างความเชื่อมั่นอาหารไทยปลอดภัยจากโควิด-19 ด้วยเครื่องหมายรับรองตนเอง “IPHA”
ชูใบรับรองปลอดโควิด
นายทวี ปิยะพัฒนา ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัท พี.เอฟ.พี. ผู้ผลิต จัดจำหน่าย และส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแปรรูปแช่แข็งแถวหน้า ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” หลังโรงงานของบริษัท (แปซิฟิคแปรูปสัตว์น้ำ) เป็นบริษัทแรกที่ได้รับใบรับรองมาตรฐาน IPHA ว่า การได้รับใบรับรองเป็นผลจากมีการบริหารจัดการด้านสุขอนามัยอย่างเข้มงวดทั้งการจัดการสุขอนามัยในสถานประกอบการ การจัดการสุขอนามัยในกระบวนการผลิต และการจัดการสุขอนามัยของบุคลากร และคนงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
“เราได้เข้มงวดเรื่องสุขอนามัยในโรงงานมานานแล้ว โดยได้รับรองมาตรฐานในประเทศทั้งของกรมประมง และหน่วยงานอื่น ๆ รวมถึงมาตรฐานสากลต่าง ๆ แต่พอมีโควิดเราก็เพิ่มความเข้มงวดขึ้นไปอีกขั้น เช่น พนักงาน/คนงาน หรือรถส่งของก่อนเข้า-ออกโรงงานจะมีการควบคุม ติดตาม และป้องกันการปนเปื้อนอย่างเข้มงวด มีการฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อรถเข้าโรงงาน การปฏิบัติตามมาตรฐานสุขอนามัยในการป้องกันโควิดของโรงงาน มีการฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อที่แพ็กเกจจิ้งเพื่อให้ลูกค้าสบายใจ ซึ่งใบรับรองนี้ส่วนมากลูกค้าต่างประเทศเขาอยากได้เพื่อสร้างความมั่นใจ และการันตีว่าสินค้าเราปลอดโควิด 100%”
ยอดปี 63 กว่า 5 พันล้าน
สำหรับภาพรวมการดำเนินธุรกิจของพี.เอฟ.พี.กรุ๊ปในปีที่ผ่านมามียอดขายประมาณ 5,000 ล้านบาท เป็นยอดขายที่ใกล้เคียงปี 2562 สัดส่วนรายได้มาจากตลาดในประเทศและส่งออก 50:50 โดยตลาดในประเทศมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างคงที่ ส่วนตลาดส่งออกค่อนข้างแกว่งตามค่าเงินที่เงินบาทที่ค่อนข้างแข็งค่า รวมถึงมีปัญหาเรื่องค่าระวางเรือที่เวลานี้ปรับขึ้นเท่าตัว และมีปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ในการขนส่งสินค้า อยากให้รัฐบาลช่วยเร่งแก้ไขเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันส่งออก
ปัจจุบันสินค้าของเครือสำหรับตลาดในประเทศขายผ่านทุกช่องทาง ทั้งตลาดสด ร้านอาหาร มินิมาร์ต ซุปเปอร์มาร์เก็ต และโมเดิร์นเทรดต่าง ๆ ส่วนตลาดต่างประเทศส่งออกไปทั่วโลกมากกว่า 20 ประเทศ เช่น ออสเตรเลีย ยุโรป อเมริกา จีน เอเชีย ตะวันออกกลาง เป็นต้น ในปี 2564 คาดยอดขายของกรุ๊ปจะขยายตัวได้ 10% โดยตลาดส่งออกคาดกำลังซื้อในต่างประเทศมีแนวโน้มดีขึ้นตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ที่แต่ละประเทศเริ่มมีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด ส่วนปัจจัยสี่ยงได้แก่ ค่าเงินบาท และค่าระวางเรือที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลต่ออัตราการทำกำไรที่ไม่มาก
“ยอดขายในประเทศในปีที่ผ่านมาตัวเลขเราดีขึ้น โดยเฉพาะช่องทางตลาดสดที่เป็นช่องทางหลักมียอดขายสูงขึ้นถึง 80% แต่ในทางกลับกันในช่องทางการขายผ่านร้านอาหารเราตกไป 30-40% จากมีผู้ใช้บริการลดลงผลกระทบจากโควิด และบางส่วนของร้านอาหารรายเล็กที่สายป่านสั้น ขาดสภาพคล่องได้ปิดตัวลง ทำให้ยอดขายลูกค้ากลุ่มนี้ของเราหายไป”
ปี64 ลุยทุกช่องทางใหม่
อย่างไรก็ดี ขณะนี้ทั่วโลกรวมทั้งไทยเริ่มมีการฉีดวัคซีนโควิด คาดไตรมาส 3 ของปีนี้ทุกอย่างจะเข้าสู่ภาวะปกติ ทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศจะดีขึ้น และมีผลต่อการ
จับจ่ายใช้สอยที่ดีขึ้น ขณะที่พี.เอฟ.พีจะขยายตลาดสู่หมวดอาหารสำเร็จรูปพร้อมทาน และรุกช่องทางการจำหน่ายผ่านออนไลน์ซึ่งเป็นเทรนด์ใหม่ในยุค New Normal มากขึ้น นอกจากนี้อยู่ระหว่างศึกษาสินค้าอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชา ที่รัฐบาลกำลังให้การสนับสนุนด้วย
“PFP ยังมีช่องทางใหม่ๆ เน้นการบริการลูกค้าเชิงรุกโดยจะกระจายสินค้าให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ เช่น ตอนนี้ตลาดสดในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล PFP ได้กระจายสินค้าคลอบคลุมทุกพื้นที่ทะลุ 100% แล้ว ปีนี้มีแผนจะกระจายสินค้าให้คลอบคลุมทุกอำเภอ ทุกพื้นที่ทั่วประเทศอย่างน้อย 70% รวมทั้งการขยายช่องทางเพิ่มเติม เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคแบบใกล้ชิดมากขึ้น ด้วยการปรับแพ็กไซส์สินค้าให้เล็กลง บุกทุกถนน ทุกตรอก ซอกซอย เข้าตลาดคอนวีเนียนสโตร์ ประเดิมที่โลตัสเอ็กซ์เพลสเป็นคิวแรก”
หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,659 วันที่ 7 - 10 มีนาคม พ.ศ. 2564
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ไทยร่วงส่งออกอาหารอันดับ 13 โลก คาดปีนี้ฟื้นเล็งเป้า 1.05 ล้านล้าน
ส่งออกอาหารไทยโต 12% มูลค่า 1.10 ล้านล้านบาทปี 64
ผวาโควิดรอบใหม่ ทุบเป้าส่งออกอาหาร 1 ล้านล้าน
PFPรับปีนี้ยอดแค่4.5พันล. ตลาดใน-นอกกำลังซื้อแผ่ว/ปี 60 รุกหนักตลาดจีน