นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 14 มีนาคมที่ผ่านมา ได้รับรายงานจากด่านตรวจพืชเชียงของ จังหวัดเชียงราย สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร ว่า มีผู้ประกอบการบางรายในพื้นที่จังหวัดพิจิตรได้นำส้มโอนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านมาขอออกใบรับรองสุขอนามัยพืชเพื่อเป็นหลักฐานประกอบการส่งออกไปยังประเทศที่ 3 ซึ่งจากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ด่านตรวจพืชร่วมกับเจ้าหน้าที่จากสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 2 จังหวัดพิษณุโลกหน่วยงานในพื้นที่ของกรมวิชาการเกษตรพบว่าเป็นส้มโอที่ต้องสงสัยว่าลักลอบนำเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้านแล้วนำมาขอออกใบรับรองสุขอนามัยพืชเพื่อสวมสิทธิ์ส่งออกเป็นส้มโอไทย กรมจึงปฏิเสธที่จะออกใบรับรองสุขอนามัยพืชให้
ก่อนหน้านี้ กรมวิชาการเกษตร ได้รับแจ้งข้อมูลจากกรมการค้าต่างประเทศ กรณีสำนักงานพาณิชย์จังหวัดพิจิตรได้รับแจ้งเบาะแสจากผู้ปลูกส้มโอในจังหวัดพิจิตรว่า มีผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุ (ล้ง) ในพื้นที่อำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร รับซื้อส้มโอนำเข้าจากเวียดนามแล้วนำมาเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ที่จังหวัดพิจิตรก่อนส่งออกไปจีน ซึ่งได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่จากสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 2 เข้าไปดำเนินการตรวจสอบโรงคัดบรรจุดังกล่าวตามที่ได้รับแจ้งแล้ว
“ส้มโอจัดเป็นสิ่งต้องห้ามตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และตามพระราชบัญญัติกักพืชพ.ศ.2507 ซึ่งการนำเข้าหรือนำผ่านต้องผ่านการวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืชก่อนจึงจะสามารถนำเข้าหรือนำผ่านมาในราชอาณาจักรได้ และต้องปฏิบัติตามประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการนำเข้า หรือ นำผ่านซึ่งสิ่งต้องห้ามสิ่งกำกัด และสิ่งไม่ต้องห้าม พ.ศ.2551 และเงื่อนไขการนำเข้าที่อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกำหนด
แฉ ทุเรียน “เวียดนาม” สวม GAP ทุเรียนใต้ ขายจีน
โดยปัจจุบันประเทศไทยนำเข้าผลส้มโอสดจากต่างประเทศที่ผ่านการวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืชแล้วเท่านั้น แต่สำหรับการนำผ่านผลส้มโอสดยังไม่สามารถดำเนินการได้. เนื่องจากยังไม่มีแหล่งใดผ่านการวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืช”
นายพิเชษฐ์ กล่าววา ได้สั่งกำชับให้ด่านตรวจพืชของกรมวิชาการเกษตรทุกแห่งเพิ่มความเข้มงวด เฝ้าระวังและตรวจสอบผลส้มโอสดที่อาจนำเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันไม่ให้นำผลไม้จากต่างประเทศมาสวมสิทธิ์ใบรับรอง GAP ของไทยแล้วส่งออกไปประเทศที่ 3 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรในประเทศและอาจทำให้มีแมลงศัตรูพืชกักกันที่ไม่เคยมีในประเทศติดเข้ามาแพร่ระบาดภายในประเทศได้
โดยเจ้าหน้าที่ด่านฯ ต้องตรวจสอบข้อมูลชื่อผู้รับ ลักษณะบรรจุภัณฑ์ จำนวนตู้สินค้า ปริมาณที่นำเข้า พิจารณาความถูกต้องของคำขอใบรับรองสุขอนามัยพืช และตรวจสอบความถูกต้องของทะเบียนสวน หากพบเบาะแสหรือการกระทำผิดให้รายงานกรมทราบเพื่อดำเนินการต่อไปทันที