นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 9 มี.ค.2564 ได้ลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ต และได้เข้าพบผู้บริหารบริษัท ภูเก็ต เป๋าฮื้อ ฟาร์ม จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตหอยเป๋าฮื้อ และพบว่าเป็นสินค้าที่มีศักยภาพ หากใช้นวัตกรรมสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า เช่น การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพ เครื่องสำอางบำรุงฟื้นฟูผิว และคอลลาเจนสกัดเย็นจากหอยเป๋าฮื้อพร้อมดื่มผสมน้ำผลไม้ เป็นต้น จะสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะตลาดพรีเมียม และยังสามารถใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับสินค้าไทยในการขยายตลาดไปต่างประเทศ
ทั้งนี้ ในปัจจุบันประเทศคู่เจรจาเอฟทีเอ ได้แก่ อาเซียน 9 ประเทศ จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู และฮ่องกง ได้ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าประมง รวมทั้งหอยเป๋าฮื้อสด แช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูปจากไทยแล้ว ส่วนญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ยังคงเก็บภาษีประมงบางรายการจากไทย รวมทั้งหอยเป๋าฮื้อที่ 5-16% และอินเดียยังเก็บภาษีนำเข้าสินค้าประมงบางรายการจากไทย
“หอยเป๋าฮื้อเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่น่าจับตา มีมูลค่าทางการตลาดสูง เป็นที่นิยมของผู้บริโภคชาวฮ่องกง จีน และญี่ปุ่น โดยนำเข้าในรูปแบบอาหารสดแช่แข็ง และอาหารกระป๋องและแปรรูป และในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการไทยสามารถเพาะเลี้ยงหอยชนิดนี้ในเชิงพาณิชย์ได้ และได้รับการยอมรับว่ามีคุณภาพดี เนื้อเยอะ และเปลือกน้อย จึงช่วยลดการนำเข้าและทำให้ไทยส่งออกไปต่างประเทศได้ โดยเฉพาะจีน ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่และไม่เก็บภาษีนำเข้าหอยเป๋าฮื้อสด แช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูปจากไทยแล้ว ทำให้มีโอกาสในการขยายตลาดส่งออก และที่สำคัญยังสามารถใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้เอฟทีเอในการส่งออกได้ด้วย”
ในปี 2563 ไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าประมงอันดับที่ 13 ของโลก มีมูลค่า 1,567.13 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน สหรัฐฯ อาเซียน และเกาหลีใต้ สำหรับสินค้าหอยเป๋าฮื้อ ไทยส่งออกมูลค่า 4,788 ดอลลาร์สหรัฐ เป็นการส่งออกสินค้าประเภทเป๋าฮื้อปรุงแต่ง ตลาดหลัก คือ เกาหลีใต้
นอกจากนี้ กรมฯ ยังได้จัดสัมมนาให้ความรู้กับวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกร “พรชนก” ผู้ผลิตผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติ โดยผู้เชี่ยวชาญได้มีการแนะนำผู้ประกอบการให้เรียนรู้แนวทางและเทคนิคการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของตลาด เพื่อให้สามารถพัฒนาและยกระดับสินค้าผ้ามัดย้อมท้องถิ่นจากวัตถุดิบธรรมชาติให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์ และมีรูปแบบที่น่าสนใจ และเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อขยายตลาดในประเทศและต่างประเทศ
สำหรับการลงพื้นที่ในครั้งนี้ เป็นการต่อยอดจากการลงพื้นที่เมื่อปีที่แล้ว เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการและชุมชนในจังหวัดภูเก็ตที่ประสบปัญหาขาดรายได้จากการท่องเที่ยว เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ 5 ชุมชนในตำบลกะรน ได้รวมตัวกันผลิตผ้ามัดย้อมจากวัตถุดิบธรรมชาติในท้องถิ่น สร้างแบรนด์ “ภูษาเล” หรือ “ผ้าจากทะเล” เพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชนทดแทนรายได้จากการท่องเที่ยว